ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
วันจันทร์ที่ 18 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2561
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่จอตาด้วย เลือดและสารต่างๆจะรั่วซึมออกจากหลอดเลือดที่ผิดปกติเหล่านี้และทำให้เกิด ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (diabetic retinopathy, DR) ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรคคือ ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ และ ระยะที่มีมีการสร้างหลอดเลือดใหม่ ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะแรกมักไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ เมื่อตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีการรั่วซึมของหลอดเลือดจะพบจอตาบวมและเริ่มมีอาการตามัว หากโรคลุกลามมากขึ้นจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดจะทำให้เกิดภาวะจอตาขาดเลือด ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ (neovascularization) หลอดเลือดเหล่านี้มีลักษณะเปราะและแตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกในตาและเกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ผู้ป่วยมักมีสายตาแย่ลงอย่างมากทั้งจากเลือดออกและจอตาลอก
อาการตามัวอาจเกิดจากการบวมบริเวณจุดภาพชัด (macular edema) ซึ่งเกิดจากน้ำและไขมันรั่วออกจากหลอดเลือด จุดภาพชัดเป็นบริเวณสำคัญที่ใช้ในการมองภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณนี้จึงส่งผลต่อการมองเห็นอย่างมาก ในรายที่เป็นรุนแรงหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดอาจเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (macular ischemia) ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ทราบได้อย่างไรว่ามีเบาหวานขึ้นจอตา
ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตานั้นอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติใดๆ ดังนั้นเมื่อมีอาการตามัวจึงแสดงว่าโรคเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ โดยจะได้รับการหยอดยาขยายรูม่านตาและตรวจจอตาอย่างละเอียด หากพบว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาแพทย์จะพิจารณาให้คำแนะนำและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
รักษาอย่างไร
ความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานขึ้นจอตานั้นไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสภาพปกติได้ การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมุ่งหวังให้โรคไม่ลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติรวมทั้งการดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม สามารถชลอความรุนแรงของโรคได้ การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในปัจจุบันมี 3 วิธีคือ
1. รักษาด้วยเลเซอร์
เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยมีข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่และผู้ป่วยที่มีจุดภาพชัดบวม เลเซอร์จะทำให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ส่งผลให้จอตายุบบวมและป้องกันการเกิดเลือดออกในตา การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นอาจต้องแบ่งยิงหลายครั้งเพื่อป้องกันภาวะจอตาบวมจากเลเซอร์ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโดยเลเซอร์พบได้น้อยมากหากผู้ป่วยร่วมมือและได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
2. การรักษาด้วยยา
เป็นการรักษาวิธีใหม่โดยการฉีดยาที่มีคุณสมบัติลดการรั่วของหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลงเข้าวุ้นตา ยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือ ยาสเตียรอยด์และยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ (anti-vascular endothelial growth factor) การรักษาโดยวิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดีแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นานและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ แทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าวุ้นตาได้แก่ การอักเสบติดเชื้อ เลือดออกในวุ้นตาและการเกิดจอตาลอก ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ 1 นอกจากนั้นยาสเตียรอยด์ยังสามารถทำให้เกิดต้อกระจกและต้อหินในผู้ป่วยบางรายได้
3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาส่วนใหญ่เลือดจะถูกดูดซึมหมดไปเองในระยะเวลา 2-3 เดือน ในรายที่เลือดไม่ถูกดูดซึมหมดไปหรือมีจอตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง การผ่าตัดวุ้นตาอาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและสามารถซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม แต่การมองเห็นอาจไม่กลับมาเป็นปกติขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
ผู้ป่วยเบาหวานควรรับการตรวจตาเมื่อไร
ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาสามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเครื่องมือการตรวจและการรักษาที่มีในปัจจุบัน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานขึ้นจอตาแพทย์จะนัดตรวจติดตามต่อเนื่องหรือพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะโรคที่ตรวจพบ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยชลอความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนั้นแล้วผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรรับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้