เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น หกล้มศีรษะกระแทกพื้น อุบัติเหตุรถชน รถคว่ำ ตกจากจักรยาน ตกจากที่สูง ถูกตี ทารกคลอดยาก ทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน เป็นต้น

การบาดเจ็บอาจเป็นเพียงแผลหรือฟกช้ำที่หนังศีรษะ ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างไร หรืออาจทำให้กะโหลกศีรษะร้าว สมองฟกช้ำ หรือหลอดเลือดในสมองมีการฉีกขาด ทำให้มีการตกเลือดในสมองเป็นอันตรายได้

อาการ

นอกจากบาดแผลหรืออาการฟกช้ำที่หนังศีรษะแล้ว ผู้ป่วยอาจแสดงอาการได้หลายลักษณะ ขึ้นกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง ดังนี้
1.  สมองได้รับการกระทบกระเทือน (Brain concussion) โดยไม่มีการฟกช้ำหรือฉีกขาดของสมองหรือเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหมดสติไปเพียงชั่วครู่หนึ่ง (บางคนอาจนานเป็นชั่วโมง ๆ แต่จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง) เมื่อฟื้นแล้วอาจรู้สึกงุนงง จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นอยู่เพียงชั่วขณะหรือเป็นวัน บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งจะค่อย ๆ หายไปได้เองในที่สุด
2.  สมองฟกช้ำ (Brain contusion) หรือสมองฉีกขาด (Brain laceration) ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติหลังบาดเจ็บทันที (บางรายอาจเกิดหลังบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมง) อาจหมดสติอยู่นานเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีก, กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง, ชัก ถ้าเป็นรุนแรง อาการอาจเลวลงเรื่อย ๆ จนตายได้ ถ้าเป็นไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจฟื้นคืนสติได้ แต่อาจมีอาการปวดศีรษะ รู้สึกสับสน เพ้อ เอะอะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ อาจมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมสักระยะหนึ่ง
3.  เลือดออกในสมอง (Intracranial hemorrhage) ถือว่าเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจตายได้รวดเร็ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงเรื่อย ๆ แขนขาเป็นอัมพาต ตัวเกร็งชีพจรเต้นช้า หายใจตื่นขัด ความดันเลือดสูง คอแข็ง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน (ข้างที่มีก้อนเลือดจะโตกว่า และไม่หดลงเมื่อใช้ไฟส่อง)

• บางคนอาจมีอาการหมดสติหลังบาดเจ็บอยู่ครู่หนึ่งแล้วฟื้นคืนสติได้เอง หลังจากนั้นจึงค่อยเกิดอาการทางสมองดังกล่าวข้างต้น
• ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักมีอาการเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
• บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นหลังได้รับการบาดเจ็บเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้ แล้วจึงค่อยมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นถี่และรุนแรงขึ้นทุกที คลื่นไส้อาเจียน ซึม บุคลิกเปลี่ยนแปลง แขนขาอ่อนแรง
• ในทารก มักมีอาการร้องเสียงแหลม ซึม อาเจียน ชัก แขนขาอ่อนแรง กระหม่อมโป่งตึง
• ถ้าพบในทารกแรกเกิด มักมีประวัติคลอดยากหรือศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอด

อาการแทรกซ้อน
ถ้าเป็นรุนแรงอาจถึงตาย หรือไม่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง เช่น เป็นโรคลมชัก บุคลิกเปลี่ยนแปลง แขนขาเป็นอัมพาต ความจำเสื่อม

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษา
1.  ถ้ามีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ ปลุกไม่ค่อยตื่น ซึม ปวดศีรษะมากขึ้นทุกขณะ อาเจียนรุนแรง คอแข็ง เพ้อคลั่ง ชัก บุคลิกเปลี่ยนแปลง แขนขาอ่อนแรง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือมีเลือดหรือน้ำใส ๆ ออกจากจมูกหรือหู เพียงอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้าตรวจพบว่ามีเลือดออกในสมอง อาจต้องทำการผ่าตัดทันที
2.  ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมง ควรดูอาการทางสมองทุก 2-4 ชั่วโมง ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีประวัติหมดสติหลังบาดเจ็บหรือไม่ก็ตาม ถ้าพบมีอาการทางสมองอย่างหนึ่งอย่างใด แทรกซ้อนตามมาภายหลัง ให้ส่งโรงพยาบาลด่วน

ข้อแนะนำ
1.  ผู้ป่วยศีรษะได้รับบาดเจ็บ อาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุที่พบ พวกที่มีเพียงการกระทบกระเทือนของสมอง มักจะหายได้รวดเร็ว พวกที่มีเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage) มักจะตายอย่างรวดเร็ว พวกที่มีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Epidural hemorrhage) หรือมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hemorrhage) ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน ถ้าได้รับการผ่าตัดทันที ก็อาจหายเป็นปกติหรือลดความรุนแรงของความผิดปกติของสมองลงได้
2.  ผู้ป่วยบางรายแม้จะไม่มีความผิดปกติทางสมองแต่ก็อาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หลังได้รับบาดเจ็บ อยู่สักระยะหนึ่ง หรืออาจมีอาการชักแบบโรคลมชัก (70) ได้
3.  ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติตั้งแต่แรกแต่ก็อาจปรากฏอาการหลังบาดเจ็บนานเป็นเดือน ๆ จนอาจจำประวัติการได้รับบาดเจ็บของศีรษะไม่ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุ) ดังนั้นถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะแรงและถี่ขึ้นทุกวัน (ทำอย่างไรก็ไม่ทุเลา) อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ก็ควรจะนึกถึงการมีก้อนเลือดในสมองจากการบาดเจ็บไว้ด้วย
4.  ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะทุกราย แม้จะไม่มีบาดแผลให้เห็นหรือรู้สึกสบายดีตั้งแต่แรก ก็ควรเฝ้าสังเกตอาการทางสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกถ้าสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาลด่วน