รังไข่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ในอุ้งเชิงกรานอยู่ 2 ข้างซ้ายขวาของมดลูก มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศสตรีและทำให้เกิดมีไข่ตกสลับกันเดือนละ 1 ข้าง โดยการสร้างถุงไข่ที่บรรจุไข่อยู่ภายใน ถุงไข่ที่จะตกไข่จะค่อยๆ โตขึ้นจนประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซ.ม. ก็แตกออก น้ำในถุงไข่ไหลออกมาพร้อมกับพาไข่ในถุงออกมาด้วย แล้วไข่ก็ถูกท่อนำไข่จับเข้าไปในท่อ

ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นไข่ก็มีโอกาสจะผสมกับอสุจิเป็นตัวอ่อนเคลื่อนไปฝังตัวที่มดลูก ถุงไข่ที่แตกและไข่หลุดออกไปแล้วจะเปลี่ยนสภาพเป็นคอร์ปัสลูเตี่ยม (Corpus luteum) มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมให้ตัวอ่อนฝังตัว คอร์ปัสลูเตียม อาจมีลักษณะเป็นถุงน้ำ หรือเป็นเนื้อสีเหลือง และมักจะหายไปเมื่อถึงรอบเดือนถัดไป

แล้วถุงน้ำรังไข่หมายถึงอะไร

ถุงน้ำรังไข่อาจเกิดจากการทำงานของรังไข่ หรืออาจเกิดจากโรคที่รังไข่ก็ได้

ถ้าเกิดจากการทำงานแปรปรวนของรังไข่ อาจเป็นถุงไข่ที่ไข่ไม่ตกแล้วค้างอยู่นานกว่าปกติ หรือเป็นถุงคอร์ปัสลูเตียมที่อยู่นานกว่าปกติ อาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซ.ม. แต่น้อยรายจะถึงขนาด 5-6 ซ.ม. แต่มันจะหายไปเอง ภายใน 1-2 เดือนหลังจากพบ เป็นถุงน้ำรังไข่ที่มักพบบ่อยที่สุด

ถ้าถุงน้ำรังไข่ไม่ได้เกิดจากการคลาดเคลื่อนการทำงานของรังไข่ ก็เกิดได้จากโรค 2 อย่างคือ

1. เนื้องอกของรังไข่ ซึ่งไม่ใช่มะเร็ง (เป็นส่วนมาก) หรือเป็นมะเร็ง(เป็นส่วนน้อย)

2. เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ หรือรู้จักกันในนาม ถุงน้ำช็อกโกแลต ข้างในถุงเป็นเลือดที่สะสมกันอยู่จนเป็นสีน้ำตาลข้นเหมือนช็อกโกแลต เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นและมีเลือดออกขังอยู่เป็นเวลานานๆ มักเกิดร่วมกับเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกรานตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งมักมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย

อาการของถุงน้ำรังไข่
ถุงน้ำรังไข่ส่วนใหญ่จะเป็นถุงเล็ก ๆ (ไม่เกิน 3-4 ซ.ม.) มักไม่มีอาการอะไรและมักจะหายไปเอง ไม่ใช่เนื้องอกเกิดจากการทำงานแปรปรวนของรังไข่ แต่ถ้ามีอาการบิดที่ขั้ว ถุงแตกหรือมีเลือดออกก็จะทำให้มีอาการปวด ลักษณะปวดเสียด ปวดบิด หรือปวดถ่วงได้ อาจทำให้เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

ถ้าถุงน้ำมีขนาดโต ก็อาจจะคลำก้อนได้ในท้อง หรืออาการที่มันเบียดกดอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปวดท้องน้อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือ ถ่ายอุจจาระลำบาก เป็นต้น ถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็งในระยะแรกๆ ก็อาจไม่มีอาการอะไรเช่นเดียวกัน จะมีอาการเมื่อเป็นมาก คือก้อนโตขึ้นเร็ว มีนำในท้อง(ท้องมาน)เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดถุงน้ำรังไข่
ถุงน้ำรังไข่โดยส่วนใหญ่ ตรวจพบจากการตรวจเช็คร่างกายโดยการตรวจภายในธรรมดา และเมื่อตรวจร่างกายแล้วแพทย์ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมดูลักษณะว่าถุงน้ำนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร น่าจะเกิดจากโรคอะไร การตรวจเพิ่มเติมที่มักทำกัน ได้แก่

1. การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจเพิ่มเติมที่ทำได้ง่าย ราคาไม่แพงและให้ข้อมูลที่ดี

2. การทำการเจาะท้องส่องกล้องตรวจ ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นลักษณะของถุงน้ำรังไข่ได้โดยตรง วิธีนี้ต้องเข้าห้องผ่าตัด

3. การเจาะเลือดดูสารเคมีบางอย่างเพื่อตรวจเบื้องต้นว่าน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่

4. การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ MRI จะได้ข้อมูลชัดเจนกว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ มักทำในรายที่ตรวจวิธีอื่นไม่ชัดเจนก่อนจะให้การรักษา เพราะราคาแพง

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

การรักษาโรคถุงน้ำรังไข่
ถ้าถุงน้ำไม่โตมาก และไม่มีอาการอะไร แพทย์อาจจะให้ติดตามดูอาการ 1-2 เดือน ถุงน้ำนั้นอาจหายไปเองได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องรักษาอะไร เพราะเป็นจากการทำงานของรังไข่แปรปรวน ถ้าถุงน้ำใหญ่หรือมีอาการ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด การผ่าตัดวิธีไหนและผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ

1. ขนาดและลักษณะของถุงน้ำรังไข่นั้น

2. อายุของผู้ป่วย

3. อาการที่มาพบแพทย์ว่าเป็นมากหรือไม่ เร่งด่วนหรือไม่

4. ความต้องการมีบุตรของผู้ป่วยในอนาคต การผ่าตัดอาจเป็นการเลาะเอาถุงน้ำออกเหลือเนื้อดีของรังไข่ไว้ หรือตัดรังไข่ข้างนั้นออกเลย หรือต้องตัดออกหมดทั้งสองข้าง รวมทั้งตัดมดลูกจะต้องทำแบบไหนไม่สามารถบอกได้ 100% นอกจากหลังจากผ่าตัดเข้าไปแล้วเห็นว่าลักษณะถุงเนื้อเป็นอย่างไร
ปัจจุบันมักใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องก่อน ถ้าค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ใช่มะเร็ง

สรุป ถุง Cyst รังไข่ส่วนใหญ่แล้วจะพบขนาดไม่โต พบได้บ่อยขณะวัยเจริญพันธุ์ และมักเป็นชนิดเกิดจากรังไข่ทำงานแปรปรวน แต่เมื่อตรวจพบแล้วก็ไม่ควรวางใจและควรต้องตรวจว่ามันหายไปภายใน 1-2 เดือน หรือ ตรวจเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ได้เป็นเนื้องอก (โดยเฉพาะมะเร็ง )