อาการชักในเด็กมีหลายรูปแบบขึ้นกับว่าสมองส่วนใดที่ทำงานผิดปกติ เด็กบางคนอาจมีแค่อาการเหม่อลอยช่วงสั้นๆเหมือนใจลอย โดยไม่มีอาการเกร็งหรือกระตุกของร่างกายให้เห็น บางคนอาจมีอาการเหมือนเป็นลมล้มลงทันที

โรคลมชักบางชนิดสามารถทำให้เด็กมีอาการชักได้หลายรูปแบบ อาการชักบางประเภทเกิดเฉพาะบางช่วงอายุเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ รูปแบบอาการชักในแต่ละช่วงอายุจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกชนิดของโรคลมชักในเด็กได้ชัดเจนขึ้น
อาการชัก  ไม่ใช่แค่เกร็งกระตุกทั้งตัว  อาการชักที่เป็นที่รู้จักกันดี และสามารถสังเกตได้ชัดเจนคือ อาการเกร็งกระตุกทั้งตัว ตาเหลือก และหมดสติไม่รู้สึกตัว ซึ่งสมัยก่อนเรียก อาการชักเช่นนี้ว่า “ลมบ้าหมู” นอกจากนี้ยังมีอาการชักบางประเภทที่ผู้ป่วยอาจไม่ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ได้แก่

1.    อาการชักเฉพาะส่วน (Partial Seizure) เช่น อาการกระตุกของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ใบหน้า อาการคลื่นไส้ปวดท้อง อาการกลัวหรือความรู้สึกแปลกๆ อาการเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะส่วนจะรู้สึกตัวดี สามารถพูดคุยได้ระหว่างที่ชัก แต่ในบางรายอาจหมดสติในระยะเวลาต่อมา

2.    อาการชักแบบซับซ้อน (Complex Partial Seizure) ผู้ป่วยมักมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น อาการกลัว อาการปวดท้อง คลื่นไส้ ต่อมาผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ในช่วงที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ และซ้ำๆ เช่น ทำปากขมุบขมิบ เคี้ยวปาก ขยับมือไปมา หรือ ใช้มือขยำเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว เมื่อหยุดชักมักมีอาการอ่อนเพลีย หรือสับสน และจำเหตุการณ์ขณะชักไม่ได้

3.    อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence Seizure) พบได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายคล้ายๆกับอาการเหม่อ เป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาที อาจมีกระพริบตาถี่ๆร่วมด้วย โดยไม่มีการกระตุกของแขนขาระหว่างชัก หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับมาคุย หรือเล่นต่อได้ตามปกติ

4.    อาการกระตุกแขนขาเป็นชุดๆ (Infantile Spasm) พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 3 เดือนถึง 1ปี เด็กมีอาการกระตุกแขนขาสองข้างโอบเข้าหาตัวและศีรษะกระตุกก้มเป็นจังหวะเหมือนพยักหน้า (Flexion Type) หรือแขนขาสองข้างเหยียดออกไปข้างหลังและศีรษะกระตุกเงยขึ้นเป็นจังหวะ (Extentsion Type) หรือสองแบบรวมกัน อาการกระตุกดังกล่าวมักเกิดเป็นชุดๆติดต่อกัน บางครั้งมีอาการได้มากเป็นหลายร้อยครั้งต่อวัน

5.    อาการชักแบบตัวอ่อน (Atonic Seizure) ผู้ป่วยจะไม่อาการเกร็งกระตุกให้เห็น แต่ชักแบบตัวอ่อน ไม่มีแรงหมดสติล้มลงทันที อาการคล้ายคนเป็นลม แต่ลักษณะชักเช่นนี้เกิดอย่างรวดเร็วไม่มีอาการเตือนมาก่อน
ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการชักได้หลายแบบในคนเดียวกัน (Lennox-Gastaut Sydrome) เช่นบางครั้งชักแบบเหม่อนิ่ง ต่อมาชักแบบซับซ้อน หรือกระตุกบางส่วนร่วมกับมีการพัฒนาการช้ากว่าปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการชักหลายแบบมักจะควบคุมอาการได้ยาก

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น