ความผิดปกติของหนัง ศีรษะกับยาที่ใช้

โรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับศีรษะเกิดขึ้นทั้งอวัยวะองค์ประกอบภายใน  เช่น สมอง ระบบประสาทและเยื่อหุ้มสมอง  น้ำในสมอง  ฯลฯ   หรือองค์ประกอบภายนอก  เช่น หนังศีรษะ  เส้นผม  เป็นต้น  ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะองค์ประกอบภายนอก เท่านั้น

การรักษา/แก้ไข/ป้องกันความผิดปกติดังกล่าว  ในทางการแพทย์มีตัวช่วยหลากหลายวิธี   เช่น  การผ่าตัด  การปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้ยารักษา   ซึ่งวิธีที่สะดวกและเป็นทางเลือกแรกที่เข้าไปเกี่ยวข้องในทุกกรณีคือ  การใช้ยา   ตัวอย่างเช่น

1.รังแค

สาเหตุ :  ไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากเชื้อราที่อาศัยอยู่บริเวณรูขุมขนของหนังศีรษะชื่อ Malassezia  โดยผู้ที่มีปัญหารังแคจะมีเชื้อราชนิดนี้มากกว่าคนปกติ

อาการ :  อาจมี หรือไม่มีอาการคันหนังศีรษะร่วมด้วยก็ได้  มีลักษณะเป็นขุยหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ พบบริเวณโคนผม เส้นผม หรืออาจร่วงลงมาเกาะเสื้อบริเวณบ่าและไหล่

การรักษา :   มุ่งเน้นการลดจำนวนของเชื้อราชนิดนี้

วิธีการรักษาและป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการสระผมด้วยน้ำอุ่น เนื่องจากน้ำอุ่นทำให้หนังศีรษะแห้งและลอกเป็นขุยได้

2. หลีกเลี่ยงการเกาแรงๆหรือการใช้หวีซี่คมหวีบริเวณหนังศีรษะ

3. สระผมด้วยแชมพูยา สระนานอย่างน้อย 5 -10นาที โดยช่วงแรกสระ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์  จะสามารถลดจำนวนเชื้อราบนศีรษะลง   ตัวอย่างยาฆ่าเชื้อราที่ผสมในแชมพู  มีดังนี้

  • Ketoconazole    เช่น   แชมพู  Nizoral
  • ซิลิเนียม ซัลไฟด์     เช่น   แชมพู Selsun , Sebosel
  • Zinc pyrithione
  • หากมีสะเก็ดหนาและใช้ยาสระผมข้างต้นไม่ทุเลาให้เปลี่ยนมาใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน (Tar)
  • Tar แชมพู จะช่วยลดสะเก็ดได้ดี แต่มีข้อเสียคือ ค่อนข้างแรง และอาจทำให้ผมแห้งแข็งกระด้าง  วิธีแก้ไขคือให้ใช้ครีมนวดตามหลังการสระผม  หลังจากรังแคลดลงแล้วสามารถลดจำนวนครั้งเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

4. กรณีมีการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วย  สามารถใช้ยาทากลุ่มคอติโคเตอรอยด์ชนิดน้ำหรือน้ำนม เช่น    Triamcinolone lotion ทาบริเวณหนังศีรษะจะลดอาการแดงอักเสบลงได้

วิธีการใช้ : หลังจากสระผมให้ใช้หวีแสกผม จากนั้นหยอดยาลงบนบริเวณที่มีการอักเสบของหนังศีรษะ ใช้นิ้วเกลี่ยและคลึงเบาๆ ควรใช้วันละ 1-2 ครั้ง การอักเสบของหนังศีระษะจะลดลง

2.กลาก เกลื้อน เชื้อราบนหนังศีรษะ

การรักษาด้วยยา :-

1.  ยาใช้ภายนอก :  ได้แก่  20% sodium thiosulfate , selenium sulfide shampoo, ketoconazole shampoo, zinc pyrithione shampoo

2.  ยารับประทาน :  กรณีที่ศีรษะเป็นบริเวณกว้าง ได้แก่

  • ketoconazole  ขนาด 200 mg ต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน หรือ 400 mg ครั้งเดียว
  • itraconazole   ขนาด 200 mg ต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน

อย่างไรก็ตามอาจกลับเป็นซ้ำได้ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาอนามัยส่วนบุคคลและรับประทานยาป้องกันการเป็นซ้ำ คือ  ketoconazole 200 mg เป็นเวลา 3 วัน ทุกเดือน หรือขนาด 400 mg เดือนละครั้ง

3.ผมร่วง

ผมของคนเราร่วงอยู่ทุกวัน  ในวันหนึ่งผมร่วงประมาณ 20 เส้น ถือว่าร่วงน้อย ร่วงถึงประมาณ 60 เส้น ถือว่าร่วงธรรมดา  แต่หากร่วงเกิน 100 เส้นขึ้นไปหรือผมร่วงแหว่งหายไปเห็นหย่อมถือว่าผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพของเส้นผมและระบบไหลเวียนของบริเวณหนังศีรษะและระยะเวลาผลัดผมของแต่ละบุคคลด้วย   หากผมใหม่ที่งอกขึ้นน้อยกว่าผมที่ร่วงไป ผมจะบางและเริ่มเป็นปัญหา  เรียกภาวะที่ผมหลุดร่วงมากกว่าปรกติว่า “Alopecia” ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ และมีหลายลักษณะ

สาเหตุ : ผมร่วงหลังจากคลอดบุตรหรือเป็นไข้สูง (Telogen effluvin)  ผมจะร่วงวันละเป็นร้อยๆ เส้น เวลาลูบผมจะติดมือออกมาเลย ซึ่งสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ

: ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic alopecia) หรือภาวะศีรษะล้าน  ไม่ได้เกิดกับลูกหลานทุกคน  พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงและมีความรุนแรงมากกว่า    โดยเป็นมากเมื่ออายุมากขึ้น

: ผมร่วงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยารักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคเกาต์ ยาต้านอาการซึมเศร้ายาลดความดันโลหิต   ยาโรคหัวใจบางชนิด    รวมทั้งการรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

: ผมร่วงที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น  โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย  เบาหวาน โรคติดเชื้อราที่หนังศีรษะ    ไทฟอยด์ มาลาเรีย  ซิฟิลิส เอสแอลอี   ไข้หวัดใหญ่   รวมถึงภาวะการขาดอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก  ซึ่งพบได้ในหญิงที่เสียเลือดจากการมีประจำเดือนครั้งละมากๆ

: ผมร่วงจากพฤติกรรม  เช่น ชอบดึงผม สระผมบ่อยเกินไป  ย้อม / โกรกสีผม  รวมทั้งการเป่าผมด้วยความร้อนมากเกินไป

การรักษาด้วยยา

1.ยารับประทาน :

  • Finasteride สามารถเพิ่มจำนวนเส้นผม แต่เส้นผมจะกลับร่วงเมื่อหยุดใช้ยาเป็นเวลา 12 เดือน โดยยาไม่มีผลต่อขนทั่วร่างกาย แต่พบอาการข้างเคียงของระบบสืบพันธุ์และห้ามใช้ในหญิงที่มีศีรษะล้านโดยเฉพาะหญิงที่คาดว่าจะตั้งครรภ์

2.ยาทาภายนอก    :

  • Minoxidil   ใช้ในรูปโลชั่นทาเฉพาะที่ในขนาด 2% และ 5% ตัวยาช่วยกระตุ้นเส้นผมที่มีขนาดเล็กให้ใหญ่และยาวขึ้น ยาจะให้ผลในช่วงที่ใช้ยาเท่านั้น  เมื่อหยุดยาผมที่ขึ้นใหม่จะกลับร่วงเหมือนเดิมในเวลาประมาณ 6-12เดือน จึงต้องใช้ยาต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต

ขนาดและวิธีใช้  :   ต้องทำให้ศีรษะแห้งก่อนทายา โดยทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 6-8 เดือน

