เกิดจากเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่น ทำให้เกิดอาการตามัว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราสามารถแบ่ง สาเหตุการเกิดต้อกระจก ได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ 
1. ต้อกระจกแต่กำเนิด (congenital cataract)
2. ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง (acquired cataract)
ต้อกระจกแต่กำเนิด (congenital cataract)มีความขุ่นของเลนส์แก้วตาตั้งแต่หลังคลอดถึงภาย ใน 3 เดือนแรก ซึ่งถ้ามีความขุ่นเพียงเล็กน้อย จะไม่ทำให้การมองเห็นลดลง ความขุ่นนี้อาจคงที่หรือค่อยๆเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่
สาเหตุ : อาจเกิดจากการติดเชื้อในครรภ์มารดา ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน (Rubella) มารดาใช้ยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ การได้รับรังสีเอกซเรย์ขณะตั้งครรภ์ ภาวะขาดสารอาหาร มารดาที่เป็นเบาหวาน รวมถึงพันธุกรรมด้วย
ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง (acquired cataract) คือ ต้อกระจกที่พบภายหลังในผู้ที่เคยมีเลนส์แก้วตาใสเป็นปกติมาก่อน ที่พบบ่อยๆ ได้แก่
• ต้อกระจกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย(senile cataract) เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจะมีอาการตาค่อยๆมัวลงอย่างช้าๆ เป็นปี
• ต้อกระจกที่เกิดจากอุบัติเหตุ (traumatic cataract) คือ ต้อกระจกที่เกิดขึ้น จากการเกิดอุบัติภัยที่ตา ไม่ว่าจะเป็นการกระแทก มีสิ่งแปลกปลอมเข้าในลูกตา ประวัติเคยทำการผ่าตัดภายในลูกตาอย่างอื่นมาก่อน การได้รับกระแสไฟฟ้าแรงสูง (electric shock) หรือการได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้า และศีรษะ
• ต้อกระจกจากโรคทางเมตาบอลิซึม เช่น เบาหวานซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าวัย
• ต้อกระจกจากการได้รับยาบางชนิด จากการรักษาโรคอื่นๆ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์
• ต้อกระจกที่เกิดเนื่องจากโรคอื่นๆที่เกิดขึ้นในตา เช่น เคยมีแผลที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาหลุดลอก
อาการของโรคต้อกระจก ได้แก่
1. ตามัวลง มักเกิดอย่างช้าๆทีละน้อยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่มีอาการอักเสบของตาร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและสาเหตุของการเกิดต้อกระจกในคนๆนั้น
2. การแยกความแตกต่างของสี (contrast sensitivity) ลดลง เมื่ออยู่ในที่แสงจ้า ที่มืดหรือเวลากลางคืน
3. บางรายอาจมีการมองเห็นภาพซ้อนได้ในตาข้างเดียว (monocular diplopia) ซึ่งเกิดจากความขุ่นของเลนส์ทำให้เกิดการกระจายแสงในตา
4. อาการคล้ายสายตาสั้นในช่วงแรก คือ จะมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้พอได้ มักเกิดกับต้อกระจกชนิดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ
5. ปวดตาเนื่องจากต้อหินแทรกซ้อน พบได้ไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงและปวดตาเฉียบพลัน ตามัวลงกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

1. ช่วงแรกอาการมองไม่ชัดอาจพอแก้ไขได้ โดยการใช้แว่นสายตาช่วย แต่เมื่อถึงระยะหนึ่ง ที่ต้อกระจกเป็นมากขึ้นแว่นสายตาก็ไม่ สามารถช่วยได้
2. การใช้ยาหยอดตา มีรายงานว่ายาหยอดตาบางชนิดสามารถชะลอการเกิดต้อกระจกได้ แต่ไม่สามารถทำให้ต้อกระจกที่มีอยู่เดิมหายไป ทั้งนี้ผลที่ได้ยังไม่มีการรับรองชัดเจน และในบางรายก็ไม่ได้ผล
3. การทำผ่าตัด ในปัจจุบันนี้มีวิธีการทำผ่าตัดหลักๆ ที่นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ
3.1 Extracapsular cataract extraction (ECCE) เป็นการใช้มีดผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เจาะถุงหุ้มเลนส์ เอาต้อกระจก (เลนส์ที่ขุ่น) ออกทั้งอัน เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมอันใหม่เข้าไปแทนที่ จากนั้นก็เย็บปิดแผล นิยมทำกันในรายที่ต้อกระจกสุก หรือเป็นมากๆ
3.2 Phacoemulsification เป็นวิธีที่กำลังนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก ใช้มีดขนาด 3 mm. เจาะเข้าในลูกตา เปิดฝาถุงอุ้มเลนส์ออกจากนั้นใช้หัว phoco ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง (คล้ายอัลตราซาวน์) ไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆดูดออก ซึ่งต่างจาก ECCE ที่เอาต้อกระจกออกทั้งอันจึงทำให้แผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า หลังจากเอาต้อกระจกออกแล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลจากการทำผ่าตัดวิธีนี้มีขนาดเล็ก จึงอาจไม่จำเป็นต้องเย็บแผลได้ ถือเป็นการผ่าตัดค่อนข้างปลอดภัย
ทั้งนี้การผ่าตัดวิธีใด อาจเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ กระจกตาดำขุ่น หรือจอประสาทตาบวม อาจพบได้ในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงในตัวผู้ป่วยแต่ละบุคคล ย่อมมีความแตกต่างกันไป