โรคเครียดเป็นโรคที่จัดได้ว่าเกิดได้ง่ายที่สุด แทบทุกคนจะเคยมีประสบการณ์ของความเครียดไม่มากก็น้อย ความเครียดอาจจะเป็นความรู้สึกที่คู่กับมนุษย์ เนื่องจากสมองที่มีขนาดใหญ่ ทำให้มีการใช้ความคิดมากกว่าสัตว์อื่นๆ มีการคิดล่วงหน้า ซึ่งถ้ามองในด้านดี  จะเห็นประโยชน์มากมายในการป้องกันปัญหาต่างๆ  แต่ความคิดที่สลับซับซ้อนมากๆ ก็ทำให้คิดกังวลล่วงหน้าได้มาก คิดในแง่ร้ายได้มากเช่นกัน คนที่มีความทุกข์มากๆ มักจะปล่อยใจให้หลงคิดและกังวลอยู่ในอดีตที่ผ่านไปแล้วแก้ไขไม่ได้  หรือกังวลล่วงหน้าในเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ในคนปกติความเครียดที่เกิดจะสัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือ สิ่งแวดล้อม เช่น ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนจะรู้สึกเครียด เพราะการสอบนั้นอาจไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ ความกังวลล่วงหน้าคือการคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปตามความต้องการหรือจะทำให้เกิดอันตราย  นักเรียนก็จะเกิดความเครียด ความวิตกกังวล ในสัตว์ชั้นต่ำกว่าคนจะไม่มีความวิตกกังวลล่วงหน้าเช่นนั้น  ความเครียดของสัตว์มักจะเกิดจากการถูกคุกคาม ต่อชีวิต ที่อยู่อาศัย เรื่องเพศ เรื่องอาหาร  ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณ เพื่อให้ตนเองอยู่รอด ปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเพราะสัตว์ไม่มีปัญญาที่จะคิดไกลกว่านั้น
ความเครียดเป็นผลรวมของความคิด ความรู้สึก การกระทำและปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้น  ความวิตกกังวลเป็นภาวะทางอารมณ์ ขึ้นอยู่กับการคาดคะเนเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น
ความเครียดจึงเกิดขึ้นได้ง่ายๆแม้ในคนธรรมดา คนที่ไม่เครียดเลยอาจแสดงว่าไม่ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหา ทำให้ไม่รู้สึกเครียด คนปกติทุกคนจึงมีความเครียดเป็นสิ่งกระตุ้นให้คิด แก้ไข ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อปัญหามีทางออก ความเครียดก็จะลดลง
ความเครียดในคนที่เป็นโรคเครียด จะแตกต่างจากความเครียดปกติที่เกิดในคนทั่วๆไป คือจะเกิดอาการทางร่างกายซึ่งรบกวนหน้าที่การทำงานในชีวิตประจำวัน อาการที่พบบ่อยๆได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดท้อง
อาการ
อาการของความเครียดจะเกิดขึ้นในอวัยวะที่ถูกกำกับควบคุมโดยประสาทอัตโนมัติ ทำให้ประสาทอัตโนมัติเหล่านั้นทำงานมากขึ้นจนเกิดอาการต่างๆ เช่น
•    ในระบบทางเดินอาหาร  กระเพาะอาหาร เกิดการหลั่งกรดมากผิดปกติ ทำให้กระอาหารเป็นแผล ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ลำไส้ เกิดการหดตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายบ่อย
•    ในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบลง มีไขมันมาเกาะ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง
•    ระบบกล้ามเนื้อ  มีการหดตัว เกร็งแข็ง เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อต่างๆทั่วตัว
•    ประสาทอัตโนมัติเป็นระบบที่ทำงานโดยไม่สามารถบังคับหรือสั่งการได้ หล่อเลี้ยงอวัยวะภายในทั้งหมด ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้ หลอดเลือด
•    ประสาทอัตโนมัติมีความเกี่ยวข้องกับสมอง และไขสันหลังเป็นอย่างยิ่ง ความเครียดจะกระตุ้นอารมณ์ในสมอง ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานผ่านแนวเชื่อมโยงกับไขสันหลัง การทำงานนั้นอยู่นอกการควบคุมของจิตใจ
การตรวจวินิจฉัย
โรคเครียดสามารถวินิจฉัยได้ง่าย เราทุกคนก็สามารถวินิจฉัยตัวเองได้ คือ เมื่อ มีอาการทางกายเกิดขึ้นสัมพันธ์กับความเครียด แต่ปัญหาใหญ่มักอยู่ที่ตัวเราเองไม่ค่อยยอมรับว่าเครียด  คนไข้โรคเครียดหลายรายที่ปฏิเสธอย่างแข็งขันในตอนแรกว่าไม่เครียด แต่เมื่อได้สัมภาษณ์ลงลึกก็มักจะพบว่ามีความเครียดจำนวนมากแฝงอยู่
การดำเนินของโรค
โรคนี้มักเป็นในวัยรุ่น และเป็นต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่  อาการเกิดสัมพันธ์กับความเครียดในการดำเนินชีวิต  คนที่มีปัญหาบุคลิกภาพจะเกิดอาการได้มากกว่าคนทั่วไป  ทำให้มีปัญหาในการทำงาน เกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายมากๆจนไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เมื่อชีวิตไม่มีปัญหา อาการจะสงบลง

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษาใช้หลายๆวิธีรวมกัน ได้แก่
1. การรักษาโรคทางกายให้สงบ  ตามอาการที่เกิด เช่น ใช้ยาลดกรดในกระเพาะรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร  ยาลดความดันโลหิตรักษาโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ การรักษานี้เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่ก็จำเป็นต้องทำก่อน เพื่อลดอาการต่างๆ ให้ผู้ป่วยสบายขึ้น มิฉะนั้นอาการต่างๆเหล่านั้นจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดต่อเนื่อง เป็นวงจรไม่รู้จบ
2. การรักษาทางจิตใจ
•    การผ่อนคลายความเครียด และทำใจให้สงบ
•    การแก้ไขปัญหาชีวิตให้สำเร็จ
•    มีการปรับตัวกับบุคคลอื่นได้ดี
•    การออกกำลังกายให้แข็งแรง จิตใจเผชิญความเครียดได้ดี
•    มีการผ่อนคลาย งานอดิเรก พักผ่อนหย่อนใจ
3. การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
•    สถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ไม่เครียด
•    การทำงานพอเหมาะ ไม่หนักมากเกินไป  มีเวลาพักผ่อน