หมายเหตุ : ผู้ที่มีศีรษะล้านเป็นเวลานานมักไม่ค่อยให้ผลการรักษา เนื่องจากยา minoxidil ไม่ช่วยให้มีเส้นผมเกิดขึ้นใหม่ได้บนศีรษะที่ล้านเลี่ยนไปแล้ว   แต่เป็นเพียงช่วยให้เส้นผมที่มีเส้นเล็กกลับโตและหนาขึ้นเท่านั้น

อาการไม่พึงประสงค์ : ผิวแห้ง ผื่นคัน ผิวลอกเป็นสะเก็ดหรือเป็นแผ่น อาจระคายเคืองหรือแสบร้อนเฉพาะที่

4. เหา

สาหตุ  :    เกิดจากเชื้อปาราสิต ชื่อ Pediculus humanus ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะ เส้นผม ขน ปาราสิตชนิดนี้จะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร และวางไข่บนเส้นผม โดยหลั่งสารไคตินหุ้มปลายหนึ่งของไข่ ให้เกาะติดแน่นอยู่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

น้ำลายของตัวเหามีสารซึ่งระคายเคืองผิวหนังได้ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงรอยกัด ลักษณะไข่เป็นรูปวงรี ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร สีขาวขุ่น เกาะติดแน่นกับเส้นผม ตัวเหาจะวางไข่ที่บริเวณโคนรากผม เมื่อผมยาวขึ้นก็จะเห็นไข่เหาเขยิบห่างจากหนังศีรษะมากขึ้น ไข่ที่ยังมีตัวอยู่จะมีสีเหลืองขุ่น   แต่ไข่ที่ว่างเปล่าไม่มีตัวจะมีสีขาวขุ่น

อาการ  :  คันมาก อาจเกาจนหนังศีรษะถลอก อักเสบ และเป็นแผลติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กเสียสมาธิในการเรียน บางรายมีอาการคันศีรษะมาก  พบตัวเหาและไข่เหาซึ่งเห็นเป็นจุดขาว ๆ ติดอยู่บนบริเวณโคนผมและเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณเหนือใบหูและที่ท้ายทอย บางรายอาจมีอาการคันมากตอนกลางคืน จนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

การรักษา  :   วิธีการรักษาแบบชาวบ้านคือการโกนผมออกหมด ที่จริงเป็นวิธีที่ได้ผลพอควร เพราะเมื่อตัวเหาหรือโลน ไม่มีที่เกาะยึด โรคก็จะหายไปได้

การรักษาด้วยยา   :

  • ยาทา  0.3% gamma benzene hexachloride gel  โดยถ้าเป็นเหา ให้สระผมให้สะอาดแล้วทายาทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงแล้วสระผมซ้ำ ตัวยาจะมีฤทธิ์ฆ่าตัวแก่ จึงจำเป็นต้องรักษาซ้ำอีกครั้งหนึ่งใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่ตัวอ่อนฟักออกจากไข่ นอกจากนั้นการใช้หวีตาถี่ๆ สางผมให้ไข่หลุดออกมา จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
  • ยาทา  Lindane cream % ทาบริเวณหิด  ท้งไว้ 24 ชม. อาบน้ำ , กรณีเหา ทาหลังสระผมเช็ดแห้งแล้ว ขยี้ยาให้ทั่ว  ใช้ผ้าโพกทิ้งไว้  12 ชม.  สระออก ถ้ายังมีเหา  หรือโลน  ให้ทำซ้ำอีกครั้งหลังจากใช้ครั้งแรก 8-10  วัน

โดยสรุป

ยาภายนอก  เป็นยาที่มีความปลอดภัยมากกว่ายารับประทาน   ที่สามารถหามาใช้ได้ด้วยตนเอง  เพียงแต่ต้องเลือกได้ ถูกต้องตรงกับสาเหตุที่เป็น  จึงจะได้ผล  ในส่วนยารับประทานควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร  เพื่อป้องกันผลไม่พึงประสงค์  เช่น  ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา   มีดรค / อาการ ที่เป็นข้อห้ามใช้หรือไม่  เป็นต้น  สิ่งสำคัญคือ หากสุขภาพศีรษะได้รับการเอาใจใส่ดูแลสม่ำเสมอ  ยาต่างๆเหล่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์