วิธีสังเกตอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
สามารถแบ่งอาการที่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้เป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1
มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรงโดยมักเจ็บหน้าอกแบบแน่นๆบีบๆหรือหนักๆที่หน้าอกตรงกลางหรือหน้าอกด้านซ้ายโดยอาการเจ็บหน้าอกอาจร้าวไปที่ขากรรไกรล่าง กราม หัวไหล่ หรือท้อง แขนด้านซ้ายหรือทั้งสองข้างก็ได้และมักเป็นอยู่ไม่นานประมาณ 5 ถึง 10 นาที อาการมักจะดีขึ้นหรือหายไปได้เมื่อหยุดพัก

ระดับที่ 2
มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักและอาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นรุนแรงมากขึ้นเป็นนานมากขึ้นประมาณ 10 ถึง 20 นาที และเป็นบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิมโดยอาการอาจทุเลาลงได้เมื่อหยุดพักหรืออาจไม่ดีขึ้นแต่ตรวจไม่พบมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ

ระดับที่ 3
มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักโดยมักมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใดอาการเจ็บหน้าอกมักเป็นรุนแรงและเป็นนานกว่า 30 นาทีขึ้นไปโดยมักมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจไม่สะดวกหน้ามืดหรือเป็นลม และตรวจพบว่ามีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจร่วมด้วย 

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วนเนื่องจากมีอาการรุนแรงและเฉียบพลันซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการของตนเองว่ามีลักษณะอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดร่วมด้วยหรือไม่และควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับที่ 3 ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีเนื่องจากมีอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ และถ้าพบคนหมดสติจากภาวะฉุกเฉินทางหัวใจผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนเป็นลำดับแรก

ซึ่งถ้าผู้ที่ให้การช่วยเหลือเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์อยู่เลยอาจให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยโทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1669,191 หรือเบอร์หน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลใดๆก็ได้เพื่อให้มาทำการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยทันทีทันใดหรือรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อนถ้าต้องใช้ระยะเวลานานในการรอเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินที่จะมาให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ ส่วนผู้ที่ให้การช่วยเหลือที่เคยผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนหมดสติมาบ้างแล้วควรทำการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยพิจารณาดูว่าผู้ป่วยยังหายใจได้เองเพียงพอหรือไม่และคลำชีพจรที่บริเวณคอข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วยเพื่อดูว่าผู้ป่วยยังมีชีพจรเต้นอยู่หรือไม่ถ้าผู้ป่วยไม่มีชีพจรเต้นให้เริ่มทำการบีบนวดหัวใจโดยกดที่บริเวณหน้าอกด้วยส้นมือทั้งสองข้างทันทีโดยกดลึกลงไปประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ถึง 2 นิ้ว ด้วยอัตรา 100 ครั้งต่อนาทีจนกว่าจะนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด