ปัสสาวะเป็นเลือด คือ การที่มีเม็ดเลือดแดงปนออกมากับปัสสาวะ แบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดแรก คือ ปัสสาวะเป็นเลือดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ป่วยจะเห็นสีปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดง ชมพู หรือสีโค้ก ส่วนชนิดที่สองคือ ปัสสาวะเป็นเลือดที่เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งผู้ป่วยจะเห็นปัสสาวะเป็นสีใสเหมือนปกติ ทั้งสองกรณีจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไป

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ ปัสสาวะเปลี่ยนสี ส่วนมากมักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย สีที่เปลี่ยนอาจเป็นสีแดง สีชมพู สีเข้มเหมือนน้ำปลาหรือน้ำโค้ก สีที่เปลี่ยนเกิดจากการที่มีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในปัสสาวะ การที่เห็นปัสสาวะเป็นสีแดงไม่ได้หมายความว่ามีเลือดออกเป็นจำนวนมาก เพราะปริมาณเม็ดเลือดแดงเพียงเล็กน้อยก็สามารถเปลี่ยนสีปัสสาวะให้ผิดปกติได้

ปัสสาวะที่มีสีแดงไม่จำเป็นต้องเกิดจากภาวะเลือดออกในทางเดินปัสสาวะเสมอไป สีในอาหารจำนวนมากโดยเฉพาะสีผสมอาหาร รวมทั้งสีย้อมผ้าที่ถูกพ่อค้าแม่ค้านำไปผสมอาหาร จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ คนที่กินอาหารหรือขนมผสมสีแดงเข้าไปมากๆ จะปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเช่นเดียวกัน แต่สีแดงเหล่านี้ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามันไม่ใช่สีเลือด อาจจะเป็นสีแดงแสด แดงส้ม   หรือแดงอื่นๆ ยาบางชนิดก็ผสมสีไว้เหมือนกัน ถ้ากินเข้าไปแล้วก็จะทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดงได้ ดังนั้น ถ้ากินยาหรืออาหารและขนมที่มีสีแดงแล้วปัสสาวะเป็นสีแดงก็อย่าวิตกกังวลอะไร หยุดยาและอาหารหรือขนมนั้นและอาการปัสสาวะสีแดงมักจะหายไปภายในเวลา 1-3 วัน

สาเหตุ
ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นอาการเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ ตั้งแต่เนื้อไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และท่อปัสสาวะ เลือดที่ออกมากับปัสสาวะมีได้หลายลักษณะ ที่พบบ่อย คือ
1. เลือดสีแดงสด หรือสีแดงคล้ำ : ถ้าออกมาในลักษณะ
1.1  หยดเลือดในขณะที่เริ่มถ่ายปัสสาวะ หรือมีเลือดไหลซึมออกมาทางรูเปิดของท่อปัสสาวะ (รูปัสสาวะ) แสดงว่าท่อปัสสาวะเป็นแผล หรือมีการฉีกขาด ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ท่อปัสสาวะฉีกขาด เช่น หกล้มก้นกระแทก บริเวณฝีเย็บกระแทกกับท่อนไม้หรือก้อนหิน ทำให้ท่อปัสสาวะฉีกขาด มักมีอาการเจ็บปวดอย่างมากโดยเฉพาะเวลาถ่ายปัสสาวะ ควรจะรีบไปโรงพยาบาลทันที   ส่วนน้อยอาจเกิดจากการติดเชื้อในบริเวณท่อปัสสาวะ ในกรณีนี้ มักมีหนองหรือน้ำเหลืองไหลออกมาเปรอะกางเกงในด้วย ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูว่าเป็นเลือดปนหนองจากเชื้ออะไร จะได้ใช้ยาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้
1.2  เลือดออกในขณะเริ่มปัสสาวะ แต่ในช่องกลางและช่วงสุดท้ายของการถ่ายปัสสาวะจะไม่มีเลือดออก (น้ำปัสสาวะในช่วงหลังจะไม่มีเลือด และไม่มีสีแดง) มักเกิดจากสาเหตุเช่นเดียวกับข้อ (1.1) ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุให้แน่นอน จะได้รักษาให้ถูกต้องและตรงกับสาเหตุ
1.3  เลือดออกในช่วงสุดท้ายของการถ่ายปัสสาวะ : ในช่วงเริ่มถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะจะมีสีปกติ แต่พอถ่ายจวนจะสุดหรือสุดแล้ว มีเลือดไหลออกมาหรือปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดง มักเกิดจากภาวะเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักเกิดจากนิ่วหรือเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบมาก

ถ้าเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะมีอาการปวดท้องน้อย หรือในบริเวณหัวหน่าว โดยเฉพาะในเวลาปัสสาวะ หรือในขณะที่ปัสสาวะสุด อาจจะมีไข้  ตัวร้อน  ร่วมด้วย และเมื่อตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดขาวมากกว่าเม็ดเลือดแดงโดยเฉพาะถ้าเก็บปัสสาวะในส่วนกลาง

ถ้าเกิดจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มักมีอาการปัสสาวะสะดุดเป็นครั้งคราวมาก่อน อาจมีอาการปัสสาวะไม่ออก และปวดปัสสาวะมาก ปัสสาวะอาจจะมีกรวดทรายหรือเม็ดนิ่วเล็กๆ หลุดออกมาก มักจะมีการติดเชื้อ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย ถ้าตรวจปัสสาวะนอกจากจะพบเม็ดเลือดแดงแล้ว อาจพบเม็ดเลือดขาว และผลึกหรือตะกอนของส่วนประกอบของนิ่วได้ การเอกซเรย์ จะทำให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

