อาการไม่พึงประสงค์จากยา
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
อาการไม่พึงประสงค์จากยา...ความเสี่ยงที่ป้องกันได้
จากคำกล่าวที่ว่า “ยามีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์” สะท้อนให้เห็นถึงด้านดีของยา คือประโยชน์ของยาที่นำมาใช้รักษาโรค แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงโทษของยา ซึ่งเป็นที่มาของบทความ “อาการไม่พึงประสงค์จากยา...ความเสี่ยงที่ป้องกันได้” ซึ่งจะกล่าวเฉพาะในด้านที่มีโทษของยา จากนิยามของอาการไม่พึงประสงค์ของยาคือ อาการใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในขณะการรักษาแล้วเกิดผลหรืออาการที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1) ผลข้างเคียง และ 2) แพ้ยา
- ผลข้างเคียง คือ อาการที่เกิอดขึ้นหากใช้ยาดังกล่าวในขนาดยาที่สูงมากขึ้น อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงขึ้นตามขนาดยาที่ใช้ เช้น ผุ้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดในขนาดที่สูงเกินไป มีความเสี่ยงเกิดเลือดออกง่ายขึ้น
- อาการแพ้ยา คือ ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อยาอย่างผิดปรกติที่ไม่สามารถทำนายได้ ซึ่งเกิดจากการได้รับยาชนิดนั้น หรือได้รับสารที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้านคลึงกับชนิดยานั้นมาก่อน ลัวไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ หากร่างกายได้รับยาเดิมซ้ำอีกครั้งจะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น แม้ได้รับในขนาดยาเพียงเล็กน้อยตัวอย่างเช่น ผื่นคันเล็กน้อย จนถึงผื่นลอก ไหม้ตามร่างกายอย่างรุนแรง อาการบวมตามร่างกาย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตต่ำ กระทั่งรุนแรงจนมีผลต่อชีวิต ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น ควรหยุดยาที่สงสัยและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที
การแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
ในกรณีที่อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง หรือไม่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจจะใช้ยาดังกล่าวต่อไปได้ อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยาเองควรทราบข้อมูลที่คำคัญของอาการข้างเคียงของยาที่ใช้ด้วย เช่น การรับประทานยาแก้แพ้อากาศหรือยาลดน้ำมูกบางชนิด อาจจะทำให้ง่วงนอน ดังนั้น ต้องระมัดระวังไม่ไปขับรถหรือทำงานที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกล เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ การรับประทานยาต้านจุลชีบางชนิดอาจทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี การรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กทำให้อุจจาระมีสีดำ ซึ่งผู้ป่วยเองควรทราบข้อมูลดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตกใจกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะใช้ยา และกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโรคที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่นผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ถ้าได้รับยาแอสไพรินหรือยากลุ่มซัลฟา ก็อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ปัสสาวะมีสีคล้ำเหมือนสีชาหรือสีโค้ก ก็ต้องหยุดยาและไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน
การป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจจะมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย
- แจ้งข้อมูลการแพ้ยาของท่านแก่แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลทุกครั้ง ถึงแม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จะไม่ได้ซักถามข้อมูลแพ้ยาก็ตาม
- แจ้งข้อมูลหากท่านมีโรคประจำตัว หรือมีโรคทางพันธุกรรม แก่แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลทุกครั้ง
- เมื่อได้รับยาควรสอบถามทุกครั้งว่ามีข้อควรระวังในการรับประทานยาดังกล่าวอย่างไรบ้าง และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้นๆ
- ขณะใช้ยาอาจสงสัยว่าอาจจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ควรหยุดยาแล้วรับปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาจะต้องจดชื่อยานั้นๆ ในบัตรที่สามารถแสดงแก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้สะดวกเมื่อมาพบแพทย์ และควรแจ้งให้ญาติได้รับทราบข้อมูลการแพ้ยาดังกล่าวด้วย
- ไม่ควรรับประทานยาชุด เนื่องจากจะไม่มีทางทราบเลยว่ายาชุดดังกล่าวประกอบไปด้วยยาอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก
- ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินผลการใช้ยา และหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ จะได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที รวมถึงผู้ป่วยเองก็อาจจะต้องสังเกตอาการผิดปรกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาด้วย
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
1.ผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการทำงานของตับและไตลดลงตามสภาพการใช้งาน
2.เด็ก เนื่องจากการทำงานของตับและไตของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่
3.ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิต้านทานในร่างกาย มีการสร้างสารก่อภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
4.ผู้ที่มีความผิดปรกติทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่นในผุ้ป่วยที่มีภาวะพร่อเอนไซม์ G6PD ถ้าได้รับยากลุ่มซัลฟา คลอแรมเฟนอคอล ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
5.ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง
6.ยาบางตัวอาจจะช่วยเสริมฤทธิ์ของผลข้างเคียงให้มากขึ้นได้ เช่น การรับประทานยาแก้ภูมิแพ้หรือยาลดน้ำมูกร่วมกับยาคลายกังวลอาจจะเพิ่มระดับการง่วงนอนให้มากขึ้นได้
7.ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายโรค หรือเกิดอาการความเจ็บป่วยหลายอาการพร้อมกัน เช่น ผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
จากการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบางอย่างสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้ เพียงแต่เราเพิ่มความระมัดระวังและใส่ใจในข้อมูลของยาที่ได้รับมากขึ้น
จะเห็นว่ายามีทั้งคุณและโทษ ดังนั้น หากมีปัญหาเรื่องยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และก่อนใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัว ชื่อยาที่รับประทานเป็นประจำ หรือมีประวัติแพทย์ยาชื่ออะไร เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและคนที่คุณรัก