หน้าแรก > ข่าวและกิจกรรม > Images > Stories > News > Kid > บริการทางการแพทย์ > ศัลยกรรมกระดูก > โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน
วันอังคารที่ 27 กันยายน 2554 เวลา 17:22 น.
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่เนื้อกระดูกของร่างกายลดลงอย่างมาก โครงสร้างของกระดูกที่เคยหนาแน่นประสานกันเป็นโยงใยรับน้ำหนักได้ดี ก็จะโปร่งบางไม่มีการติดต่อประสานกัน จึงทำให้กระดูกรับน้ำหนักได้ไม่ดีและเปราะ หักได้ง่ายถึงแม้จะมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เราเรียกภาวะการณ์นี้ว่า โรคกระดูกพรุน หรือโรคกระดูกโปร่งบาง เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกินกว่า 40 ปี วัยและปัจจัยอื่นๆ จะมีผลทำให้กระบวนการสร้างกระดูกไม่สามารถไล่ทันกระบวนการสลายกระดูกได้ จึงมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปทุกๆวงจรของการสร้างและการสลายกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกลดลงจนกระดูกบาง
ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากว่าผู้ชาย เนื่องจากเนื้อกระดูกของหญิงมีน้อยกว่าชาย นอกจากนี้เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการขาดฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน ทำให้เซลล์สลายกระดูกทำงานในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในคนสูงอายุ การทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเริ่มเสื่อมลง ไม่ว่าจะเป็นการดูดซึมของทางเดินอาหาร การทำงานของตับและไต ทำให้การเปลี่ยนวิตามินดีตามธรรมชาติให้เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ได้จึงบกพร่องหรือลดน้อยลง เป็นเหตุให้การดูดซึมของแคลเซี่ยมลดลงมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงเกิดการดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้ ทำให้มีการสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมากขึ้นเรื่อยๆ กระดูกจะบางลงจนเปราะหักได้ง่าย ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อยเป็นระยะเวลานานๆก็จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย มีการศึกษาพบว่าคนไทยมีการรับประทานแคลเซี่ยม โดยเฉลี่ยเพียงวันละ 361 มก./วัน ซึ่งน้อยกว่า ปริมาณที่ควรได้รับ คนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุน ได้มากขึ้น เพราะเซลล์สลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เละเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสตีรอยด์ จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารโปรตีน (เช่นเนื้อสัตว์) มากเกินไป หรือรับประทาน อาหารที่เค็มจัด จะทำให้มีการขับถ่ายของแคลเซี่ยมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับประทาน อาหารที่มีไฟเบอร์ ( กาก) มากเกินไป จะทำให้การดูดซึมของแคลเซี่ยมจากลำไส้ลดลง เป็นผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
อาการของโรคกระดูกพรุน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง ให้เห็น แต่เมื่อเริ่มมีอาการเกิดขึ้นแสดงว่าโรคกระดูกพรุนนั้นได้เป็นมากแล้ว ซึ่งอาการสำคัญคือ ปวดตามกระดูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และอาจมีอาการปวดตามข้อร่วมด้วย ต่อมาความสูงของลำตัวจะค่อยๆลดลง และหลังจะโก่งค่อม เนื่องจาก กระดูกสันหลังยุบตัวลง เมื่อหลังโก่งค่อมมากๆ นอกจากจะทำให้ปวดหลังมากและเคลื่อนไหวลำบากแล้ว ยังรบกวนต่อระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้ท้องอืดเฟ้อและท้องผูกเป็นประจำ โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของโรคกระดูกพรุนคือ กระดูกหัก แม้จะมีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เช่น หกล้ม ตำแหน่งที่พบกระดูกหักบ่อยๆ คือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือ
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ปัจจุบันแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้โดยที่ไม่ต้องรอให้กระดูกหักเสียก่อนด้วยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยการใช้เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก การตรวจนี้เป็นการตรวจโดยใช้แสงเอกซเรย์ที่มีปริมาณน้อยมากส่องตามจุดต่างๆ ที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์คำนวณหาค่าความหนาแน่นของกระดูกบริเวณต่างๆเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน ทำให้ทราบว่าในขณะนี้ร่างกายมีปริมาณมวลกระดูกเท่าใดและทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ตั้งแต่ระยะแรก
