ปัจจุบันพบอัตราการเกิดภาวะกระดูกหัก ข้อเคลื่อน เป็นมากขึ้นมาจากสภาพจราจรและอุบัติเหตุอื่นๆเมื่อเกิดกระดูกหักหรือข้อเคลื่อนแล้วการรักษาส่วนใหญ่มักลงเอยโดยการดัด ดึงกระดูก ใส่เฝือกหรือทำการผ่าตัดดามกระดูกที่หักไว้ 

ปัจจัยที่มีผลทำให้กระดูกติดช้าหรือเร็ว

 1.ปัจจัยภายใน - อายุ  ตำแหน่งกระดูกที่หัก  โรคประจำตัวอื่นๆ ความรุนแรงของอุบัติเหตุอันทำให้เกิดความชอกช้ำของเนื้อเยื่ออ่อนหรือหลอดเลือดไปเลี้ยงกระดูกถูกทำลายมากขึ้น

2.ปัจจัยภายนอก อาหารที่มีแคลเซียมสูง ต้องได้รับร่วมกับวิตามินดีจากแสงแดดด้วยจึงจะได้ผล  ยาบางชนิดที่ทำให้กระดูกบางลงเช่นสเตียรอยด์  บุหรี่ กาแฟ ทำให้กระดูกติดช้าลงเช่นกัน  การใส่เฝือกขาในช่วงแรกแพทย์อาจยังไม่ให้ลงน้ำหนักขาข้างนั้นหากลงเดินก่อนกระดูกอาจมีการขยับตัวมากเกินไปจนติดได้ช้าหรือไม่ติด

ทำไมต้องใส่ เฝือก
แพทย์จะใส่เฝือก เพื่อช่วยพยุงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ช่วยป้องกันการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ลดบวม และ ลดกล้ามเนื้อหดเกร็ง ป้องกันไม่ให้กระดูกที่จัดเข้าที่แล้วเกิดการเคลื่อนที่ผิดรูปขึ้นอีก

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการเข้าเฝือก

1.ห้ามเฝือกถูกน้ำ เพราะเฝือกจะนิ่มและมีราขึ้นได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยอาบน้ำให้ใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่สวมให้มิดชิด

2.ห้ามใช้วัสดุใดๆสอดเข้าไปในเฝือก ในกรณีที่มีอาการคันให้ขอยาแก้คันจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กๆ ผู้ปกครองควรระวังไม่ให้เด็กเอาอะไรใส่เข้าไป เช่น ของเล่นเด็ก เพราะทำให้เกิดแผลจากการกดทับขึ้นได้

3.พยายามยกอวัยวะที่ใส่เฝือกไว้สูงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอาการบวม เช่น เวลานอน ถ้าเป็นแขนให้เอาหมอนรองหน้าอกแล้ววางแขนที่ใส่เฝือกไว้บนหมอนรองอีกทีหนึ่ง ส่วนขาก็ใช้หมอนรองให้สูงกว่าหัวใจเช่นกัน

4.รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์  วิตามินและแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างซ่อมแซมกระดูกและกล้ามเนื้อ

5.ขณะเข้าเฝือกพยายามใช้กล้ามเนื้อส่วนที่ไม่ได้เข้าเฝือกออกกำลังกายกล้ามเนื้อและข้อที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่ใส่เฝือกจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดี

6.ไม่ควรวิ่ง เล่นกีฬา เนื่องจากจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในตำแหน่งที่กระดูกหักเกิดการเคลื่อนตัวผิดรูปได้และที่สำคัญจะทำให้เฝือกสกปรก หลวม คัน เนื่องจากมีเหงื่อออกมาก สำลีชั้นในเมื่อถูกน้ำก็จะลีบลงทำให้เกิดการหลวมของเฝือก

7.การดัดแปลง ปรับแต่งหรือผ่าเฝือกออกเอง นอกจากจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรแล้วอาจจะทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาเป็นวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด

8.ในกรณีที่อาการ บวม นิ้วเขียว เคลื่อนไหวนิ้วไม่ได้ เฝือกมีกลิ่นเหม็น  มีไข้ ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

9.มาตรวจตามนัด


ที่มาจาก PCT  ออร์โธปิดิกส์ รพ.สำโรงการแพทย์