สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา (Healing Environment)

Healing Environment หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาลที่ทำให้ผู้ใช้สอยรู้สึกดี สบาย ผ่อนคลาย ซึ่งความรู้สึก สัมผัส ถึงความต้องการ ความทุกข์ของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การบำบัดและเยียวยาที่ได้ผล

จากผลการศึกษา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า องค์ประกอบต่างๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น แสง สี เสียง กลิ่น ทัศนียภาพ งานศิลปะ เสียง วัสดุและพื้นผิวต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการบำบัดเยียวยาผู้ป่วย

สภาพแวดล้อมที่ดี มีผลต่อผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาและเร่งการฟื้นตัวของผู้ป่วย รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้วย ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมด้วยการเลือกใช้ สี แสง พื้นผิววัสดุ และเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศของสภาพแวดล้อมเพื่อการเยียวยานี้จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

การจัดสภาพแวดล้อมที่เยียวยานี้ เราใช้ประสาทสัมผัส (ผัสสะ) ทั้ง 5  ในการตีความ ซึ่งได้แก่

  • การมองเห็น-รูป Sight,
  • การรู้รส Taste,
  • การได้กลิ่น Smell
  • การได้ยิน-เสียง Hearing
  • การสัมผัส Touch
   healing_environment01

 

ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเงื่อนไขทางกายภาพของผู้ใช้สอยพื้นที่ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในเรื่องของผัสสะทั้งหลายนี้ จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่ได้ผล ซึ่งจะแยกอธิบายได้ดังนี้

การมองเห็น Sight

องค์ประกอบที่ให้เรามองเห็นนั้น ได้แก่

แสง Light แสงที่พอเหมาะ แสงธรรมชาติ แสงประดิษฐ์ หรือแสงแดด

สี Colour สีสรรที่ใช้ประกอบอาคาร

รูปทรง Form ลักษณะรูปทรงของวัตถุที่มองเห็น

· ทัศนียภาพ Views ภาพที่ปรากฏต่อสายตา

งานศิลปะ The arts ซึ่งแบ่งออกเป็น

ทัศนศิลป์ Visual arts ภาพวาด จิตรกรรม ปฏิมากรรม

ศิลปการแสดง Performing arts ละคร การเล่นดนตรี


   healing_environment02

การรู้รส Taste

รสชาติของอาหารในสถานพยาบาล

การได้กลิ่น Smell

กลิ่นที่เกิดขึ้น เช่นกลิ่นยา กลิ่นน้ำยาเคมี หรือ กลิ่นดอกไม้ ฯลฯ

การได้ยิน-เสียง Hearing

เสียงจากแหล่งต่างๆมากมายในสถานพยาบาล ทั้งที่เกิดจากมนุษย์ เครื่องมือ เครื่องจักร เสียงที่เกิดจากธรรมชาติ และเสียงเพลง

การสัมผัส Touch

พื้นผิว/ความหยาบ ละเอียด ลื่น ความสะอาด

นอกจากองค์ประกอบในเรื่องของการจัดการผัสสะทั้ง 5 แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของใจ Mind การบริหารอารมณ์ในการรับมือกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ การรับรู้ทางใจระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยการกระทำ คำพูด ที่เป็นผลความรู้สึกนึกคิดของทุกๆฝ่าย ก็ดูเหมือนจะมีความสำคัญต่อการเยียวยาไม่น้อยไปกว่าผัสสะทั้ง 5 เลย

คนเราเมื่ออยู่ในภาวะคับขัน ย่อมต้องการใครสักคน หรือสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นที่พึ่ง ผู้ป่วยที่ได้รับการเจ็บป่วยที่ต้องมาโรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องการที่พึ่งทั้งคน บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

  • การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนอยู่บ้าน

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยเยียวยาที่ดีที่สุด คือ “สิ่งแวดล้อมที่เหมือนบ้านของผู้ป่วย” การอนุญาตให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้ชิดบุคคลที่เขาไว้วางใจ นำสิ่งของบางอย่างมาจากบ้าน เช่น ตุ๊กตาที่เด็กเคยนอนกอดทุกคืน ภาพถ่ายที่หัวนอนผู้ป่วย เทปเพลงที่ผู้ป่วยฟังเป็นประจำ เป็นต้น

  • พฤติกรรม บริการและบรรยากาศ

-คำพูด สีหน้า ท่าทาง ที่เป็นมิตรและเอื้ออารี การจัดบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสุขสดชื่นทั้งแสง สี เสียงและกลิ่น

-เสียงดนตรีที่มีความดังเหมาะสม จะช่วยสร้างบรรยากาศให้แก่ผู้ป่วย ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่

-สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก ควรทาสีอ่อนบริเวณฝาผนังเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสงบเย็น บริเวณที่ให้บริการเด็กควรใช้สีสดใสเพื่อดึงดูดและกระตุ้นความสนใจ หลีกเลี่ยงสีที่ทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า

- การติดวอลเปเปอร์หรือรูปภาพ เช่น ภาพคนยิ้ม เด็กหน้าตาหน้าเอ็นดู สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก นกสีสวย ดอกไม้ที่งดงาม วิวธรรมชาติ สายน้ำที่ฉ่ำเย็น ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ ไม่ควรติดภาพสัตว์ที่ดุร้าย ภาพทางการแพทย์ที่ดูน่ากลัว เศร้าและหดหู่

-กลิ่นเป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึก บางครั้งกลิ่นน้ำยาต่างๆ ในห้องตรวจโรค หอผู้ป่วย ห้องตรวจชันสูตร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้

พฤติกรรม บริการ และบรรยากาศที่ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น สอดคล้องกลับวิถีชีวิต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยในยามทุกข์จากโรคภัยเป็นสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่มีคุณค่าต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

อ้างอิงจาก สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์. (2553). คนไข้หัวเราะ คุณหมอที่รัก:สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

ข้อมูลจากคณะกรรมการคปอ. โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์