เวียนศีรษะ อาการอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบประสาทในร่างกาย  การทรงตัวของร่างกายตามปกติ  จะประกอบด้วยการทำงานที่ประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน คือ สายตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูตอนใน โดยมีสมองเป็นตัวควบคุม แปลผลและสั่งการ  เช่น เราเดินบนถนน สายตาจะมองภาพสิ่งภายนอกที่สัมพันธ์กับร่างกายที่กำลังเคลื่อนที่ ประสาทความรู้สึกจะรับรู้ขาที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ส่วนหูชั้นในจะรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของร่างกายกับแรงโน้มถ่วงของโลก คลื่นสัญญาณต่างๆ เหล่านี้จะวิ่งมาที่สมอง สมองก็จะประมวลผลสัญญาณต่างๆ เหล่านี้ แล้วสั่งการให้อวัยวะส่วนต่างๆ รักษาความสมดุลของร่างกาย ให้เดินอย่างคล่องแคล่ว สมดุล และสง่างาม ในผู้ที่สูญเสียการทำงานของระบบควบคุมการทรงตัวเหล่านี้ ก็จะมีอาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ การรักษาสมดุลของร่างกาย และในความผิดปกตินี้บางครั้งทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ-บ้านหมุนขึ้นมาได้ ซึ่งแท้จริงแล้วอาการเวียนศีรษะ-บ้านหมุนเป็นลักษณะของกลุ่มอาการเท่านั้น โดยที่โรคอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดอาการแบนนี้ รวมๆ เรียกว่า เวียนศีรษะ-บ้านหมุน
อาการเวียนศีรษะหรือมึนศีรษะอาจเกิดขึ้นเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นความรู้สึกที่ว่าตัวเองหมุนไปรอบๆ หรือลักษณะที่สองหัวตัวเองอยู่นิ่งๆ แต่สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราหมุน อาการเวียนศีรษะเหล่านี้อาจเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอาจไม่หนักหรือรุนแรง แต่มีบางคนที่รุนแรงมากและเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นปัญหาประจำตัว หรือบางคนอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน เสียการทรงตัวจนเกิดการบาดเจ็บจากการหกล้ม หรือบางรายก็อาจเกิดอาการเป็นลมด้วยก็ได้

สาเหตุ
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคที่เกิดจากหินปูนหลุดในหูชั้นใน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน แต่มักจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดขึ้นตอนตื่นนอน พอพลิกตัวบนที่นอนหรือลุกจากที่นอนจะมีอาการเวียนศีรษะทันที บางครั้งอาการเวียนศีรษะที่เกิดจะรุนแรงมาก และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะของโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะ เช่น ก้ม เงย หรือล้มตัวลงนอน อาการอาจเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือเกิดต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ได้ โดยส่วนใหญ่โรคนี้จะหายได้เองเมื่อตะกอนหินปูนที่หลุดในหูชั้นในกลับเข้าที่หรือตกตะกอนไป
เกิดจากกระดูกสันหลังส่วนคอมีความผิดปกติ อาการเสื่อมตามวัยในคนสูงอายุ ซึ่งบางครั้งอาจจะสังเกตได้ว่า อาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นเวลาเงยหน้าหรือเอี้ยวคอมากๆ บางรายอาจเกิดภายหลังอุบัติเหตุรุนแรง อาจเป็นเพราะสมองได้รับความกระทบกระเทือน แล้วต่อมามีน้ำในโพรงสมองมากขึ้น
สาเหตุที่สำคัญ และมีอันตรายอีกอย่างหนึ่งคือ โรคที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคขาดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน แต่มักจะพบอาการอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น อาการอ่อนแรงของแขนหรือขา อาการชาหรืออาการเหมือนมดไต่อยู่ตามส่วนๆ ของร่างกาย นอกจากนี้อาจจะมีอาการพร่ามัว หรืออาการพูดลำบากร่วมด้วย ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นร่วมเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าต้องไปพบแพทย์โดยด่วน  
•    การอักเสบของประสาททรงตัว
•    เนื้องอกของประสาททรงตัว
•    ความผิดปกติของสมองและระบบประสาทกลางจากสาเหตุอื่นๆ
•    โรคทางกายอื่นๆ บางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ และโรคติดเชื้อบางอย่าง โรคทางหูและระบบการได้ยิน

การวินิจฉัย
ผู้ป่วยควรจะบอกสาเหตุ และลักษณะอาการเวียนศีรษะของตนเมื่อไปพบแพทย์เพื่อจะได้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
แนวทางการตรวจวินิจฉัย
คำบอกเล่าที่ผู้ป่วยมักเล่าให้แพทย์ฟัง คือ "รู้สึกเวียนศีรษะ เมื่อตื่นนอน และก่อนนอน รู้สึกว่าเพดาน ฝาบ้าน พื้นบ้านมีการหมุน มีตาพร่า อาการเป็นอยู่สักครู่ มีเสียงดังรบกวนในหูตลอด บางครั้งเดินๆ อยู่จะเซไปเอง โดยไม่รู้สึกตัว" แพทย์จะถามคำถาม เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดอาการเวียนศีรษะหมุน และแพทย์จะทำการตรวจต่างๆ ดังนี้

การตรวจร่างกาย
•    ตรวจทั่วไป
•    ตรวจหู คอ จมูก
•    ตรวจทางระบบประสาท

ตรวจด้วยเครื่องมือ
•    ตรวจการได้ยิน
•    ตรวจการทรงตัว
•    ตรวจภาพรังสีกระโหลกศีรษะ

การตรวจเลือด
•    เบาหวาน ไขมันในเลือด ซิฟิลิส

การตรวจสมองหรือระบบประสาทด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

สำหรับในกรณีที่มีอาการเฉียบพลัน วิธีที่ดีที่สุดคือการนอนราบลงไป หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนต้องระมัดระวังเรื่องการสำลัก หากอาการไม่รุนแรงการรับประทานยาแก้เวียนศีรษะจะช่วยได้  หากมีอาการร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การดูแลตัวเองเบื้องต้น
•    นอนพักจนอาการเริ่มดีขึ้น
•    อย่าเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน
•    หันศีรษะช้าๆ
•    หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เช่น เกลือ ยาบางชนิด
•    หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นเช่น ความเครียด ภูมิแพ้
•    หลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การขับยานพาหนะ การปีนบันได
•    หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะ เพราะอาจจะทำให้เกิดเมารถ เมาเรือ
•    หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน
•    ยาแก้เวียนศีรษะ เช่น meclizine, dimenhydrinate, promethazine, scopolamine, atropine และ diazepam

ควรจะไปพบแพทย์เมื่อ
•    การดูแลตนเองเบื้องต้นมักจะได้ผลเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งด้วยปัจจัยหลายๆ ประการ จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
•    เมื่อทำตามวิธีการดูแลด้วยตนเอง ข้างต้นแล้วผ่านไปอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์
•    มีอาการอาเจียนมาก กินยา และดื่มน้ำไม่ได้เลย หรือกินยาแล้วมีอาเจียนทุกครั้ง ร่างกายจะขาดน้ำ เกลือแร่ และยา อย่าฝืนทน ควรไปพบแพทย์เพื่อฉีดยา และบางรายอาจจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ในรายที่เป็นมากจริงๆ อาจจะต้องพักในโรงพยาบาล แต่มีเป็นส่วนน้อย
•    เมื่ออาการดีขึ้น แต่ไม่ยอมหายเป็นปกติเสียที ควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจจะมีสาเหตุบางอย่างซ่อนอยู่ ที่อาจจะจำเป็นต้องได้รับการค้นหา และรักษาที่ต้นเหตุ
•    เป็นบ่อยๆ มากๆ จนรบกวนชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ก็ต้องหาสาเหตุเช่นกัน หรือในรายที่ไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ การกินยาป้องกันไว้ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง

การป้องกัน
•    ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจค้นหาโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการเวียนศีรษะ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อบางอย่าง โรคของตา โรคทางหู และทางการได้ยิน โรคทางประสาท และสมอง
•    ระวังการใช้ยาที่เป็นพิษต่อประสาทหู ไม่ควรใช้ยารับประทาน ยาฉีด หรือยาหยอดหูเอง โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะยาฉีดรักษาวัณโรค หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ควรสังเกตอาการผิดปกติเกี่ยวกับหู เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู การได้ยินเลวลงกว่าปกติ หรือมีการเวียนศีรษะการทรงตัวที่ผิดปกติ เมื่อสังเกตว่าเริ่มมี

อาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
•    ระมัดระวังการหกล้มโดยเฉพาะศีรษะ อาจเกิดภาวะที่มีกะโหลกศีรษะแตกเกิดกระทบกระเทือนต่อหูชั้นในได้
•    ระวังอันตรายบริเวณต้นคอ อาจมีการเคลื่อนหักหรือฉีกขาดของกระดูกคอ หรือกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทอัตโนมัติบริเวณต้นคอ เช่น การออกกำลังกาย ทำให้มีอาการเวียนศีรษะได้
•    เมื่อรับประทานยาระงับอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น Dramamine ไปแล้ว ซึ่งยานี้จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ ดังนั้นข้อควรระวังเป็นอย่างมาก คืออย่าขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรืองานที่ต้องใช้สมาธิเพราะอาการง่วง มึนงง ที่เนื่องจากฤทธิ์ยาอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
•    ไม่ควรวิตกกังวลเกินเหตุเมื่อมีอาการเวียนศีรษะ หลายๆ โรคที่เป็นต้นเหตุไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต สามารถรักษาให้หายหรือทุเลาได้