มะเร็งเต้านม พบบ่อยในหญิงไทยเป็นอันดับสองรองจาก มะเร็งปากมดลูก มักพบในหญิงอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย และผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม ส่วนหญิงที่อายุน้อยหรือ ผู้ชายก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่พบน้อย

สาเหตุ
สาเหตุการเกิดโรค ยังไม่ทราบแน่นอน แต่อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น เพศ อายุ กรรมพันธุ์ อาหารที่มีไขมันสูง ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายฮอร์โมน เชื้อไวรัส และสารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น

อาการของโรค
•    มะเร็งเต้านมมักเป็นที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่นโดยเริ่มด้วยการมีก้อนเล็ก ๆ เกิดขึ้นส่วนมากไม่มีอาการเจ็บปวด
•    ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น บางชนิดทำให้เต้านมแข็งขึ้น หรือแบนเล็กลงได้
•    ก้อนมะเร็งอาจดึงรั้งให้หัวนมบุ๋มเข้าไปจากระดับเดิม หรือทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมหยาบ ขรุขระ เหมือน ผิวส้ม บางรายถ้ากดบริเวณหัวนม จะมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลซึมออกมา
•    มะเร็งจะลุกลาม แพร่กระจายจากตำแหน่งที่เกิดไปอย่างรวดเร็ว ตามหลอดน้ำเหลือง เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือ ลุกลามเข้าหลอดเลือดสู่อวัยวะอื่น ๆ
•    ในระยะหลัง เนื้อมะเร็งบางส่วนจะเน่าตาย ทำให้เกิดเป็นแผลขยายกว้าง มีกลิ่นเหม็น มีหนอง หรือเลือดไหลออกมาจากแผล

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ควรตรวจภายใน 7-10 วัน ของรอบเดือน โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือน หรือ ทุกเดือนหลังจากหมดประจำ เดือนแล้ว การตรวจเต้านมอย่างถูกวิธี จะช่วยให้พบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มแรกได้ โดยมีขั้นตอนการตรวจ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การตรวจในขณะอาบน้ำ
ขณะอาบน้ำผิวหนังจะเปียกและลื่น ช่วยให้ตรวจได้ง่ายขึ้นโดยใช้ฝ่ามือนิ้วมือคลำ และเคลื่อนในลักษณะคลึงเบา ๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม เพื่อค้นหาก้อนหรือเนื้อที่แข็งเป็นไต หลังอาบน้ำเสร็จแล้วจึงทำการตรวจขั้นต่อไป

ขั้นที่ 2 การตรวจหน้ากระจก
ก. ยืนตรงมือแนบลำตัวให้สังเกตเต้านมทั้งสองข้างต่อไปยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตลักษณะเต้านมว่ามีการดึงรั้งของผิวหนังบริเวณเต้านมส่วนใด หรือระดับเต้านมเท่ากันหรือไม่
ข. ยกมือเท้าสะเอว เอามือกดสะโพกแรง ๆ เพื่อให้เกิดการเกร็ง และหดตัวของกล้ามเนื้ออก สังเกตว่ามีรอยนูนหรือบุ๋มที่ผิวหนังของเต้านมหรือไม่

ขั้นที่ 3 การตรวจในท่านอน
นอนหงายใช้หมอนใบเล็ก ๆ หนุนใต้สะบักข้างที่จะตรวจให้อกเด่นขึ้น และยกมือไว้ไต้ศีรษะ แล้วใช้ฝ่านิ้วมืออีกข้างหนึ่งคลำให้ทั่ว ๆ ทุกส่วน ของเต้านมใช้มือซ้ายตรวจเต้านมด้านขวา  ใช้มือขวาตรวจเต้านมด้านซ้ายในลักษณะ เดียวกัน

การ ตรวจเต้านมแต่ละข้าง ให้เริ่มต้นที่บริเวณเต้านมด้านรักแร้  เวียนไปโดยรอบเต้านมแล้วเคลื่อนมือขยับมาเป็นวงแคบ จนถึงบริเวณหัวนม พยายามคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม ตอนสุดท้ายให้กดรอบ ๆ หัวนม หรือบีบ หัวนมเบา ๆ ทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตดูว่ามีน้ำเลือด น้ำหนอง หรือน้ำใส ๆ ออกจากหัวนมหรือไม่
ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
o    เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย
o    หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก
o    ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุ มากกว่า 30 ปี
o    มีแม่ พี่น้อง หรือลูก เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี
o    การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อยและใช้ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
o    การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติเล็กน้อย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน ควรจะรับการตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าการทำแมมโมแกรมทุกปี
การวินิจฉัยโรค
มีวิธีการต่างๆ มากมายเพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม การเอ็กซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรม และการตรวจ
อัลตร้าซาวน์ (การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง) มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดเล็ก คลำไม่ได้ หรืออยู่ลึกในเนื้อเต้านมคลำได้ไม่ชัดเจน
เมื่อวินิจฉัยได้แล้วควรมีการวินิจฉัยระยะโรคเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง โดยต้องประเมินการแพร่กระจายของ มะเร็งที่ไปต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ และกระดูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจอัลตร้าซาวน์ตับ และตรวจกระดูกชนิดสแกนด้วยเภสัชรังสี

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

การรักษามะเร็งเต้านมเป็นการรักษาผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายทำให้ผลการรักษาดีผู้ป่วยมีอายุยืนยาว แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องเลือกวิธีการและลำดับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

การผ่าตัดรักษาที่ใช้ในทางปฏิบัติมี 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน หมายถึง การตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบมะเร็งออกด้วยร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก ถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง  การผ่าตัดโดยวิธีนี้ต้องฉายรังสีบริเวณเต้านมภายหลังการผ่าตัดทุกรายเพื่อลดโอกาสกลับเป็นใหม่ของมะเร็ง ผลการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีพอ ๆ กับการตัดเต้านมออกทั้งเต้า    
2. การตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก

การผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยระยะโรค ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรคของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อนำมาตรวจหาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

การรักษาเสริม
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดบางกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมเพื่อหวังผลให้ หายหรือมีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษาเสริมประกอบด้วยการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี อันจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

วิธีการป้องกัน
เนื่องจากการดำเนินของโรคมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก การค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาอาจทำได้โดยการตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทั้งเต้านม ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม โดยรอจนกระทั่งมีอาการผิดปกติ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้