- รวมโปรโมชั่น
- เวชศาสตร์ฟื้นฟูทางสมอง
- การผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง
- การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
- แผนกอายุรกรรม
- แผนกเวชปฏิบัติทั่วไป
- แผนกสูตินรีเวช
- แผนกศัลยกรรมและฉุกเฉิน
- แผนกศัลยกรรมกระดูก
- แผนกเด็ก
- แผนกจักษุ
- แผนกหู-คอ-จมูก
- แผนกวิสัญญี
- แผนกรังสีวิทยา
- แผนกผิวหนังและศูนย์ความงาม
- แผนกจิตเวช
- แผนกทันตกรรม
- แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เมื่อเป็น..ตาปลา
วันจันทร์ที่ 27 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ตาปลาเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค จึงไม่ติดต่อถึงกัน และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเป็นตาปลาแล้วไม่รักษา อาจมีการอักเสบรุนแรงได้
สาเหตุของตาปลาที่พบได้บ่อย คือ การใส่รองเท้าคับแน่น ไม่เหมาะกับเท้า การเดินผิดท่าหรือลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้า หรือนิ้วเท้านานๆ จนเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็งๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา การยืนนานๆ เดินนานๆ หรือคนที่มีน้ำหนักเกินยิ่งทำให้เจ็บมากขึ้น
ผิวหนังส่วนที่เป็นตาปลาจะมีลักษณะด้านหนา หรือเป็นไตแข็ง ถ้าตาปลามีขนาดใหญ่จะทำให้เจ็บปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาใส่รองเท้า เมื่อเดินบ่อยๆ เข้า ก้อนแข็งนี้จะถูกกดลึกลงไปในผิวหนัง ทำให้รากฝังลึกลงไปมากยิ่งขึ้น เวลาเดินจะเจ็บมาก
1.ควรใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะกับรูปเท้า ใส่สบาย ไม่คับหรือบีบแน่นจนเกินไป และใช้ฟองน้ำ หรือแผ่นรองเท้ารองส่วนที่เป็นตาปลาไว้ เพื่อลดแรงกดและแรงเสียดสีที่เท้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งทำให้กระจายน้ำหนักตัวได้ไม่ทั่วฝ่าเท้า เกิดแรงกดมากบางจุด
2.ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก 40% ปิดส่วนที่เป็นตาปลาทิ้งไว้ 2-3 วัน แกะพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาทีหรือจนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะนิ่มตาปลาจะค่อยๆ ลอกหลุดไป ถ้าตาปลายังลอกหลุดไม่หมด ให้ทำซ้ำอีกจนกว่าตาปลาจะลอกหลุดหมด
3.ใช้ยากัดตาปลาหรือหูด ซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสม เช่น Collomack, Duofilm และ Free zone โดยก่อน ทายา ให้แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15-20 นาที แล้วใช้ผ้าขนหนูถูบริเวณตาปลา จะช่วยให้ผิวหนังที่เป็นขุยๆ หลุดออกไป จากนั้นทาวาสลินรอบๆ ผิวหนังบริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดบริเวณผิวหนังปกติ เสร็จแล้วจึง ทายาตรงจุดที่เป็นตาปลา ทาวันละ 1-2 ครั้ง ทำจนกว่าตาปลาจะค่อยๆ ลอกหลุดหมดไป
ข้อดีของการทายา คือ ราคาไม่แพง และหายแล้วไม่มีแผลเป็น ส่วนข้อเสีย คือ ถ้าไม่หมั่นทายา ก็จะไม่ หาย หรือถ้าทายามากไป อาจทำให้ผิวถลอกและมีการติดเชื้ออักเสบได้
4.การผ่าตัด
5.การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือใช้เลเซอร์
การผ่าตัด หรือการจี้ด้วยไฟฟ้าและเลเซอร์ ถึงแม้จะใช้เวลารวดเร็วกว่าการทายา แต่จะทำให้เป็นแผลเป็น และต้องคอยทำแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นเดือน นอกจากนี้ค่ารักษาจะแพงกว่าการทายา
นอกจากนี้ ยังมีวิธีธรรมชาติที่สามารถลองทำได้ แต่อาจไม่ได้ผลดีนัก เช่น ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็น แล้วแปะส่วนที่เหลือตรงตาปลา พันทับด้วยผ้าพันแผล ปล่อยไว้ข้ามคืน จึงค่อยแกะทิ้ง ทำซ้ำทุกคืน นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจใช้มะนาวสดหรือสับปะรดหั่นเป็นชิ้นบางๆ แทนได้ หรือใช้สำลีชุบน้ำส้มสายชูทาบริเวณตาปลาทุกวัน หรือนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูปิดรอยตาปลาแล้วใช้ผ้าพันไว้ ตาปลาจะอ่อนตัวลง แล้วถูเอาหนังที่เปื่อยออก วิธีที่เป็นอันตรายและไม่แนะนำ ก็คือ การใช้ธูปจี้ การใช้มีด หรือของมีคมเฉือนตาปลา เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็น หรืออาจทำให้แผลอักเสบติดเชื้อได้ ตาปลาที่เป็นไม่มาก มักจะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่ก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ และสามารถเป็นอีกได้ หากต้องการให้หายขาด ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุถ้ามีขนาดใหญ่ควรไปให้แพทย์ศัลยกรรมผ่าตัดหรือจี้ออกให้จะปลอดภัยกว่า
ข้อมูลจากทีมนำทางคลีนิคศัลยกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์