การบริหารองค์กร ด้วยความรัก
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
การบริหารองค์กร ด้วยความรัก (พนักงาน)
...นำพาสู่ความสำเร็จ
การบริหารองค์กรด้วยความรักต่อพนักงาน ช่วยนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ นอกจากพัฒนาให้เขามีความรู้ความสามารถเป็นคนเก่ง หล่อหลอมปลูกฝังให้เป็นคนดี แล้วต้องดูแลจัดสวัสดิการให้เพียงพอ ตลอดจนต้องสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วย อย่างที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ได้ยึดถือปฏิบัติเสมอมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลฯ
โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ มีนโยบายด้านการจัดสวัสดิการ ดังนี้
“บริษัท จะจัดสวัสดิการ ยึดหลักตามที่กฎหมายกำหนด และจะเพิ่มเติมโดยคำนึงประโยชน์ความจำเป็นความสำคัญต่อพนักงานและครอบครัวเป็นหลัก”
และมีนโยบายด้านแรงงานสัมพันธ์ ดังนี้
“บริษัท จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างฝ่ายจัดการกับพนักงานในการอยู่ร่วมกัน ใช้หลักการบริหารการมีส่วนร่วม เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อเกิดขวัญและกำลังใจ นำมาซึ่งความสุขในองค์กร”
ทั้ง 2 นโยบาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักต่อพนักงาน เห็นว่า“พนักงาน คือ ทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กร"
แนวคิดในการบริหารองค์กร ที่ยึดหลักการให้ความรัก ความสำคัญต่อพนักงานของโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ สามารถยืนยันหรือตอกย้ำความชัดเจนได้จากคำกล่าวของคุณโสรัชย์ วงศ์แพทย์ กรรมการผู้จัดการ ในโอกาสที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน 5 ปี ซ้อนเมื่อปี 2553 (ปัจจุบันได้รับรางวัลนี้เป็นปีที่ 6)
คำกล่าวของคุณโสรัชย์ วงศ์แพทย์ กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ในโอกาสรับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน (ประจำปี 2553 5 ปีซ้อน)
คุณโสรัชย์ วงศ์แพทย์ กรรมการผู้จัดการ |
รางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำให้ลูกจ้างได้รับความสะดวกสบาย มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ลูกจ้างมีความรักและผูกพันต่อองค์กร ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มผลผลิตแก่องค์กรและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกิจการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ผมในฐานะนายจ้างของโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ (บริษัท เอส. เมดิคอล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด) ขอเปิดเผยว่า จากการที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ได้รับการพิจารณารางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้าน แรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานดีเด่น 5 ปี ติดต่อกันนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากปณิธานของท่านผู้ก่อตั้งกิจการ และความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในองค์กรของเรา ที่มุ่งมั่นในการสร้างเสริมองค์กรให้เจริญก้าวหน้า โดยถือหลักการ " สร้างคน ก่อนสร้างงาน " ทำให้วันนี้เราเป็นกิจการที่เต็มไปด้วยพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและความถนัดเฉพาะด้าน ที่สามารถสร้างความแตกต่างในการให้บริการได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ กิจการโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาปิดทำการนั้น ความพร้อมในการให้บริการเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด เพราะอาจหมายถึงชีวิตอันมีค่าของผู้ป่วยได้
|
ในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ผู้บริหารโรงพยาบาลจะต้องทำให้แน่ใจว่า โรงพยาบาลมีอัตรากำลังพลที่พอเพียง และมีความสามารถประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่บริการอย่างเหมาะสมทั้งนี้ การบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีสวัสดิการที่เหมาะสม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะเป็นหลักประกันความพร้อมในเรื่องทรัพยากรบุคคล เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตขึ้นในองค์กร แรงงานสัมพันธ์อันดีนี้เองที่จะช่วยประคับประคององค์กรให้สามารถขับเคลื่อนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
ย้อนหลังไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการวัดใจกันได้เป็นอย่างดี ช่วงที่ยากลำบากที่สุด เราถึงกับไม่มีโบนัส และไม่ได้ขึ้นเงินเดือนติดต่อกันถึง 5 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดี ความเข้าใจจากความใกล้ชิดกับพนักงาน สุดท้ายเราก็สามารถฟันฝ่ามาได้จนวิกฤตผ่านพ้นไป โดยเราไม่มีนโยบายจ้างออกหรือให้ออกแม้แต่คนเดียว และการที่นายจ้างและลูกจ้างสามารถร่วมกันเช่นนี้สำเร็จ จึงส่งผลให้เกิดการยกระดับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในเวลาต่อมา เปรียบเหมือนลูกเรือและกัปตันที่พึ่งผ่านพายุมรสุมกลางทะเลมาด้วยกัน ย่อมเข้าใจกันมากขึ้น