*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น
|
การรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน การรักษาโรคกระดูกพรุนประกอบด้วยการบริโภคแคลเซียมให้เพียงพอ การให้ยาเพื่อลดการสลายกระดูก การป้องกันไม่ให้กระดูกหัก การลดอาการปวด การแก้ไขอาการทุพพลภาพ และการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ทำกิจวัตรประจำวันได้เองพึ่งพาผู้อื่นลดลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การบริโภคแคลเซียมให้เพียงพอเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาโรคกระดูกพรุนเนื่องจากการรักษาด้วยยาจะไม่ได้ผลถ้าผู้ป่วยขาดแคลเซียม ทั้งนี้ อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่นม และ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต และไอศกรีม กุ้งฝอย ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่รับประทานพร้อมกระดูก ผักใบเขียวชนิดต่างๆ และเต้าหู้เป็นต้น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานแคลเซียมจากอาหารได้เพียงพอควรรับประทานยาเม็ดแคลเซียมเสริม การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน ผู้ที่มีเนื้อกระดูกมากตั้งแต่แรก จะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้น้อยกว่า ผู้ที่มีเนื้อกระดูกน้อย ดังนั้นการสะสมเนื้อกระดูกของร่างกายให้มีมากที่สุดตั้งแต่ วัยหนุ่มสาวจึงเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ควรให้ความสนใจในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุน ด้วยการปฏิบัติตนดังต่อไปนี้ 1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ 2. รับประทาน อาหารที่อุดมด้วยธาตุแคลเซี่ยม ผู้ป่วยควรได้รับแคลเซียม 1200 – 1500 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยเลือกทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม (นม 1 แก้ว จะให้แคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัม) ผลิตภัณฑ์นม แคลเซียมจากนมถูกดูดซึมได้ดี ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่กล้าดื่มนมเพราะกลัวไขมันในเลือดสูง ก็สามารถเลือกดื่มนมชนิดพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยได้ เด็กและวัยรุ่นควรบริโภคนมวันละ 2-3 แก้ว ส่วนผู้ใหญ่วันละ 1-2 แก้ว จะได้รับแคลเซียมประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ แล้วบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น ปลา กุ้งแห้ง เต้าหู้ และผักใบเขียวที่อยู่ในตระกูลผักกาด เช่น ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง เป็นต้น 3. ออกกำลังกายที่เหมาะสมในระยะเวลาพอสมควรเป็นประจำ การออกกำลังที่มีการลงน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลกระตุ้นการสร้างกระดูก ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทรงตัวได้ดีขึ้น อันเป็นการป้องกัน การหกล้มได้ ดังนั้นการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยการเดิน ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งก็เพียงพอแล้ว 4. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ชา กาแฟ 5. ไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป ไม่รับประทานอาหาร เค็มจัด หลีกเลี่ยงการใช้ยาพวกสเตียรอยด์ 6. ระวังไม่ให้หกล้ม |
ปัจจัยเสี่ยงและอาการของโรคกระดูกพรุน 1.ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป 2.ผู้หญิงหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี 3.มีประวัติกระดูกหัก จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย 4.ได้รับยาสเตียรอยด์นานกว่า 3 เดือน 5.ส่วนสูงลดลงจากเดิม มากกว่า 3 ซม. 6.ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน 7.สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน 8.ผู้หญิงผอมที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กก./ตร.ม. 9.มีปัญหาท้องเดินหรือท้องร่วงเป็นประจำ 10.ปวดตามกระดูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก หากมีปัจจัยเสี่ยงและอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านอาจมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคกระดูกพรุน โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตรวจรักษาภาวะกระดูกพรุนได้ โรงพยาบาลมีเครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก(Bone Density Scan) เกณฑ์การวินิจฉัย “โรคกระดูกพรุน”
S.D. คือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าเฉลี่ยของค่ามวลกระดูกของคนปกติอายุระหว่าง 25-35 ปี |