ยาครัวเรือน”..เตือนตัวเรา..เอาใจใส่ หรือ ครัวเรือน..ครัวเรา..เอาใจใส่ “ยา” 

การเก็บยาครัวเรือน ทั้งยาโรคเรื้อรังและยาสามัญประจำบ้านอย่างเหมาะสม มีการตรวจอายุยา-สภาพยา ให้พร้อมใช้สร้างความปลอดภัยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว

การเก็บรักษายา

1.ยาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บที่อุณหภูมิห้อง(ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส บางชนิดระบุไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) บริเวณที่ไม่ร้อนและไม่ถูกแสงแดดส่อง ห้ามเก็บไว้ในรถยนต์

2.เก็บยาในสถานที่ ที่เด็กหยิบไม่ถึง

3.ไม่ควรเก็บยาภายนอกประเภทยาอันตราย จำพวกยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ทิงเจอร์ใส่แผล แอลกอฮอล์ล้างแผล ไว้ในที่สูง เพราะอาจหล่นใส่เป็นอันตรายได้

4.ยาที่ระบุ “จัดเก็บในตู้เย็น” ให้เก็บในตู้เย็นช่องแช่เย็นปกติ ไม่ควรเก็บในชั้นช่องแช่แข็งหรือที่ฝาประตูตู้เย็น เพราะความเย็นไม่เหมาะสมยาอาจเสียหรือเสื่อมสภาพได้

5.ยาที่ต้องป้องกันแสง ให้เก็บในซอง หรือภาชนะสีชา หรือภาชนะทึบแสง

6.ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้น ควรใส่สารกันชื้นไว้ตลอดเวลา และปิดภาชนะบรรจุให้แน่น

7.ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิม เช่น ในขวด ในแผงฟอล์ย เพราะที่แผงยามีชื่อยา วันผลิต วันหมดอายุและเลขที่ผลิต ทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาหรืออายุยาได้

 

การพิจารณาอายุยา 

1.อายุยา ปกติดูได้จากฉลากยา และภาชนะบรรจุยา

2.ยาเม็ด ที่ยังไม่เปิดใช้ :เก็บได้ตามอายุยาที่ระบุถ้าเก็บรักษาอย่างถูกต้อง โดยพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบ เช่น สี การกร่อน

แต่ถ้าเปิดใช้แล้ว : เก็บได้เพียง 1 ปี หรือตามกำหนด วันหมดอายุที่ฉลาก ขึ้นกับว่าวันใดถึงก่อน

3.ยาน้ำ เมื่อเปิดใช้แล้ว เก็บได้ไม่เกิน 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุที่ลาก ขึ้นกับว่าวันใดถึงก่อน และต้องพิจารณาลักษณะยาประกอบด้วย เช่น กลิ่น สี รส ตะกอน

4.ยาน้ำแก้อักเสบ ยาฆ่าเชิ้อ (ปฏิชีวนะ) ชนิดผงแห้ง เมื่อผสมน้ำแล้ว ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องแช่ธรรมดา มีอายุ 7-14 วัน (ดูที่ฉลากยาแต่ละชนิด)

5.ยาใช้ภายนอก หลังจากเปิดใช้ มีอายุ 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุที่ฉลาก ขึ้นกับว่าวันใดมาถึงก่อน บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น(ดูที่ฉลากยา)

6.ยาครีมหรือเจลทาภายนอก เช่น ยาทาแก้ปวดควรดูว่ามีการเสื่อมสภาพ ก่อนวันหมดอายุที่ข้างหลอดหรือไม่ ควรบีบยาส่วนที่สัมผัสอากาศทิ้งเล็กน้อยก่อนใช้

7.ยาหยอดตา ยาป้ายตา หลังจากเปิดใช้ มีอายุ 1 เดือน เพื่อป้องกันยาปนเปื้อนเชื้อโรค บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น (ดูที่ฉลาก)

Home_med_

การตรวจสอบ ดูอายุยา 

 1.ดูที่ฉลากยา มีคำที่ระบุ “วันหมดอายุ” หรือ “กำหนดวันที่ควรใช้” เช่น                                                

Exp.Date…………..

Expiry Date…………

Used  by……………

Used before…………

ใช้ก่อน......................

วันหมดอายุ................

เช่น Exp. 31/12/2012  หมายถึงยาหมดอายุ วันที่ 31 ธันวาคม ปี คศ.2012 (พ.ศ. 2555)

หมายเหตุ : หากบนฉลากระบุวันหมดอายุเฉพาะ เดือน กับ ปี โดยไม่ระบุ วันที่ ให้ยึดวันที่สุดท้ายของเดือน เช่น Exp.12/2012 หมายถึงยาหมดอายุ วันที่ 31 ธันวาคม คศ.2012 (พ.ศ.2555)

หากท่านไม่มั่นใจในหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยา สามารถปรึกษา หรือนำยามาให้เภสัชกรตรวจสอบได้ที่ :- ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก 2 วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 13.30-16.00 น. พร้อมรับกล่องแบ่งมื้อยาฟรี

ยาที่บอกแต่วันผลิต “จะหมดอายุ”เมื่อไหร่ พิจารณาได้ ดังนี้

-ยาเม็ด : มีอายุ 5 ปี  นับจากวันผลิต

-ยาฉีด : มีอายุ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต

-ยาน้ำรับประทาน : มีอายุ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต

-ยาภายนอก : มีอายุ 5 ปี นับจากวันผลิต

เช่น ยาน้ำระบุ  Mfg.   1/1/2011 หมายถึงผลิตวันที่ 1 มกราคม คศ.2011(พ.ศ.2554)

ดังนั้น วันหมดอายุ คือ 1 มกราคม พ.ศ.2557

การตรวจสอบ ยาเสื่อมสภาพ 

การเก็บรักษายา มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่ออายุของยา เช่น แสง ความร้อน ความชื้น ทำให้ยาหมดอายุ หรือ เสื่อมสภาพก่อนเวลาที่สมควร ทำให้ต้องทิ้งยานั้นไป

ลักษณะยาที่เสื่อสภาพ

ยาเม็ด

มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ สีเปลี่ยนหรือซีดจาง เม็ดยาบวม มีรอยด่าง

ยาเม็ดเคลือบ

มีลักษณะเยิ้มเหนียว

ยาเม็ดแคปซูล

มีลักษณะบวม โป่งพอง ผงยาภายนอกอาจจับกันเป็นก้อน เปลี่ยนสี หรือ อาจมีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแคปซูล

ยาน้ำเชื่อม

มีลักษณะขุ่น เกิดตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเหม็นเปรี้ยว

ยาน้ำแขวนตะกอน ยาน้ำอีมัลชั่น

>มีลักษณะเขย่าแล้วไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ตกตะกอน

ยาครีม

มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นหืน

ยาหยอดตา

เปลี่ยนจากน้ำใสๆเป็นน้ำขุ่น (ยกเว้นยาบางชนิดที่เป็นยาแขวนตะกอน)หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ

 

ข้อมูลจาก เภสัชกรหญิง พัทธ์๊รา ทิพย์อัครพิชา ผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรม