การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อยๆ
วันพุธที่ 29 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2556
การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อยๆ จะมีผลทำให้มีพังผืด ยึดตามข้อนิ้วมือ เพราะจริงๆ แล้วกล้ามเนื้อในมือ เป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก หน้าที่หลักคือการใช้หยิบ จับโดยไม่หนัก แต่หากต้องใช้จับ หรือหิ้วหนักๆ จะทำให้เส้นเอ็นมีการเสียดสี และเกิดพังผืดยิ่งหิ้วหนักมากๆจะยิ่งปวดมาก
- เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณโคนนิ้ว ขณะที่มีการงอ หรือเหยียดนิ้วมือ เมื่อถูกกดจะปวดมากขึ้น บางรายอาจถึงขั้นมีก้อนของการอักเสบเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวตามเส้นเอ็น ถ้าหากก้อนอักเสบมีขนาดโตขึ้นจะทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นลำบากมากขึ้น จนกระทั่งนิ้วมือติดอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดได้ชั่วคราว การเคลื่อนไหวของนิ้วมือลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะในตอนเช้า หรือตื่นขึ้นมาจะพบว่านิ้วมืออยู่ในท่างอ เหยียดไม่ออก ต้องใช้มืออีกด้านกางนิ้วออกเพื่อปลดล๊อก ถ้าคลำดูบริเวณโคนนิ้วจะพบก้อนที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยนิ้วที่มักพบบ่อยที่สุดในการเกิดอาการนี้ คือ นิ้วหัวแม่มือ เพราะเป็นนิ้วที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเอกเทศมากที่สุด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าว
1. ใช้หัวแม่มือ "กดและคลึง" จุดที่เจ็บตั้งแต่โคนนิ้วด้านในบริเวณฝ่ามือตามแนวของกระดูกไล่เรื่อยขึ้นไปจนถึงปลายนิ้ว ใช้เวลาประมาณ 2 นาที
2. ให้ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ "กดและจิก" ลงไปตรงจุดที่เจ็บเพื่อส่งพลังไปที่จุดเส้นประสาทโดยตรง ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกเหมือนมีลมออกที่หูได้ ใช้เวลาประมาณ 30 วินาที
3. ใช้หัวแม่มือ "กดและนวด"ลงบนจุดที่เจ็บรวมทั้งจุดต่างๆ ที่อยู่รอบๆ บริเวณจุดที่เจ็บด้วย ประมาณ 20 ครั้ง
4. ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับนิ้วตรงบริเวณที่เจ็บ จากนั้น "ดึงหรือกระตุก" ให้นิ้วงอลงมาด้านล่าง ให้ดันหงายขึ้นไปด้านบนสลับกันไล่ตามข้อนิ้วทั้งสามข้อ
5. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่บริเวณนิ้วหรือข้อที่มีอาการเจ็บหรือมีปัญหานิ้วล็อค เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ปลอดโปร่งไม่ติดขัด หรือแช่มือในน้ำอุ่น
6. ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ หรือ Stretching Exercise โดยการดัดนิ้วในท่ารำละคร อาจทำประมาณ 20-30 ครั้ง หรือบ่อยเท่าที่ต้องการ
แต่ถ้าหากลองปฐมพยาบาลดูแต่อาการยังไม่ดีขึ้น คงต้องพบแพทย์แล้วค่ะ
- เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคหลังจากใช้งานมือเป็นเวลานานๆ ควรหยุดให้มือได้พักผ่อนบ้างเป็นระยะๆ ยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบ้างโดยดัดนิ้วท่ารำละคร เพราะต้องไม่ลืมว่าสาเหตุของอาการนิ้วล็อกมาจากการใช้งานที่ต่อเนื่องนั่นเองค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์