engagement_400

ความผูกพันของบุคลากรต่อองค์กร (ตามความหมายของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล)หมายถึง ความมุ่งมั่นทั้งทางอารมณ์และสติปัญญา เพื่อให้งาน, ภารกิจ ขององค์กรบรรลุผล พูดง่ายๆ คือ พนักงานตั้งใจทำงานให้สำเร็จ เพื่อองค์กร เพราะรักในองค์กรของตนนั่นเอง บุคลากรที่มีความผูกพันต่อองค์กร จะรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร งานที่ได้รับมอบหมายมีคุณค่า มีแรงจูงใจสูงในการทำงาน จึงตั้งใจทำงานให้สำเร็จ จะใช้ความพยายามเพื่อให้งานออกมาดี

องค์กรใดมีความผูกพันของบุคลากรสูง ถือว่าเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพราะพนักงานที่มีความรักความผูกพันต่อองค์กร พร้อมจะให้ความร่วมมือและทุ่มเท เพื่อสร้างผลงานที่ดี แต่ความผูกพันของบุคลากร คงไม่สามารถเกิดขึ้นเอง ถ้าองค์กรไม่ได้สร้าง

การสร้างความผูกพัน ครอบคลุมถึงการสร้างความพึงพอใจ การสร้างแรงจูงใจ การสร้างความสัมพันธ์ต่อพนักงาน และการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร

ต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพัน ผู้นำระดับสูงขององค์กรต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า อะไรที่มีผลต่อความผูกพันของบุคลากรของตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่มักจะพบเสมอว่า ก่อนที่พนักงานจะเกิดความผูกพัน ต้องมีความพึงพอใจในองค์กรก่อน จึงจะผูกพัน เรียกว่า ต้องพึงพอใจก่อนถึงจะรัก แล้วอะไรที่ทำให้พึงพอใจ ซึ่งของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ไม่เหมือนกันอีก องค์กรต้องหาให้พบ

จากการศึกษา พบว่า 

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของบุคลากร

- ลักษณะงาน, ภาระงาน

- ค่าตอบแทน

- สวัสดิการ สิทธิประโยชน์

ปัจจัยร่วมที่มีผลต่อความผูกพันและความพึงพอใจ ที่มีความสำคัญ เช่น

- ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร, หัวหน้าแผนกกับพนักงาน

- ความร่วมมือในองค์กร การได้รับความไว้วางใจ

- ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความมั่นคงในงาน

- บรรยากาศในการทำงาน, การอยู่ร่วมกันเสมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน

ปัจจัยที่มีผลด้านความผูกพัน

- ความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ การได้รับการยอมรับ

- การใช้อำนาจตัดสินใจ

- การยกย่องชมเชย และการให้รางวัล

มักมีการตั้งคำถามว่า ระหว่างค่าตอบแทนกับบรรยากาศในที่ทำงาน อะไรสำคัญกว่ากัน ที่จะทำให้บุคลากรผูกพันกับองค์กร บ้างก็ว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเงิน ไม่สนใจอย่างอื่น แต่ถ้าคนรุ่นเก่า จะให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการทำงานมากกว่า ถ้าทำงานแล้วสบายใจ มีเจ้านายดี หัวหน้าดี เรื่องค่าตอบแทนถึงไม่มาก ก็รับได้ พึงพอใจ ทำงานต่อไปโดยไม่ต้องไปแสวงหางานใหม่ เป็นเช่นนี้จริงหรือ แต่ละองค์กรต้องติดตามประเมิน

สำหรับโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ มีการประเมินความรู้สึกของพนักงานทุกปี เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ของพนักงาน และนำมาปรับปรุง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพอใจ ที่ผลการสำรวจออกมาดีทุกปี ตัวอย่างของปี 2555 (สำรวจเมื่อ ธันวาคม 2555)


หัวข้อ เปอร์เซนต์(%)
1. ภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ 99
2. รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง, บริษัทเห็นคุณค่า 97
3. ภูมิใจเชื่อมั่นในผู้บริหาร 96
4. มีผู้บังคับบัญชาดี 95
5. มีเพื่อนร่วมงานดี 94
6. มีขวัญกำลังใจดีในการทำงาน 92
7. รับรู้ถึงความห่วงใย เมื่อพนักงานเจ็บป่วย 97
8. ได้ประโยชน์จากโครงการ ข้าว 5 บาท 94
9. พอใจการตรวจสุขภาพประจำปี 94
10. พอใจที่ผู้บริหารร่วมแสดงความเสียใจ กรณีพนักงาน หรือ ครอบครัวเสียชีวิต 98
11. มีความสุขกับการทำงาน 96.9
12. มีความผูกพันกับที่ทำงาน 96.9

ที่เป็นเช่นนี้ คงไม่ใช่ความบังเอิญ หรือพนักงานรู้สึกเอง โดยที่โรงพยาบาลไม่ได้สร้าง ไม่ได้ทำอะไร โรงพยาบาลเป็นแค่เพียงสถานที่ทำงาน ที่ลูกจ้างมาทำงานให้นายจ้าง ถึงเวลากลับบ้าน ตรงกันข้าม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ตลอดเวลา 32 ปี ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญต่อพนักงานเป็นที่สุด บริหารทรัพยากรบุคคล ภายใต้อุดมการณ์ “พนักงาน คือทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร” จึงทุ่มเทในการดูแลเอาใจใส่พนักงาน ทั้งด้านความสามารถในการทำงานและความเป็นอยู่ อาทิ การสอนงาน การพัฒนา ค่าตอบแทน สวัสดิการ สุขภาพพนักงาน สภาพแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงาน พนักงานสามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ทุกเวลา โดยใช้หลักการพนักงานเปรียบเสมือนพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ใช้ความรัก และความห่วงใยดูแลพนักงาน มุ่งหวังให้มีความสุขในการทำงาน เพื่อไปดูแลผู้ป่วยให้มีความสุข ตลอดจนมีความรักความผูกพันต่อองค์กร

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารจะต้องตระหนักว่า คงไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้บุคลากรทุกคนผูกพันอยู่กับองค์กรได้จนถึงเกษียณทุกคน  โดยไม่จากเราไปไหน เพราะบางคนมีเหตุผลความจำเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่ต้องเลือกดำเนินชีวิต แต่ในทุกวันเวลาขณะที่พนักงานทำงานอยู่กับเรา ต้องช่วยกันสร้างเสริมให้เกิดความสุขในที่ทำงาน ความรักความผูกพันจึงจะเกิดขึ้น

 

ความผูกพันของบุคลากรต่อองค์กร

engagement_1 engagement_2
engagement_3 engagement_4