กล่องเสียงประกอบด้วย กระดูกอ่อนและกล้ามเนื้อหลายชิ้นทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อ 2 ชิ้น ที่เรียกว่าสายเสียง ขึงตึงจากด้านในของลูกกระเดือกไปยังส่วนหลังของกล่องเสียง  สายเสียงนี้สามารถเคลื่อนไหวเปิดปิดให้ลมหายใจออกเคลื่อนมาถึงสายเสียงซึ่งปิดอยู่จากแรงดันของลม ทำให้สายเสียงเปิดออก และเกิดมีการสั่นสะเทือนของสายเสียง ซึ่งจะเปลี่ยนลมจากปอดให้กลายเป็นเสียงและเสียงก็จะถูกปรับปรุงให้เป็นคำพูดที่ชัดเจนโดยอวัยวะในช่องปากซึ่งได้แก่ ลิ้น ฟัน เพดาน และอื่น ๆ
เสียงแหบเกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ
1. ความผิดปกติในโครงสร้างของสายเสียง
2. ความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสายเสียงHoarse.jpg

ในกลุ่มเสียงแหบที่เกิดจากความผิดปกติของตัวสายเสียงเองนั้น อาจจะได้แก่
• ความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ขึงระหว่างสายเสียงทั้ง 2 ข้าง
• การอักเสบของกล่องเสียง ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
• เนื้องอกของสายเสียง อาจแบ่งได้เป็น ชนิดร้ายแรง ชนิดไม่ร้ายแรง ติ่งเนื้อที่เกิดจาการใช้เสียงมาก
• การได้รับกระแทกบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้กระดูกอ่อนของกล่องเสียงแตกหัก ไฟลวกบริเวณใบหน้าหรือส่วนบุบของลำตัว หายใจเอาลมร้อนจัดเข้าไปลวกเยื่อบุของทางเดินหายใจรวมทั้งกล่องเสียง
• อัมพาตของสายเสียง อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้าง สาเหตุที่พบบ่อย คือ ภายหลังการผ่าตัดต่อธัยรอยด์ที่คอ แล้วมีผลต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของสายเสียง ทำให้สายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ อัมพาตของสายเสียงอาจเกิดมะเร็งในปอด หรือพยาธิสภาพอื่นในทรวงอกก็ได้
• พวกที่ใช้เสียงผิดจนติดเป็นนิสัย
• พวกที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจก็มีผลต่อการทำงานของสายเสียง เช่น อาจทำให้เกิดเสียงเปลี่ยน หรือไม่มีเสียงเลยได้

เป็นหวัดทำให้เสียงแหบได้หรือไม่
การเป็นหวัดทำให้เสียงแหบได้ เนื่องจากเมื่อเป็นหวัดก็จะมีการอักเสบของบริเวณช่องจมูกและภายในคอ การอักเสบนี้  อาจลามต่อไปถึงกล่องเสียงและสายเสียงทำให้มีการบวมของสายเสียง การทำงานของสายเสียงเปลี่ยนไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงแหบ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษาอาการเสียงแหบ
การรักษาอาการเสียงแหบให้หายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุทำให้เกิดเสียงแหบ เช่น ถ้าเสียงแหบเกิดจากโครงสร้างของสายเสียงผิดปกติมาแต่กำเนิด ก็ย่อมรักษาไม่หาย แต่ถ้าเสียงแหบจากการเป็นหวัดหรือการอักเสบของสายเสียงก็หายได้ แต่โรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในบ้านเรา คือ มะเร็งของกล่องเสียง ซึ่งอาจรักษาให้หายขาดได้  ถ้ามาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรก หรือเสียงแหบในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น ครู นักเรียน นักแสดง การรักษาโดยการให้ยาอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผลเต็มที่ จำเป็นต้องหยุดพักการใช้เสียงร่วมด้วย พวกนี้มักมีอาการเสียงแหบเป็นๆ หาย ๆ บ่อย ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ต้องใช้เสียงมากเกินไป

ข้อควรระวังมิให้เสียงแหบ
เมื่อเราได้ทราบถึงสาเหตุของการทำให้เกิดเสียงแหบแล้ว การป้องกันก็ต้องป้องกันสาเหตุ ซึ่งบางอย่างก็ทำได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้ เช่น เสียงแหบหลังจากเป็นหวัด ก็ป้องกันโดย
• เมื่อเป็นหวัดแล้วก็ต้องรีบรักษา โดยรับประทานยา ให้ความอบอุ่นแก่ร่ายให้พอเพียง หรือในขณะที่อากาศร้อน อย่านอนเป่าพัดลมตรงมาที่ตัว เพราะการหายใจเอาลมแห้งเข้าไปตลอดเวลาทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง และเกิดการอักเสบตามมาได้ง่าย  เมื่อเป็นหวัด หรือเจ็บคอ ถ้าทำได้ควรใช้เสียงให้น้อยลง
• ในเด็ก การเชียร์กีฬาด้วยเสียงดังเป็นการแสดงความพร้อมเพรียง และทำให้เกิดความสนุก แต่ก็ควรระมัดระวัง เมื่อรู้สึกคอแห้งมากก็อย่าตะโกนต่อไป เพราะจะทำให้สายเสียงอักเสบตามมาได้
• จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งของระบบทางเดินหายใจ เช่น ที่ปอด ที่กล่องเสียง ดังนั้น ก็ควรหลีกเลี่ยงจากการสูบบุหรี่ เพื่อไม่เป็นการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของกล่องเสียง
• การอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก หรือมีหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ก็ทำให้กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดเสียงแหบได้   การที่หลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจพบในคนที่สูบบุหรี่มากเป็นประจำ ทำให้เกิดอาการไอบ่อย ๆ การไอทำให้เสียงกระแทกกัน และเชื้อโรคที่อยู่ภายในเสมหะที่ไอออกมาผ่านสายเสียงออกสู่ภายนอกทั้งการไอและทั้งเชื้อโรคในเสมหะทำให้สายเสียงอักเสบทำให้เกิดเสียงแหบได้
ยาอมให้ชุ่มคอมีส่วนช่วยได้บ้างในแง่ที่ทำให้ชุ่มคอ เย็นคอ บางชนิดอาจมียาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่ด้วยก็อาจช่วยลดการอักเสบเล็กน้อยลงได้บ้าง แต่ถ้ามีการอักเสบมากทำให้เสียงแหบ ยาอมอย่างเดียวก็ไม่สามารถรักษาได้

ข้อแนะนำในการดูแลปฏิบัติตัว
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งของทางเดินหายใจ โดยเฉพาะมะเร็งของปอด และมะเร็งกล่องเสียง ดังนั้นการงดสูบบุหรี่หรือพยายามสูบให้น้อยลง จึงเป็นวิธีที่ดีที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเสียงแหบ หรือเจ็บคอที่ได้รับการรักษาแบบคออักเสบธรรมดาจากแพทย์ทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย ควรได้รับการตรวจกล่องเสียงจากแพทย์ หู คอ จมูก โดยตรงเพื่อหาสาเหตุของเสียงแหบ หรือเจ็บคอนั้น  กรุณาอย่าคิดว่าสูบบุหรี่มากเสียงมันก็เป็นอย่างนี้เอง  คำกล่าวนี้ทำให้ผู้ป่วยใจเย็นไม่มาพบแพทย์ และกว่าจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งของกล่องเสียงจึงทำให้เสียงแหบ เวลาก็ล่วงเลยไปจนหมดโอกาสที่จะรักษาให้หายได้