กระดูกหักและข้อเคลื่อนบริเวณข้อศอกในเด็ก

เด็กๆ เป็นวัยที่ซุกซน โดยเฉพาะเด็กที่เก่งๆ มักจะไม่อยู่นิ่ง มักชอบปีนป่าย หกล้ม ได้รับบาดเจ็บที่แขน ขา ได้บ่อยๆ วันนี้จะขอเล่าให้ฟัง และเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอันตรายบริเวณข้อศอกในเด็กถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เด็กอาจจะแขนคอก พิการไม่สวยงาม เสียอนาคตได้

1.Supracondylar Fracture ของกระดูกต้นแขน

  • เป็นกระดูกหักและข้อเคลื่อน บริเวณข้อศอกที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก
  • สาเหตุ มักเกิดจากการหกล้ม มือเท้ายันพื้นในท่าข้อศอกเหยียดตรง
  • ลักษณะของรอยกระดูกหัก ส่วนมากชิ้นล่าง จะเคลื่อนไปด้านหลัง อาจจะมีการหมุนรอบแกนกระดูกต้นแขนในแนวดิ่งด้วย
  • ตรวจร่างกายเด็ก จะพบอาการปวด บวมบริเวณข้อศอก ถ้าชิ้นกระดูกหักเคลื่อนแยกมากๆ จะเห็นความพิการผิดรูป บริเวณข้อศอกอย่างชัดเจน
  • หลักการรักษา ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนไม่มากหมอจะดึงดัดกระดูกให้เข้าที่ ภายใต้การระงับความรู้สึกที่เหมาะสม ใส่เฝือกไว้ในท่างอข้อศอก 3-5 อาทิตย์ก็เพียงพอ
  • แต่ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนมาก จำเป็นต้องผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่โลหะดามกระดูกไว้ มิฉะนั้นข้อศอกเด็กอาจจะติดผิดรูป แขนคอกได้ (Cubitus Varus) และถ้าเนื้อเยื่ออ่อนบวมมาก กระดูกกดทับเส้นเลือดแดงใหญ่ที่มาเลี้ยงแขนท่อนล่างและมือ เกิดการขาดเลือด (Volkmann?s ischemic contracture) โดยไม่ได้รับการแก้ไข มือเด็กก็จะหงิก พิการใช้งานไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาโดยรีบด่วน
  • 2.การหักของ Lateral condyle ของกระดูกต้นแขน

  • เป็นกระดูกหักและข้อเคลื่อนที่ บริเวณข้อศอกที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองในเด็ก
  • ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ศูนย์การเจริญของกระดูก (Growth Plate) เสียก่อน
  • กระดูกจะโตยืดยาวไปได้ จะโตจากศูนย์การเจริญของกระดูก (Growth Plate) นี้
  • Lateral condyle เป็นศูนย์การเจริญของกระดูกจะหยุดโตเมื่อเกิดแตกหักข้อศอกด้านนอกจะหยุดขยายยืดยาวออกข้อศอกเด็กจะโตเฉพาะด้านใน แขนเด็กจะคอกในท่าโก่งออกนอก (Cubitus Varus) เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แขนจะโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ กดทับเส้นประสาทอัลน่า (Tardy ulnar nerve pulsy) มือเด็กจะค่อยๆหงิกจนพิการในที่สุด
  • กระดูก Lateral condyle หัก มักเกิดจากการหกล้มมือเท้าพื้นข้อศอกเหยียดตรง ข้อศอกบวมบริเวณด้านนอกมาก ขยับเคลื่อนไหวจะเจ็บ
  • ปัญหา คือ การวินิจฉัย มักจะคิดว่าเด็กแค่ข้อศอกเคล็ดขัดยอก ทำให้พลาดไปได้
  • หลักการรักษา ถ้าชิ้นกระดูกที่หักไม่เคลื่อนมาก (Stage l) การรักษาแคดัดดึงกระดูกให้เข้าที่ ภายใต้การระงับความรู้สึกที่เหมาะสมใส่เฝือก ประคองไว้ก็เพียงพอ ข้อควรระวัง คือ บริเวณที่มีเส้นเอ้นในการเหยียดแขน (Extensor) มาเกาะคอยดึงไว้ให้ขึ้น กระดูกที่หักเคลื่อนที่หลุดออกมาอยู่เรื่อยๆ จำเป็นต้องตรวจภาพทางรังสีเป็นระยะๆ ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนออกมาเป็น Stage ll หรือ lll มีความจำเป็นต้องผ่าตัด จัดกระดูกให้เข้าที่ ยึดตรึงด้วยเหล็ก มิฉะนั้น ข้อศอกเด็กอาจจะพิการได้ ตามที่ดังกล่าวแล้วข้างบน
  • เห็นมั้ยครับ บุตรหลานของท่าน เพียงแค่ล้ม ข้อศอกบวมซ้ำ มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัย ให้แน่นอนว่า กระดูกหักและข้อเคลื่อนหรือไม่เคลื่อนไปมากน้อยแค่ไหน ถ้ารักษาไม่ถูกต้องหรือไปหาหมอน้ำมัน  อาจพิการแขนคอก มือหงิก เสียอนาคตได้

    ข้อมูลจาก นายแพทย์ประเสริฐ  ประกายรุ้งทอง  ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์