โรคความดันโลหิตสูง

เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด การตรวจวัดความดันโลหิตจะได้ผลออกมา 2 ตัวเลขด้วยกัน เช่น 120/80 mmHg หมายถึง  ระดับความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวเท่ากับ 120 mmHg และระดับความดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัวเท่ากับ 80 mmHg โดยผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) จะหมายถึง ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตมากกว่า  หรือเท่ากับ140/90 mmHg ซึ่งจะเป็นค่าบนหรือค่าล่างก็ได้

เมื่อผู้ป่วยวัดความดันโลหิตแล้วพบว่าไม่สูงมากอาจจะไม่จำเป็นต้องรับประทานยา  แต่หากสูงมากก็จำเป็นต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

เหตุใดผู้ป่วยต้องมีความรู้เรื่องยารักษาโรคความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยต้องมีความรู้เรื่องยารักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ตนเองรับประทานอยู่ เพราะยานอกจากจะสามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้แล้ว ยายังอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งแตกต่างกันไปในยาแต่ละตัวยา หากผู้ป่วยทราบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาก็จะสามารถสังเกตและเฝ้าระวังตัวเองได้ และการรับประทานยาอย่างถูกต้องถูกวิธีก็จะส่งผลดีในการรักษาโรคของผู้ป่วยเอง

ยาลดความดันโลหิตแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่  ซึ่งจากยากลุ่มต่างๆ นี้ แพทย์จะเลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีข้อที่ควรทราบดังนี้

1.ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)

เช่น   Hydrochlorothiazide (HCTZ), Furosemide ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรเลือดในหลอดเลือดลดลง ความดันโลหิตจึงลดลง

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

- ปัสสาวะบ่อย  เนื่องจากยามีฤทธิ์ขับปัสสาวะขนาดยาโดยทั่วไปรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า    ผู้ป่วยบางราย จำเป็นต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ในกรณีหลังนี้ให้รับประทานยาหลังอาหารเช้าและเที่ยง ห้ามรับประทานยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืน และต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตลอดคืน

- อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ    มีอาการอ่อนเพลีย, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เป็นตะคริว เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถเสริมโพแทสเซียมได้จากอาหาร เช่น ผลไม้ประเภทกล้วย ส้ม แคนตาลูป หรือผัก เช่น บรอคโคลี มะเขือเทศ เป็นต้น

2. ยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors)

เช่น  Captopril , Enalapril , Perindopril, Ramipril ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวอร์ติ้ง (angiotensin converting enzymes) ออกฤทธิ์ด้วยกลไกหลายอย่าง เช่น ขยายหลอดเลือด, ขับโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย เป็นต้น จึงส่งผลโดยรวมทำให้สามารถลดความดันโลหิตได้ 

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

- อาการไอแห้งๆ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และไม่ใช่อาการแพ้ยา  สามารถบรรเทาได้ด้วยการจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้เอง แต่ในกรณีที่อาการเป็นมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยาเป็นยากลุ่มแองจิโอเทนซินรีเซบเตอร์บล็อกเกอร์ (angiotensin receptor blockers (ARB)) เช่น Losartan ซึ่งลดความดันโลหิตได้ในทำนองเดียวกับยากลุ่ม ACE inhibitors แต่ อาการข้างเคียงเรื่องการไอได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนยาหรือหยุดยาด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยาให้

- เกิดผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งพบได้บ่อย

- โพแตสเซียมในเลือดอาจจะสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไตทำงานไม่ดี ดังนั้นผู้ที่ใช้ยานี้ควรควบคุมการรับประทานอาหารที่มีโพแตสเซียมสูง เช่น ผลไม้ประเภทกล้วย ส้ม แคนตาลูป หรือผัก เช่น บรอคโคลี มะเขือเทศ เป็นต้น

เมื่อใช้ยากลุ่มนี้จะต้องระวังการใช้ยาชนิดไหน

  • ยาขับปัสสาวะที่ทำให้เกลือโปแทสเซียมสูงขึ้น เช่น Spironolactone, Amiloride + HCTZ เป็นต้น 
  • ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID เช่น Diclofenac, Piroxicam, Indomethacin เพราะอาจจะทำให้ผลการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยลดลง
  • ผู้ที่เป็นโรคจิตและได้ยากลุ่ม Lithium จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงของ lithium เพิ่ม

ข้อห้ามใช้

  • หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งครรภ์ในเดือนที่ 4-9
  • เมื่อเกิดผื่นจากการใช้ยา
  • ผู้ที่มีโพแตสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalaemia)
  • ผู้ป่วยที่พบว่ามีเส้นเลือดแดงที่ไตตีบทั้งสองข้าง (Bilateral renal artery stenosis)

3. ยากลุ่มแองจิโอเทนซินรีเซบเตอร์บล็อกเกอร์ (angiotensin receptor blockers (ARB)) เช่น  Candesartan ,  Losartan , Valsatan ออกฤทธิ์ลดความดัน และมีอาการข้างเคียงจากยาคล้ายยากลุ่ม ACE inhibitors แต่ทำให้เกิดอาการไอน้อยกว่า

4. ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) เช่น   Atenolol ,  Metoprolol,  Propranolol ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตและชีพจรลดลง

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

- ผู้ป่วยจะมีอาการเย็นตามปลายมือปลายเท้า

- อาจทำให้เกิดอาการฝันร้าย, ซึมเศร้า, อ่อนเพลีย

- อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง

- อาจทำให้หลอดลมหดเกร็ง

* หากมีอาการข้างเคียงดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร

ข้อควรระวังจากการใช้ยา

  • ผู้ที่มีภาวะหอบหืด (Asthma) หรือ หลอดลมอุดกลั้นเรื้อรัง (COPD) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยากลุ่มนี้ เพราะยามีผลต่อการทำงานของหลอดลม
  • ควรระวังในผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวานร่วมด้วย เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลไปบดบังภาวะน้ำตาลต่ำ (เช่น ใจสั่น, รู้สึกหิว, จะเป็นลม ฯลฯ) ในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตภาวะน้ำตาลต่ำได้จากการมีเหงื่อออก เพราะอาการนี้จะไม่ถูกบดบังจากยาลดความดันกลุ่มดังกล่าว

