โรคหลอดเลือดสมองหรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า “ โรคอัมพฤกษ์ ” หรือ “ อัมพาต ” เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้
•  โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
•  โรคหลอดเลือดสมองแตก
ทั้ง 2 ชนิดจะทำให้สมองส่วนที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอหรือมีก้อนเลือดออกสูญเสียการทำงานในการควบคุมการทำงานของร่างกายอย่าง ทันทีทันใด ทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
•  อาการอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
•  ตามองไม่เห็นภาพซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งหมด
•  มองเห็นภาพซ้อน
•  มีความผิดปกติของการใช้ภาษา เช่น พูดไม่คล่อง ใช้ภาษาผิดหรือไม่เข้าใจภาษา
•  เวียนศีรษะ บ้านหมุน
•  ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
•  พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก
•  ความจำเสื่อม หรือหลงลืมอย่างทันทีทันใด
•  ซึม หมดสติ
หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลายลักษณะ คือ บางคนจะดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง บางคนอาการแย่ลงภายใน 1-3 วันแรกจากหลอดเลือดสมองมีการอุดตันมากขึ้น บางคนอาการมากที่สุดในตอนแรกเกิดอาการและคงที่ และบางคนเกิดปัญหาสมองบวมตามมาซึ่งอาจทำให้อาการทรุดหนักซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดภายใน 3-4 วันแรก หลังจากพ้นระยะนี้ไปจะเป็นช่วงการฟื้นตัว ซึ่งแต่ละคนจะมีการฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน บางรายสามารถฟื้นได้เป็นปกติ บางรายอาจยังมีความพิการหลงเหลืออยู่

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูอาการต่อไป หากเกิน 3 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด เช่น
•    รักษาโดยการให้ยาบางประเภท เพื่อให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด โดยระยะแรกๆ ควรจะดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน อย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อน บำบัดรักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ปอดบวม กลืนลำบาก เป็นต้น
•    ใช้กายภาพบำบัดในรายที่เป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่ง ยืน เดิน การฝึกกลืน ฯลฯ
•    ในรายที่ซึมเศร้า เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต มักจะให้การรักษาโดยใช้จิตบำบัดร่วมด้วย
•    ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองหรือเป็นอิสระมากที่สุด ผู้ป่วยบางรายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทีมแพทย์และพยาบาล ควรจะมีการติดตามอาการผู้ป่วยขณะบำบัดอย่างต่อเนื่องด้วย

ปัจจัยเสี่ยง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถแก้ไขได้ และเป็นการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
•  โรคความดันโลหิตสูง
•  โรคเบาหวาน
•  โรคไขมันในเลือดสูง
•  โรคหัวใจโดยเฉพาะลิ้นหัวใจผิดปกติและหัวใจเต้นผิดจังหวะ
•  การสูบบุหรี่
•  ปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่นๆที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้และควรแก้ไข ได้แก่ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย ภาวะเครียด ดื่มสุรา รับประทานยาคุมกำเนิด เป็นต้น

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำได้โดย
•  ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี วัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ ตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องควบคุมและติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
•  เลิกสูบบุหรี่ พบว่าการเลิกสูบบุหรี่สามารถลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ครึ่งหนึ่ง
•  ลดน้ำหนักถ้ามีน้ำหนักเกิน
•  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
•  ผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
•  ในรายที่มีความเสี่ยงอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยากันเลือดแข็งตัวเพื่อป้องกันอัมพาต ควรปฏิบัติตัวและติดตามการรักษาตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
•  ในรายที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ต้องรับประทานยาป้องกันการเกิดซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่งดยาเอง
•  ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
การจะทราบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เป็น โรคหลอดเลือดสมอง หรือไม่ เป็นที่จุดใด มีความรุนแรงเพียงใดนั้น ควรทำการตรวจโดยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ให้ผลละเอียดและมีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI และ MRA) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Doppler : TCD) และการตรวจหลอดเลือดคอ เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้มีความละเอียดแม่นยำมากพอ ที่จะช่วยทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สัญญาณอาการโรคหลอดเลือดสมอง
เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมอง สามารถมีอาการได้หลายแบบ ซึ่งก็จะเป็นไปตามบริเวณของสมองที่เลี้ยงด้วยหลอดเลือดต่างๆ กัน
แต่มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ อาการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองจะต้องเกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่พบบ่อยคือ

1. อาการอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกของร่างกายทันทีทันใด
2. อาการตามัว หรือมองไม่เห็นทันที โดยเฉพาะที่เป็นข้างเดียว หรืออาจเห็นแสงที่ผิดปกติหรือเห็นภาพซ้อน
3. ภาวะที่มีอาการชาหรืออ่อนแรงของใบหน้าซีกใดซีกหนื่ง
4. ปากเบี้ยว
5. พูดตะกุกตะกัก พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูดทันทีทันใด
6. ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน
7. เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินลำบาก หรือเป็นลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการดังกล่าวมาแล้วร่วมด้วย
8. กลืนอาหารสำลักบ่อยๆ

การรักษา
1. แพทย์ก็จะซักประวัติตรวจร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่
2. การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหลอดเลือดสมองนั้นเกิดจากหลอดเลือดอุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง  การรักษา 2 ภาวะนี้แตกต่างกัน
 
  • ถ้า เกิดจากการที่มีเลือดออกในสมอง ถ้าเป็นขนาดเล็ก อยู่ลึกในเนื้อสมอง และผู้ป่วยไม่ซึม อาการคงที่ตลอด ในกรณีนี้อาจไม่ต้องผ่าตัดเพื่อเอาเลือดออก รอให้เลือดถูกดูดซับกลับไปเองได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีขนาดก้อนเลือดใหญ่ ผู้ป่วยซึมลงหรืออาการทางสมองเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก
  • ถ้า เกิดจากหลอดเลือดอุดตัน ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วกว่า 4.5 ชั่วโมง จะมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยผู้ป่วยจะต้องไม่มีข้อห้ามในการให้ยาชนิดนี้ แต่ถ้ามาพบแพทย์หลัง 4.5 ชั่วโมง หรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แพทย์ก็จะเลือกให้ยาต้านเกล็ดเลือด ส่วนในผู้ป่วยที่พบว่าสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดสมองเกิดจากก้อนเลือด ที่หัวใจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง แพทย์ก็จะเลือกให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแทน
3. การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

คำแนะนำในการปฏิบัติตัว
1. การ รับประทานอาหารที่ถูกต้อง รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และมีปริมาณเพียงพอ ลดอาหารเค็มหรือเกลือมาก รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น  ผัก  ผลไม้  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก  โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น  มันหมู  มันไก่  กะทิมะพร้าว รวมทั้งอาหารหวานจัด การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีสุขภาพดี
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าทำแบบหักโหมและนานๆ  ในครั้งหนึ่งๆ
3. งดสูบบุหรี่ นิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดของสมองและหัวใจตีบตันได้ง่าย
4. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง  เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ถ้าพบปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
5. การควบคุมน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
6. รู้จักผ่อนคลายความตึงเครียดและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งแจ่มใส
7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
8. ในรายที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำมากกว่าคนปกติ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยาเองเด็ดขาด
9. เมื่อมีอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที