ศาสตร์การบำบัดที่เข้ามาเติมความหวังให้กับเด็กสมองพิการทุกวันนี้ มีอยู่หลายศาสตร์ด้วยกัน แต่ศาสตร์ทางเลือกจากฝั่งยุโรปชื่อ  โวจต้า เธอราปี (Vojta Therapy) นับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจ เพราะเป็นการนวดกดจุดเก่าแก่ของประเทศเยอรมนีที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการสั่งงานระบบสมองจนทำให้แขนขาสามารถยืดคลายจากการหงิกเกร็งได้

เทคนิคดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1960 โดยกุมารแพทย์ทางระบบประสาทชื่อ  ศาสตราจารย์ นพ.วาคาลฟ โวจต้า และได้รับการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์ นพ.ธีโอดอร์ เฮลบรึกเก้ แห่งสถาบัน Kinderzentrum Muenchen (Children's center, Munich) จนมีการใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปตั้งแต่ปี 1980 โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีทั้งในด้านการตรวจคัดกรองหาเด็กแรกเกิดที่เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้า และปัญหาโรคสมองพิการ

ฟิออน เบย์เลย์ และ อูเทอร์ เวสต์ฟิลด์  2 ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาเด็กพิการด้านการเคลื่อนไหวจากสมาคมโวจต้า (Vojta) ประเทศเยอรมนี อธิบายถึงหลักการของโวจต้าว่า เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายแบบอัตโนมัติ (reflex Locomotion) ซึ่งเป็นรูปแบบการกระตุ้นด้วยมือ มีทั้งแรงกด และการยืดไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการตอบสนอง และการเคลื่อนไหวของแขน ขา เป็นการใส่ข้อมูลเพื่อให้สมองเรียนรู้รูปแบบวิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง หากทำการกระตุ้นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติแบบซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทส่วนปลายสมอง และไขสันหลังขึ้นใหม่ได้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรกของการเติบโต

"การบำบัดด้วยโวจต้า แตกต่างจากการรักษาแบบกดจุด หรือการรักษาด้วยการบำบัดชนิดอื่น ๆ รวมถึงการนวดกดจุดแบบจีน เพราะใช้วิธีกระตุ้นเฉพาะจุด และเน้นกระตุ้นส่วนประสาทระบบการเคลื่อนไหวที่มีปัญหา ไม่เกี่ยวกับเส้นลมปราณ ซึ่งก่อนกดตามจุดต่าง ๆ แพทย์จะมีการประเมิน และวิเคราะห์ก่อนว่าเด็กมีปัญหาอะไร ถ้ากระตุ้นตรงนี้แล้วช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนไหนขยับได้บ้าง"

สำหรับผลการรักษาหลังการบำบัดนั้น ฟิออน ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาเด็กพิการ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากกรณีเด็กไทยที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อคอและหลังวัยขวบเศษรายหนึ่งที่ไม่สามารถทรงตัวเองได้ กล่าวคือ เวลานอนคว่ำจะไม่สามารถค้ำยันน้ำหนักตัวให้ลุกขึ้นด้วยแขนเองได้ รวมไปถึงการบังคับกล้ามเนื้อคอบกพร่อง โดยหลังจากใช้วิธีบำบัดด้วยโวจต้า ประมาณ 2 เดือน เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถใช้ข้อศอกยกตัวเองขึ้นจากการนอนคว่ำ และกลิ้งตัวไปมาได้ รวมทั้งเอื้อมมือหยิบของจากมือคุณแม่ในทางตรงได้ค่อนข้างดี

อีกตัวอย่างคือเด็กวัย 2 ขวบ  มีพัฒนาการช้า คอไม่สามารถตั้งเองได้ ทำให้เวลาอุ้มคุณแม่ต้องเอาหน้ายันคอลูกไว้ตลอด กระทั่งมารู้จักกับศาสตร์กระตุ้นการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคโวจต้าจากมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ จึงลองพาลูกไปบำบัดที่ประเทศเยอรมนี ผลปรากฏว่า อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ก่อนทำการบำบัด แพทย์จะประเมินก่อน จากนั้นจะออกแบบท่าในการบำบัดที่เหมาะสม โดยทีมนักกายภาพจะค่อย ๆ ใช้แรงมือกดและยืดไปตามจุดต่าง ๆ พอทำไปได้สักระยะ เขาจะสอนให้เราไปฝึกใช้กับลูกที่บ้าน ซึ่งความถี่ในการทำอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน พอผ่านไป 1-2 เดือน กล้ามเนื้อคอของลูกแข็งแรงขึ้น เวลาอุ้มไม่ต้องเอาหน้ามาติดกับลูกเหมือนตอนแรก"

คุณแม่กล่าว

นอกเหนือจากการบำบัดเพื่อช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวให้กับเด็กสมองพิการแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวให้กับเด็กที่ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก อัมพาตทั้งตัว กลุ่มที่มีปัญหาระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เด็กพิการแขนขาหายแต่กำเนิด ตลอดจนผู้ที่มีปัญหาการหายใจ การเคี้ยว การกลืน เป็นต้น

"กระนั้นก็ตาม การบำบัดด้วยเทคนิคนี้ ไม่ใช่ดูแล้วจำไปใช้ฝึกกับลูกที่บ้านได้เลย แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องได้รับการฝึกอบรมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอย่างดีเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาจกดผิดจุด นำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตลูกได้"


 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรมการแพทย์ ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และจัดให้มีการอบรมการบำบัดด้วยเทคนิคโวจต้าขึ้นในไทย โดยเชิญวิทยากรจาก International Vojta Society แห่งเมืองมิวนิคมาทำการสอนให้ผู้อบรมรุ่นแรกจำนวน 27 ราย แบ่งการเรียนออกเป็น 4 ช่วง ห่างกันช่วงละ 6 เดือน เป็นบรรยายร่วมกับการปฏิบัติช่วงละ 2 สัปดาห์ และกลับไปเก็บประสบการณ์อีก 5 เดือนครึ่ง เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 นับเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาเทคนิคการรักษาความพิการครั้งแรกในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน

โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ได้ส่งแพทย์และนักกายภาพบำบัดเข้ารับการอบรมในหลักสูตร Vojta Therapy แล้ว เพื่อให้บริการแก่เด็กที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว เพราะเราเห็นว่า "ความสุข" ของคนเป็นพ่อแม่คือการได้เห็นลูกเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่มีลูกพิการทางสมอง และการเคลื่อนไหว  ที่ถึงแม้ความสุขของพวกเขาเหล่านี้ อาจไม่ได้มองไปไกลว่า ลูกจะต้องกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่วันนี้แค่ลูกมีพัฒนาการ และเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น นั่นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่แล้ว

โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เปิดให้บริการการบำบัด Vojta (Vojya Therapy) แล้ว โดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดที่ผ่านการอบรมโดยวิทยากรจากเยอรมนีแล้วค่ะ   วันและเวลาออกตรวจโดยแพทย์คือวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 -12.00 น.  ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดและนัดหมายวันเวลาได้ที่ 02-361-1111 ต่อ 2446,2447 แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู