"กินเค็มไม่ดีต่อสุขภาพ" จากสถิติทั่วทั้งโลกและรวมถึงประเทศไทยพบว่าคนในยุคปัจจุบันมีการกินอาหารที่มีรสเค็มเพิ่มมากขึ้นโดยจะพบว่ามีการได้รับปริมาณของเกลือเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าค่าปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน


สำหรับคนไทยที่กำหนดให้ได้รับเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา โดยที่มีโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม แต่ค่าเฉลี่ยของคนไทยคือได้รับเกลือประมาณวันละ 2 ช้อนชาโดยมีโซเดียมต่อวันมากกว่า 4,000 มิลลิกรัม การได้รับโซเดียมที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำจะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา

แหล่งที่มาของโซเดียม 
1. เครื่องปรุงอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมอยู่สูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ผงชูรส กะปิ ผงปรุงรส น้ำมันหอย เครื่องพริกแกง น้ำปลาร้า ผงฟู 
2. ประเภทของอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่เค็ม ลูกชิ้น ไส้กรอก แคบหมู ขนมถุงกรุบกรอบ อาหารดองเค็ม อาหารแช่อิ่ม อาหารตากแห้ง เครื่องดื่ม ขนมปัง 

ข้อควรระวังเมื่อชอบกินอาหารรสเค็ม 
1. จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มเป็นประจำจะมีพฤติกรรมการกินของหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานรสเค็ม เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในเกลือและสารที่ให้ความเค็มอื่น ๆ ร่างกายจะมีความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายที่สูงขึ้น และส่งผลให้ร่างกายต้องการน้ำเพราะจะรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น และจากงานวิจัยระบุว่าเครื่องดื่มที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ชอบรับประทานรสเค็มเลือกนั้นก็คือเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานจึงทำให้ได้รับน้ำตาลสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มมีความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่า 
2. โดยปกติแล้วระบบประสาทการรับรู้รสชาติของอาหารที่ลิ้นจะลดน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าคนที่ชอบกินอาหารรสเค็มจะเพิ่มความเค็มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ 
3. การกินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะไตเสื่อม เนื่องจากไตซึ่งเป็นอวัยวะที่กรองของเสียและน้ำออกนอกร่างกายจะต้องทำงานหนักเมื่อมีโซเดียมในร่างกายสูง และเมื่อต้องทำงานหนักเป็นประจำไตก็จะเสื่อมเร็วขึ้น 
4. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องมาจากการที่ร่างกายได้รับโซเดียมจะไปเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตที่สูงขึ้นและหัวใจทำงานหนักมากขึ้น 
5. การได้รับปริมาณของโซเดียมสูงในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม 

วิธีการลดปริมาณโซเดียมจากอาหาร 
1. เน้นการกินอาหารสดมากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป 
2. หลีกเลี่ยงหรือกินแต่น้อยสำหรับอาหารที่มีรสเค็มมากเช่น อาหารดองเค็ม อาหารกระป๋อง อาหารตากแห้งเค็ม 
3. ชิมอาหารก่อนปรุง หากจะใส่เครื่องปรุงควรใส่ทีละน้อย 
4. ใช้เครื่องจิ้มต่าง ๆ ในปริมาณน้อย เช่น น้ำจิ้มไก่ ซีอิ๊วหวาน น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริกต่างๆ เพราะมักจะมีรสเค็ม 
5. อ่านฉลากโภชนาการในปริมาณของโซเดียมทั้งหมด
6. ใช้สมุนไพรในการปรุงประกอบอาหารจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้นโดยช่วยลดการเติมเกลือลงในอาหาร


ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์