"มารู้จักไขมันกันค่ะ"
วันพุธที่ 12 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2556
"มารู้จักไขมันกันค่ะ" เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา ควรรู้จักไขมันให้ดีจะได้เลือกบริโภคได้ถูกว่าไขมันที่ดี ที่ควรทาน และไขมันไหนที่ไม่ควรทานนะคะ
LDL (ไขมันไม่ดี) คืออะไร
LDL มาจากคำว่า Low Density Lipoprotein (ไขมันไม่ดี) มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นไขมันที่สามารถทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้ ไขมัน LDL ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือดในร่างกาย หากคอเลสเตอรอลเหลืออยู่ในกระแสเลือด ก็จะสะสมเป็นตุ่มเกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง เกิดภาวะหลอดเลือดตีบ นานเข้าก็จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน และส่งผลต่อการเป็นโรคความดันสูง โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย อัมพาตอัมพฤกษ์ เป็นต้น
LDL (ไขมันไม่ดี) มาจากไหน
1. อาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น (ยกเว้นเนื้อปลา) รวมไปถึง ไข่ เนย ชีส น้ำสลัดสำเร็จรูป ไอศกรีม นมโฮลมิลค์ เค้ก คุ้กกี้ เป็นต้น และไขมันอิ่มตัวยังได้มาจากพืชตระกูลปาล์มอีกด้วย เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
ที่ต้องเรียกกันว่าไขมันอิ่มตัวเนื่องจากโมเลกุลของ LDL จะประกอบด้วยออกซิเจน ไฮโดรเจน และคาร์บอน เรียงตัวกันแน่นจนไม่มีช่องว่างของโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นได้อีก จึงเรียกกันว่า "ไขมันอิ่มตัว"
2. อาหารจำพวกไขมันทรานส์ (Trans Fat) ไขมันทรานส์นี้เป็นไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fat) อีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ไขมันไม่อิ่มตัวทั่วไป (ไม่เหมือนไขมันไม่อิ่มตัวจาก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันมะกอก) ไขมันทรานส์จะมีเรียงตัวของโมเลกุลแบบหันไปคนละทาง โดยไขมันชนิดนี้พบได้มากในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แต่การนำมาใช้เป็นอาหารจะมีการแปรรูปโดยการเติมอะตอมของไฮโดรเจนลงไป ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ (ไขมันที่เป็นไข) เพื่อที่จะเอาไปทำเนยเทียม หรือประกอบอาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่นครีมเทียม ขนมกรุบกรอบต่างๆ ขนมที่มีมาการีนต่างๆ เป็นต้น
HDL คืออะไร
HDL มาจากคำว่า High Density Lipoprotein (ไขมันที่ดี) เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นสูง HDL ดีกับหลอดเลือดแดงเนื่องจาก ช่วยป้องกันไม่ให้ คอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, และ LDL สะสมในหลอดเลือดแดง หากขาด HDL ในเลือด ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้
การเพิ่ม HDL ให้กับร่างกายนั้นทำได้หลายวิธี เช่น
1. การออกกำลังกายที่มีการใช้แรงงานปานกลางหรือแอโรบิก (Aerobic) เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้เหนื่อยจนเหงื่อออก และออกกำลังต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป เช่น เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นต้น ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือทุกวันถ้าเป็นไปได้
2. ควบคุมอาหาร การควบคุมอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็น ควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงาน เป็นการช่วยเพิ่ม HDLได้ และควรเลิกสูบบุหรี่เนื่องจากบุหรี่จะทำให้ HDL ต่ำลง
3. หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ เนื่องจากไขมันทรานส์จะไปเพิ่ม LDL (ไขมันไม่ดี) และลด HDL ลง อาหารที่มีไขมันทรานส์มากได้แก่ เนยเทียม มาการีน ครีมเทียมต่างๆ ขนมกรุบกรอบต่างๆ เป็นต้น 4. เพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่นพืชผักต่างๆและ อาหารจำพวกธัญพืชต่างๆ หรืออาหารจำพวกเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี (Whole Grain) เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต โฮลวีท นักวิจัยพบว่าใยอาหารจำพวกนี้สามารถลด LDL ไตรกลีเซอไรด์ และสามารถเพิ่มไขมัน HDL ได้
5. อย่าลืม ไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีสามตัว ตัวที่หนึ่งคือกรดแอลฟาไลโปอิค (Alpha lipoic acid?ALA) พบมากในน้ำมันพืชบางชนิดและน้ำมันถั่วเหลือง ตัวที่สองคือ กรดไอโคซาเพนตาอีโนอิก (Eicosapentaenoic: EPA) และตัวที่สามเรียกว่ากรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA (Docosahexaenoic acid) กรดไขมันตัวที่ 2 และ 3 พบมากในน้ำมันปลาทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลนะคะ
ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์