สาเหตุ
เอ็นไขว้หน้า ( Anterior cruciate ligament - ACL) เป็นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า  ช่วยป้องกันกระดูกทีเบีย (Tibia)  เคลื่อนที่ไปข้างหน้าใต้กระดูกฟีเมอร์(Femer)  เอ็นไขว้หน้า จะตึงเวลาเหยียดเข่า   แรงบิดหมุนที่รุนแรงทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ และความมั่นคงของเข่า ที่ป้องกันไม่ให้กระดูกทีเบีย(Tibia)  เลื่อนไปข้างหน้าใต้เข่า หรือบิดหมุน ก็จะเสียไป  ถ้าไม่ได้รับการรักษา หมอนรองข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อ ก็จะได้รับแรงที่ผิดปกติมากเกิน ทำให้ข้อเสียเกิดภาวะข้อเสื่อมได้    การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า มักจะสัมพันธ์กับชนิดกีฬาที่เล่นมากกว่า เช่น พบบ่อยในนักกีฬาประเภท ฟุตบอล , บาสเกตบอล , วอลเลย์บอล ในการเล่นกอล์ฟ เกิดขึ้นได้น้อยกว่า นอกจากจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น  มีสถิติ การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าขวาขาด จากการเล่นบาสเกตบอล ในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  2  เท่า   จากการเล่นฟุตบอลพบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  4  เท่า  หรือประมาณร้อยละ  60  ของนักกีฬาหญิงที่เล่นบาสเกตบอล                                                                      
                                                                             
เกิดขึ้นด้วยสาเหตุ

1. การกระโดด  พบว่านักกีฬาหญิงเวลากระโดดลงพื้นโดยไม่งอเข่ามากเท่านักกีฬาชาย  แรงกระแทกบนเข่าจะมากกว่าทำให้อัตราการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสูงขึ้น
2. เวลาหมุนบิดเข่า   นักกีฬาหญิงมักจะหมุนบิดเข่าขณะที่เข่าเหยียดมากกว่านักกีฬาชาย  การงอเข่าและสะโพกจะช่วยลดแรงที่กระทำต่อเอ็นไขว้หน้า
3. กล้ามเนื้อที่ควบคุมเข่า   มีกล้ามเนื้อเหยียดเข่าคือ กล้ามเนื้อ Quadriceps  อยู่ด้านหน้าต้นขา และกล้ามเนื้องอเข่าคือ Hamstrings อยู่ด้านหลังต้นขา  นักกีฬาหญิงส่วนใหญ่ใช้กล้ามเนื้อ Quadriceps เวลาเปลี่ยนทิศทางหมุนขา แ
รงของกล้ามเนื้อ ดึงกระดูกทีเบีย(Tibia)  ไปข้างหน้าและเหยียดเข่าทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าได้การบริหารกล้าม เนื้อ Hamstrings และใช้กล้ามเนื้อ Hamstrings มากขึ้น ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าได้

อาการ
เอ็นไขว้หน้าขาดเพียงอย่างเดียวมักไม่ทำให้เกิดอาการปวด นอกจากมีอาการ 2 – 3 สัปดาห์แรก  หลังเกิดอุบัติเหตุ  ปัญหาของเอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากเข่าไม่มีความมั่นคง เวลารับน้ำหนักแล้วบิดเข่า  เช่น เวลาเดินจะเลี้ยว หรือเปลี่ยนทิศทาง  การวิ่งหรือขี่จักรยานยังสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหามากนักแต่กิจกรรมที่ต้องการความว่องไว และมีการบิดหมุนเข่า มักจะทำไม่ค่อยได้ถ้าไม่มีเอ็นไขว้หน้ายึดเข่าให้มั่นคง สาเหตุที่มานี้เกิดจากอุบัติเหตุทางการกีฬา คือ กอล์ฟ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

วิธีการรักษา   
ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าขาด ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาทุกราย นอกจากมีอาการเข่าหย่อนมาก ร่วมกับความจำเป็นที่ต้องใช้เข่ามาก เช่น เดินมาก ขึ้นลงบันไดมาก หรือมีความต้องการกลับไปเล่นกีฬา ผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาเอ็นไขว้หน้าขาด จะมีความเสี่ยงหมอนรองกระดูกในขาดตามมาได้ง่าย เข่าปวดบวมซ้ำบ่อย รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องการใช้งานหนักที่เข่า ในระยะยาวจะมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้เร็วคนปกติ เมื่อเอ็นไขว้หน้าของเข่าขาด ไม่สามารถต่อเองได้ แพทย์จะไม่แนะนำให้เย็บซ่อมเข้าหากัน แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันที โดยไม่ได้ปล่อยให้เรื้อรัง เนื่องจากผลการรักษาไม่ดี เอ็นไขว้หน้าที่เย็บซ่อมโดยตรง จะไม่แข็งแรง และมักจะขาดซ้ำเมื่อกลับไปใช้งานตามปกติ

ถ้าต้องการความมั่นคงของเข่าที่มีการบิดหมุนร่วมด้วย ต้องสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นมาใหม่ มีเอ็นที่นำมาสร้างแทนเอ็นไขว้หน้า มาได้จาก  3  แห่ง
1. ใช้เอ็นจากกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า (Hamstring tendons )
2. ใช้บางส่วนของเอ็นลูกสะบ้า  (Kneecap or patellar tendon)
3. ใช้เอ็นจากที่อื่น ที่ไม้ใช่จากตัวผู้ป่วยเอง (Allograft)


การรักษาผู้ป่วยที่เส้นเอ็นข้อเข่าขาดนั้น แต่เดิมแพทย์ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนมาก ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าผ่านกล้อง ซึ่งช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

ข้อดีของการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้อง
การผ่าตัดรักษาทำได้ทั้งผ่าตัดเปิดเข่า และผ่าตัดผ่านกล้อง การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีข้อดีในด้านแผลที่มีขนาดเล็กกว่า การบาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อยกว่า การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า และโอกาสเข่ายึดติดน้อยกว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์มองเห็นพยาธิสภาพในข้อเข่าได้ชัดเจน กว่าการเปิดเข่าซึ่งมองด้วยตาเปล่า เพราะเลนซ์ในกล้องจะขยายภาพมาแสดงให้เห็นที่จอมอนิเตอร์ เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้อง มีขนาดเล็ก สามารถสอดเข้าทำผ่าตัดในพื้นที่แคบ ๆ ในเข่า โดยเฉพาะด้านหลังเข่าได้ดีกว่า นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์ยังสามารถเย็บซ่อม หรือเจียรหมอนรองกระดูกได้ง่ายกว่า

การป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า
ทำได้ทั้งนักกีฬาหญิงและชายโดย ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดเข่า และงอเข่า และการบริหารยืดเหยียด รวมทั้งการสร้างสมดุลและการทรงตัวของเข่าสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักกอล์ฟด้วย นอกจากลดการบาดเจ็บแล้ว การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การทรงตัวที่ดี จะทำให้ตีลูกกอล์ฟได้แม่นยำขึ้น ตีไกลขึ้น และควบคุมทิศทางได้ดีขึ้น