5. ยากลุ่มแคลเซียมแชลแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) เช่น  Amlodipine , Diltiazem ,  Felodipine,  Nifedipine, Verapamil, ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นการไหลเข้าของเกลือแคลเซียมทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลง    ช่วยขยายหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง 

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

-  ปวดศีรษะ, หน้าแดง (flushing)

-  ข้อเท้าบวม (ankle-edema)

-  ท้องผูก

-  อาจพบภาวะหัวใจเต้นเร็ว ยกเว้นในยา Verapamil, Diltiazem

* หากมีอาการข้างเคียงดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร

6.  ยากลุ่มอื่นๆ ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง เช่น

6.1  Doxazosin ,  Prazosin

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

-  ความดันต่ำเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ช้าๆ เช่น จากการนอนให้ลุกขึ้นนั่งพักสักครู่ก่อนที่จะยืน

-  อาจเป็นลมภายหลังการได้รับยาครั้งแรก

-  ปวดศีรษะ

-  ใจสั่น

* หากมีอาการข้างเคียงดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร

6.2  Methyldopa

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

-  ง่วงซึม

-  ปากแห้ง

-  เกิดการคั่งของน้ำและเกลือ

-  หัวใจอาจเต้นช้าลง

* เป็นยาลดความดันโลหิตที่เลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์

6.3 Hydralazine

•อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

-  หัวใจเต้นเร็ว

-  ปวดศีรษะ

-  เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย

-  คัดจมูก

ใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงอย่างไรให้ได้ผลดี

1. ต้องรับประทานยาต่อเนื่องกันทุกวันและรับประทานยาให้ตรงเวลา

2. หากลืมรับประทานยาและนึกขึ้นได้เมื่อใกล้จะรับประทานยามื้อต่อไป  ให้รับประทานยาของมื้อนั้นก็พอ และห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า มิฉะนั้นความดันโลหิตจะลดต่ำลงอย่างมาก เกิดอาการหน้ามืด ล้มลง หมดสติ เป็นอันตรายได้

3. ห้ามบด เคี้ยว หรือหักเม็ดยาเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร เพราะยาบางตัวเมื่อ บด เคี้ยว หรือ หักเม็ดยา จะทำให้ได้ตัวยาเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่สูงอย่างทันทีทันใด ฤทธิ์ยาก็จะสูงมากและความดันโลหิตจะตกลงอย่างมาก จนอาจทำให้หน้ามืด ล้มลงและหมดสติได้

4. ควรเก็บยาในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสง และความร้อน และควรแกะเม็ดยาออกจากห่อในมื้อที่จะรับประทาน ให้เป็นมื้อๆ ไป ไม่ควรแกะไว้ล่วงหน้า เพราะอาจทำให้ตัวยาเสื่อมได้

5.ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยามื้อละหลายเม็ด ต้องรับประทานยาให้ครบทุกตัว ห้ามขาดยาตัวใดตัวหนึ่งไป และอย่าหยุดยา เพราะคิดว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เนื่องจากการหยุดยาจะทำให้ความดันโลหิตกลับสูงขึ้นมาอีก และอาจสูงมากจน หลอดเลือดในสมองแตก จนทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมาได้

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกับการใช้ยา เพราะการใช้ยาอย่างเดียวอาจไม่สามารถที่จะควบคุมโรคที่ผู้ป่วยเป็นได้ โดยผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

1. งดรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม โดยรับประทานเกลือแกงให้ได้น้อยกว่า 6 กรัม/วัน

2. ควรรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ โดยพยายามลดปริมาณของอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ราดหน้า, ขนมหวาน , ทุเรียน, อาหารทอด เป็นต้น

3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เช่น ลอดช่องน้ำกะทิ, ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น

4. งดบุหรี่ จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ให้เกิน 30 มิลลิลิตรเอทิลแอลกอฮอล์/วัน  หรือเป็นไปได้ก็ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไปเลยยิ่งดี

5. ควรลดน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป

6. ออกกำลังกายแบบ aerobic เช่น เดินไวๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เกือบทุกวันในแต่ละสัปดาห์ และควรงดการออกกำลังที่ต้องใช้แรงมาก เช่นยกน้ำหนัก, ปีนเขา เป็นต้น

7. สตรีที่มีความดันโลหิตสูงจากยาคุมกำเนิด ควรหยุดยา ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม

8.  ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หงุดหงิด โมโห

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีความดันโลหิตสูงแล้วไม่รักษาหรือรักษาแต่ปฏิบัติตัวไม่สม่ำเสมอ

  • อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูงร้ายแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง  หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตกจนอาจทำให้เกิดอัมพาตได้
  • หลอดเลือดในตาอาจตีบตันหรือแตกมีการตกเลือดในตาหรือบวมในชั้นตาที่รับภาพ
  • สายตาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะทำให้ตาบอด
  • หัวใจล้มเหลว จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานมากขึ้น จึงทำให้หัวใจโต เกิดอาการเหนื่อย หอบหายใจลำบาก และภาวะความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
  • ไตอักเสบ ไตพิการ หรือเกิดอาการบวม  เป็นต้น

ดังนั้นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกคนควรใช้ยาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี คอยสังเกตอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ร่วมกับการปรับปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์