ยาชุดคืออะไร ?

ยาชุด หมายถึง ยาที่ผู้ขายจัดรวมไว้เป็นชุดให้กับผู้ซื้อ สำหรับกินครั้งละ 1 ชุด โดยมีรูปแบบและสีของยาต่างๆ กัน โดยไม่แยกว่าเป็นยาชนิดใด ควรจะกินเวลาไหน โดยทั่วไปมักจะมียาตั้งแต่ 3-5 เม็ดหรือมากกว่า ยาชุดในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก เช่น บรรจุแบบสำเร็จรูปโดยมีฉลากระบุสรรพคุณไว้ข้างซองยา ในลักษณะครอบจักรวาล ทำเป็นยาลูกกลอนเลียนแบบยาสมุนไพร หรือป่นเป็นผงรวมไปกับยาสมุนไพร

ตัวยาที่บรรจุอยู่ในยาชุดอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะมียาสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบและมักจะขายรวมกับยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ เช่น Ibuprofen เป็นต้น มีส่วนน้อยที่ประกอบด้วยยาต้านอักเสบเพียงอย่างเดียว โดยไม่ขายรวมกับสเตียรอยด์ และมีบางชุดได้บรรจุยาต้านอักเสบ 2 ชนิด รวมทั้งยาสเตียรอยด์เข้าไว้ด้วยกัน โดยหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้เป็นที่พอใจของผู้ซื้อ และน้อยมากที่ยาชุดประกอบด้วย ยาแก้ปวดธรรมดาหรือสมุนไพรที่ไม่อันตราย

ยาสเตียรอยด์

เป็นยาต้านการอักเสบที่ออกฤทธิ์แรงที่มีคุณอนันต์ทางการรักษาหลายกรณี   แต่ก็มีอันตราย  และผลเสียมหันต์จาการใช้สเตียรอยด์ผิดวัตถุประสงค์หรือใช้ติดต่อกันนานๆ คือ

1.กดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย

2. ระคายเคืองกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลหรือถึงขั้นทะลุได้

3. เกิดการสะสมของไขมันในอวัยวะบางส่วน ทำให้หน้ากลมผิดปกติ มีสิวเรียกว่า หน้าพระจันทร์ หรือ "Moon Face" และหลังเป็นหนอก

4. เกิดการคั่งของเกลือ มีอาการบวมเป็นอันตรายมากต่อผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

5. การใช้ยานี้นานๆ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ กระดูกผุ น้ำตาลในเลือดสูง

ประเภทของยาชุด

แบ่งตามการรักษาอาการเจ็บป่วยแต่ละคราวอาจจัดเป็น  2 ชนิด คือ

1. ยาชุดสด โดยผู้ขายจะซักถามจากอาการ และจัดยาเป็นชุดให้ผู้ซื้อ

2. ยาชุดแห้ง โดยผู้ขายจัดรวมยาชุดไว้ในซองพลาสติกเล็กๆ พิมพ์ฉลากบ่งบอกสรรพคุณไว้ โดยมักมีการโอ้อวดเกินความจริงเพื่อให้ขายได้มาก ชื่อที่ตั้งไว้จะเป็นชื่อที่ดึงดูดความสนใจ เช่น ยาชุดแก้หวัดเจ็บคอ   ยาชุดบำรุงประสาท และยาชุดแก้ขัดเบา เป็นต้น เนื่องจากผู้จัดยาชุดไม่มีความรู้เรื่องยาซองอย่างแท้จริง และมักจะมุ่งผลประโยชน์เป็นสำคัญ ผู้ใช้ยาชุดจึงมีโอกาสได้รับอันตรายจากยาสูงมาก

อันตรายจากการใช้ยาชุด

1. ได้รับตัวยาซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ใช้ได้รับยาเกินขนาดและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น ในยาชุดแก้ปวดเมื่อยชุดหนึ่งอาจมียาแก้ปวด   2-3 เม็ด ในรูปแบบต่างกัน ทำให้ผู้ใช้ได้รับพิษจากยาเพิ่มขึ้น

