โรคปอดบวม เป็นโรคที่มีการอักเสบของถุงลมเล็กๆ ที่มีจำนวนนับล้านถุงในปอด ซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของทางเดินหายใจ โดยปกติถุงลมนี้ เป็นที่ให้ออกซิเจนจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อมีการอักเสบ ซึ่งอาจจะเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของปอดข้างหนึ่ง หรืออาจจะเป็นแบบกระจายทั่วๆ ไปในปอดทั้ง 2 ข้างก็ได้ เพราะฉะนั้น อาการในเด็กแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป อาจมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงมากได้

อาการ
อาการที่จะพบในเด็กคือ ไข้สูง ไอมาก อาจจะไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะก็ได้ หายใจเร็ว และถ้าเป็นมากจะดูหอบเหนื่อยได้ เวลาหายใจอาจจะเห็นจมูกบาน อาจจะได้ยินเสียงหายใจครืดคราด เนื่องจากมีเสมหะมาก และเหนียว ปอดบวมนี้อาจเป็นตามหลังไข้หวัด 2-3 วัน หรือเป็นตั้งแต่แรกเลยก็ได้ การจะดูว่าลูกหายใจเร็วหรือไม่ หมอแนะนำให้นับการหายใจของลูกขณะหลับ เปิดเสื้อขึ้นมาเล็กน้อย จะเห็นหน้าอกของลูกเคลื่อนขึ้นลง ตามจังหวะของการหายใจ ให้นับ 1 เมื่อหน้าอกลูกเคลื่อนขึ้น 1 ครั้ง นับ 2 เมื่อหน้าอกเคลื่อนขึ้นอีก 1 ครั้ง นับไปเรื่อยๆ จนครบ 1 นาที ถ้าลูกหายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที ก็แสดงว่า เริ่มมีการหายใจเร็วแล้ว ถ้าลูกมีอาการหอบด้วย คุณแม่จะสังเกตง่ายๆ ได้จากจะเห็นว่า ช่วงต่อระหว่างหน้าอก และท้อง มีการบุ๋มเข้าออกขณะหายใจ หรือมีจมูกบานเวลาหายใจ ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้บ่อยในเด็กพบได้ทั้งไวรัส และแบคทีเรีย

การวินิจฉัย
กุมารแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก ประวัติที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้คุณหมอฟัง เช่น อาการไข้ ไอ หอบ ว่ามีมากน้อยเพียงใด ร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยการฟังปอดของลูกโดยใช้เครื่องมือฟังที่หน้าอกของลูก หลายๆ ตำแหน่ง ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ก็จะสามารถบอกได้ว่า เป็นปอดบวมหรือไม่ ในบางรายที่ยังเป็นไม่มาก การฟังปอดดังกล่าวอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก จะต้องใช้การเอกซเรย์ปอดช่วยวินิจฉัยด้วย  กุมารแพทย์ทุกท่านจะไม่เอกซเรย์เด็ก โดยไม่จำเป็น จะทำเฉพาะในรายที่สมควร และจำเป็นจริงๆ เท่านั้น การเอกซเรย์แค่ครั้งสองครั้ง จะถูกรังสีน้อยมาก ไม่เป็นอันตราย

อาการที่ควรรีบพาไปพบแพทย์
1.    ไข้สูง 39-40 c จะอันตราย โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อาจจะทำให้ชักได้
2.    หายใจเร็ว หรือไอมาก
3.    หอบจนจมูกบาน หรือมีหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ หรือหายใจมีเสียงดัง
4.    ซึมลง

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

1. ในรายที่มีอาการมาก เช่น ไข้สูงมาก หายใจเร็วและหอบ แพทย์ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะต้องให้ออกซิเจนและความชื้น ให้น้ำให้เพียงพอ ให้ยาทางหลอดเลือดดำ อาจต้องช่วยเคาะปอด และดูดเอาเสมหะออก เพราะเด็กเล็กๆ จะขับเสมหะออกไม่เป็น
2. ในรายที่มีอาการปานกลาง เช่น ไข้ไม่สูง หายใจเร็วเล็กน้อย ไม่หอบ ยังสามารถเล่น กินน้ำนม และอาหารได้ดี แพทย์อาจใช้วิธีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 1-3 วัน และจะนัดมาดูอาการและฟังปอดทุกวัน ถ้าเห็นว่าดีขึ้นก็จะเปลี่ยนจากยาฉีดมาเป็นยากินแทน คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามป้อนยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง ทั้งปริมาณยา จำนวนครั้ง และจำนวนวัน ซึ่งต้องกินยานาน ประมาณ 7-10 วัน ควรให้ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะน้ำอุ่น จะช่วยละลายเสมหะของลูกไม่ให้เหนียว จะได้ไอออกมาได้ง่ายขึ้น
3. ในรายที่มีอาการน้อย ยังไม่มีอาการหายใจเร็ว แต่แพทย์เริ่มฟังเสียงผิดปกติในปอดได้นั้น อาจจะใช้แต่ยากินอย่างเดียว ไม่ต้องฉีดยาและแพทย์จะนัด มาฟังปอดอีก 2-3 วันต่อมา ถ้าอาการดีขึ้นก็จะให้ยากินต่อจนครบ
ในโรคปอดบวมนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่รีบหยุดยาเอง เมื่อเห็นลูกมีอาการดีขึ้น ควรกินยาจนครบ 7-10 วัน ตามแพทย์สั่ง ถ้าหยุดยาเร็วเกินไป อีก 2-3 วัน อาจจะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้

โรคแทรกซ้อน
ถ้ารักษาโรคปอดบวมช้า หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ อาจพบโรคแทรกซ้อนได้ คือ
1.    มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
2.    เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้โลหิตเป็นพิษ
3.    เป็นฝีในปอด

การติดต่อ
ติดต่อทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการไอหรือจาม เชื้อโรคก็จะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกาย ของผู้รับเชื้อทางปากและจมูก

การป้องกัน
1.    อย่าพาเด็กไปใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นหวัด หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม
2.    ไม่ควรพาเด็กไปที่มีคนแออัดมากๆ เพราะเด็กจะรับเชื้อต่างๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
3.    พยายามอย่าให้ถูกฝน หรืออาบน้ำสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป หรืออาบน้ำในเวลาที่มีอากาศเย็น

สรุปการดูแลลูกเมื่อเป็นปอดบวม
1.    พาไปพบแพทย์ และกินยาตามที่แพทย์สั่ง
2.    กินน้ำมากๆ โดยเฉพาะน้ำอุ่น
3.    พักผ่อนมากๆ อาจต้องหยุดโรงเรียนสักระยะหนึ่ง มิฉะนั้นจะไปแพร่กระจายเชื้อให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้
4.    ในเด็กเล็กถ้ามีน้ำมูกมาก อาจใช้ลูกยางแดงช่วยดูดออก ลูกจะโล่งจมูกขึ้น
5.    ควรเช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่น และอย่าให้ถูกอากาศที่เย็นจัด