ถ้าเกิดจากเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ มักไม่มีอาการปวดท้องหรืออาการปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะลำบาก นอกจากกรณีที่เลือดออกมากๆ จนเกิดเป็นลิ่มเลือดในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้ เนื่องจากภาวะเลือดออกในปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นภาวะร้ายแรงจึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาล
1.4 เลือดออกตลอดระยะการถ่ายปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นสีแดงเท่ากันตลอดตั้งแต่เริ่มถ่ายปัสสาวะจนกระทั่งถ่ายสุด มักเกิดจากภาวะเลือดออกในไตหรือกรวยไต แต่บางครั้งอาจเกิดจากภาวะเลือดออกมากๆ ในกระเพาะปัสสาวะด้วยก็ได้ ภาวะเลือดออกในไตหรือกรวยไต มักเกิดจากการอักเสบอย่างรุนแรงของเนื้อไตหรือกรวยไต และ/หรือเกิดจากนิ่วและเนื้องอกในไตหรือกรวยไตก็ได้
ถ้าปัสสาวะเป็นสีเลือดเท่ากันตลอดตั้งแต่เริ่มถ่ายปัสสาวะจนกระทั่งถ่ายสุด ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล เพราะจะต้องเอกซเรย์ดูไตและกรวยไต และให้การรักษาตามสาเหตุต่อไป

2. ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ คือ ปัสสาวะที่มีเลือดผสมอยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จะมีสีแดงเรื่อๆ สีมักจะเหมือนกันตั้งแต่เริ่มถ่ายจนถ่ายสุด และถ้าตั้งทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมงอาจเห็นตะกอนสีแดงๆ (เม็ดเลือดแดง) นอนก้น (อยู่ที่ก้นขวด) ได้ มักเกิดจากเนื้อไตอักเสบ ทำให้มีอาการบวมหน้า บวมเท้า ความดันเลือดสูง หรืออื่นๆ ร่วมด้วย ควรนำปัสสาวะไปตรวจให้รู้ว่าเป็นโรคไตอักเสบชนิดใด จะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องได้ ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อที่สีเข้ม ตอนเริ่มปัสสาวะจะมีสาเหตุเช่นเดียวกับข้อ (1.1) และ (1.2) และ ถ้าสีเข้มตอนปัสสาวะสุดจะมีสาเหตุเช่นเดียวกับข้อ (1.3) แต่ไม่พบบ่อยนัก

3. ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลดำ คือ ปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแล้วมีสีเหมือนน้ำโคล่า มักเกิดจากสารสีของเม็ดเลือดแดง (hemoglobin) หรือ สารสีของกล้ามเนื้อลาย (myoglobin) ก็ได้ โดยทั่วไปไม่ได้เกิดจากภาวะเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ แต่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง หรือของกล้ามเนื้อลายในร่างกาย ทำให้สารสีดังกล่าวถูกแปรสภาพและขับถ่ายออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลดำดังกล่าว ควรนำปัสสาวะไปตรวจที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน

การเล่นกีฬา การเดิน วิ่งทางไกล เป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน ในบุคคลที่มีความไม่สมดุลในสุขภาพบางประการ เนื้อเยื่อไม่แข็งแรง นักมวยไทยมีโอกาสเกิดเลือดออกได้บ่อยเพราะโดนทั้งศอก ทั้งเข่า หากไปกระทบบริเวณสีข้างที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของไต หรือโดนกระทบที่บริเวณท้องน้อย ซึ่งกระเพาะปัสสาวะอยู่ลึกลงไป ก็ทำให้มีเลือดออกได้

การตรวจวินิจฉัย
• การซักประวัติ
• ยาที่รับประทานทุกชนิด รวมทั้งวิตามิน และยาบำรุงต่างๆ
• ขณะปัสสาวะมีอาการปวด แสบขับหรือไม่ เคยมีอาการมาก่อนหรือไม่
• ปัสสาวะเป็นเลือดช่วงไหนของการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นสีแดงตลอดการปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นสีแดงเฉพาะช่วงท้าย หรือช่วงเริ่มต้นของการปัสสาวะ เป็นต้น
• ลักษณะปัสสาวะ มีลิ่มเลือดปนหรือไม่ ลักษณะเป็นอย่างไร
• สูบบุหรี่หรือไม่
• เคยได้รับการการฉายรังสี รักษาโรค มาก่อนหรือไม่
• ลักษณะงาน มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีหรือไม่

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
โดยปกติจะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์ การเอกซเรย์ไต การอัลตร้าซาวด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระบบทางเดินปัสสาวะ การฉีดสี (Intravenous pyelogram) และการส่องกล้อง (cystoscope) การฉีดสีเป็นการ x-ray เพื่อดูไต ท่อไต โดยการฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดเพื่อเห็นทางเดินปัสสาวะ บางครั้งคนไข้อาจมีอาการแพ้สารทึบแสงทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นการอัลตราซาวด์แทน
การส่องกล้องจะทำให้แพทย์สามารถเห็นกระเพาะปัสสาวะได้โดยตรง โดยคนไข้จะยังรู้สึกตัวอยู่ขณะส่องกล้อง วิธีการคือให้คนไข้ขึ้นขาหยั่ง ให้ยาชา และทำการส่องกล้องผ่านเข้าไปทางช่องปัสสาวะเพื่อตรวจดูกระเพาะปัสสาวะ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
สังเกตเห็นปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษาปัสสาวะเป็นเลือดขึ้นกับสาเหตุ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ, นิ่วในไตมีการรักษาหลายวิธีเช่นการผ่าตัด การกินยา การสลายนิ่ว (ESWL) เป็นต้น การสูญเสียเลือดทางปัสสาวะมักเสียเป็นปริมาณน้อย ไม่ทำให้เกิดปัญหา สำหรับผู้ป่วยตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ให้ติดตามเป็นระยะต่อไป