2. ได้รับยาเกินความจำเป็น เช่น ในยาชุดแก้หวัด จะมียาแก้ปวดลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาทำให้จมูกโล่ง ยาแก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งการรักษาโรคหวัดควรใช้ยาบรรเทาอาการเฉพาะที่เป็น เช่น ถ้าไม่ปวดหรือไม่เป็นไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดลดไข้

3. ในยาชุดมักใส่ยาที่มีอันตรายมากๆ ลงไปด้วย คือ ยาสเตียรอยด์ เพื่อให้อาการของโรคบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่สาเหตุของโรคยังคงอยู่ทำให้โรคเป็นหนักขึ้น รักษายากขึ้น ยาสเตียรอยด์จัดอยู่ในพวกยาควบคุมพิเศษ ควรใช้เฉพาะเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น อันตรายตามที่กล่าวข้างต้น

4. ในยาชุดมักมียาเสื่อมคุณภาพ หรือยาปลอมผสมอยู่ การเก็บรักษายาชุดในซองพลาสติกจะไม่สามารถกันความชื้น ความร้อนหรือแสงได้ดีเท่ากับที่อยู่ในขวดที่บริษัทเดิมผลิตมา ทำให้ยาเสื่อมหรือหมดอายุเร็วขึ้น

5. ผู้ใช้ยาชุดจะได้รับยาไม่ครบขนาดรักษา ที่พบบ่อย คือ ยาปฏิชีวนะซึ่งควรจะกินอย่างน้อย 3-5 วัน วันละ 2-4 ครั้ง แล้วแต่ชนิดของยา แต่ในยาชุดนี้ผู้ชื้อจะรับประทานเพียง 3-4 ชุด หรือวันละชุดทำให้ได้รับยาไม่ครบขนาดการรักษา ทำให้เชื้อโรค  เกิดการดื้อยา

6. อาจได้รับอันตรายจากยาบางชนิดที่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านกัน หรือเสริมฤทธิ์กัน

7. หากเกิดการแพ้ยา จะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าแพ้ยาตัวใด   หรือผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยา ก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าในยาชุดนั้น  มียาชื่ออะไร  มียาที่เคยแพ้ปนอยู่ด้วยหรือไม่

ยาลูกกลอนผสมสเตียรอยด์

ยาลูกกลอนคืออะไร 

ยาลูกกลอนเป็นยาที่ผลิตขึ้นโดยการเอาสมุนไพรหลายชนิดมาบดผสม และใช้น้ำหรือน้ำผึ้งเป็นตัวประสานปั้นเป็นก้อนกลมๆ จัดเป็นยาแผนโบราณ ที่ต้องขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า ต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อนจึงจะนำออกจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น

อันตรายของยาลูกกลอนคืออะไร

ปัจจุบันมีการลักลอบผลิตยาลูกกลอนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำการผลิตโดยขาดสุขลักษณะที่ดี และยังนำเอาตัวยาแผนปัจจุบันมาผสม โดยเฉพาะกลุ่มยาสเตียรอยด์ และนำมาบรรจุกระปุกพลาสติก หรือใส่ซองพลาสติกออกวางขายตามแผงลอยริมทางเดินหน้าวัดหรือที่ชุมชนอย่างไม่เหมาะสม และติดฉลากหรือโฆษณาว่าใช้รักษาเป็นยาครอบจักรวาล

เลือกซื้อยาลูกกลอนอย่างไรให้ปลอดภัย 

1. ซื้อยาที่มีทะเบียน โดยดูฉลากยาเป็นสำคัญ ทะเบียนยาแผนโบราณ จะระบุ "G..../....." เช่น G 185/2536 และมีรายละเอียดอื่นๆ ได้แก่ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต เลขที่ หรือครั้งที่ผลิต และปริมาณยาที่บรรจุ

2. หีบห่ออยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาดหรือเปียกชื้น

3. ซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น

4. ไม่ซื้อเพราะคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ หรือการอ้างถึงบุคคลที่ใช้แล้วได้ผล

 

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์