ปัจจุบันความท้าทายในการบริหารทรัพยากรบุคคล ได้เปลี่ยนไปจากเดิม อัตราการลาออก (Turnover Rate) กลับเป็นประเด็นที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สายวิชาชีพซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลน การบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีสวัสดิการที่เหมาะสมยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ผู้บริหารใช้ในการสร้างการยอมรับ ความไว้ใจ ความรู้สึกที่ดีต่อกัน การสร้างความเข้าใจนั้น จะต้องใช้ “การสื่อสาร” เป็นเครื่องมือที่สำคัญ กิจกรรมการสื่อสาร จะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอธิบาย ชี้แจงเหตุผล การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ดังนั้น ผู้บริหารโรงพยาบาลฯ จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะกรรมการสวัสดิการเป็นอย่างมาก เพราะคณะกรรมการฯ เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของพนักงาน จึงถือว่าเป็นตัวแทนของพนักงานโดยสมบูรณ์ เป็นโอกาสอันดีที่จะให้พนักงานมีส่วนร่วมในการออกแบบสวัสดิการที่ตรงกับใจของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน การจัดอัตรากำลังพล การกำหนดค่าตอบแทน การเพิ่มเบี้ยเลี้ยง การจัดสวัสดิการอาหาร การออกแบบยูนิฟอร์มใหม่ การจัดสัมมนาฝึกอบรมภายใน และการพาไปทัศนาจร รวมถึง การพาเพื่อนพนักงานไปทำบุญ ฯลฯ
ทฤษฎีการแรงงานสัมพันธ์จากประเทศตะวันตก ตามแบบที่สอนกันอยู่ในสถาบันการศึกษาซึ่งผู้บริหารสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรนั้น มีอยู่หลายทฤษฎี แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง จะมีที่ลดการเผชิญหน้าลงมาบ้าง ก็คือ ทฤษฎีพหุนิยมและทฤษฎีประชาธิปไตยในอุตสาหกรรม แม้ว่าทฤษฎีพหุนิยมจะยอมรับว่าสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของลูกจ้าง แต่ในทางปฏิบัติก็มักจะเกิดการเผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากการไม่ยอมรับสหภาพแรงงาน ในขณะที่ทฤษฎีประชาธิปไตยในอุตสาหกรรมนั้น มุ่งให้คนงานเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจถึงขั้นให้คนงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการ แต่ก็มีความเป็นไปได้ยากมากในทางปฏิบัติ
สำหรับโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เราเลือกที่จะเดินสายกลาง คือ การนำเอาหลักธรรมคำสอนตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ในเรื่องทิศทั้ง 6 ในส่วนที่ว่าด้วยทิศที่ 5 ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น ทฤษฎีแรงงานสัมพันธ์ตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไว้ ดังต่อไปนี้
นายจ้างพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดงานให้ตามความเหมาะสมกับ กำลัง เพศ วัย ความสามารถ
(2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
(3) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้
(4) มีอะไรได้พิเศษมาก็แบ่งปันให้
(5) ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร
ลูกจ้างพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) เริ่มทำงานก่อน
(2) เลิกงานทีหลัง
(3) เอาแต่ของที่นายให้
(4) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
(5) นำความดีของนายและกิจการไปเผยแพร่
เราเชื่อว่าหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ข้างต้น ถือเป็นหลักสำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ได้ทั้งหมด เช่น ในเรื่องการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง การจัดสวัสดิการ ซึ่งถ้าหากจะได้นำไปใช้ปฏิบัติร่วมกับหลักคำสอนอื่นๆ เช่น หลักพรหมวิหาร ๔ หลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ การละเว้นอคติ 4 ประการ และหลักธรรมอื่นประกอบกันเข้า ผมเชื่อว่าจะทำให้การแรงงานสัมพันธ์ในกิจการของเรามีความสงบสุขและมีความมั่นคง
สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่มอบโอกาสให้ทางโรงพยาบาล ได้แสดงความตั้งใจในการพัฒนาแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะชน ด้วยการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้
สำหรับพนักงาน ผมนึกเสมอว่า ความสุขของพนักงาน คือหลักประกันคุณภาพการให้บริการ หากพนักงานไม่มีความสุขในการทำงานแล้วงานจะออกมาดีได้อย่างไร พนักงานคือ....ทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กร ถ้าไม่มีพนักงานที่ดีเราคงแย่ เราไม่มีทางทำอะไรให้สำเร็จได้เลย ถ้าเราไม่มีพนักงานที่ดีที่รักองค์กร เพราะฉะนั้นเราจึงสมควรทุ่มเททำทุกอย่างให้พนักงานอยู่ได้แบบมีความสุข แล้วอยู่ได้กันแบบยั่งยืนสืบไป ขอบคุณครับ
โสรัชย์ วงศ์แพทย์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เอส. เมดิคอล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
(โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์)