สุภาพสตรีที่มีอายุเลย 40 ปีไปแล้ว จะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ประจำเดือนที่เคยมีสม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยรุ่นนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นไม่แน่นอน ระยะห่างเนิ่นนานขึ้น หรือปริมาณลดน้อยลง จนในที่สุดไม่มาอีกเลย นั่นคือ วัยหมดประจำเดือน ซึ่งโดยเฉลี่ย สตรีไทยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 49 ปี ปัจจุบันสตรีวัยนี้ จะได้รับการกล่าวขานว่าเป็น สตรีวัยทอง

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หมดประจำเดือน

การหมดประจำเดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เกิดเนื่องจากรังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอีกต่อไป ฮอร์โมนเพศนี้มีชื่อว่า เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน

อาการของภาวะหมดประจำเดือน

แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเริ่มแรกช่วงใกล้หมดประจำเดือน หรือเพิ่งหมดประจำเดือนใหม่ๆ และระยะยาว หลังหมดประจำเดือนไปแล้ว

ระยะแรก

คืออาการที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เริ่มลดระดับลง ซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ และอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก หัวใจและหลอดเลือด สมอง ระบบประสาทอัตโนมัติ เต้านม ระบบทางเก็บปัสสาวะ ผิวหนัง เล็บและเส้นผม เมื่อฮอร์โมนลดระดับลง จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ร้อนวูบวาบตามตัว หน้าอก ใบหน้า
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ ขี้หลงขี้ลืม
  • เวียนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่าย
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ช่องคลอดแห้ง บาง คัน และติดเชื้อง่าย
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย บางครั้งอาจมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน เวลาถ่ายปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ผิวหนังบาง แห้ง ไม่มีน้ำมีนวล เส้นผมหยาบกร้านขึ้น

อาการต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ว่า จะเกิดกับสตรีทุกคน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม บางคนอาจ ไม่มีอาการเลย แต่บางคนมีอาการเกือบครบทุกอย่างที่กล่าวมา ระยะเวลาที่เกิด บางคนอาจเกิดก่อนหมดประจำเดือนจริงๆ ถึง 5-6 ปี แต่บางคนก็เกิดในช่วงที่ใกล้หมดประจำเดือน

ระยะยาว

เมื่อหมดประจำเดือนแล้ว การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จะทำให้มีผลดังนี้

1. ผลต่อกระดูก

ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เอสโตรเจน เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เนื้อกระดูกจะมีการสร้างมากกว่าถูกทำลาย แต่เมื่อหมดประจำเดือน จะทำให้มีการสลายเนื้อกระดูก มากกว่าการสร้างทดแทน การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกบางลง ถ้าบางลงเรื่อยๆ จนถึงจุดๆ หนึ่ง เรียกว่าภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการหักง่าย ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้ง่าย คือ กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ

2.ผลต่อหัวใจ และหลอดเลือด

เมื่อขาดเอสโตรเจน จะทำให้โคลเลสเตอรอล ชนิดที่มีสารไขโปรตีน ความหนาแน่นสูง (High Density Lipoprotein Cholesterol-HDL) ลดต่ำลง HDL นี้ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงพบว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์ ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ชายมาก แต่หลังจากหมดประจำเดือนแล้ว โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อัตราการตายจากโรค ใกล้เคียงกับเพศชาย

3.ผลต่อสมอง

เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันแล้วว่า สตรีวัยหมดประจำเดือน จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) ได้สูงมาก

จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มเข้าสู่วัยนี้แล้ว

สตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีอาการผิดปกติต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ในตอนแรก ควรจะสงสัยว่า เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือสตรีที่แม้ไม่มีอาการอะไรเลย แต่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันนาน 1 ปี ก็ถือว่า หมดประจำเดือนแน่นอน ในกรณีที่ต้องการทราบผลแน่ชัด สามารถทราบได้โดยการเจาะเลือด หาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และระดับฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

จะดูแลตนเองอย่างไรในวัยหมดประจำเดือน

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า วัยหมดประจำเดือน ไม่ใช่วัยเริ่มต้นสู่วัยชรา สตรีวัยนี้ ยังคงทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในที่ทำงาน และที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมดังที่เรียกขานวัยนี้ว่า วัยทอง ดังนั้น สตรีวัยทอง ควรจะศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  และควรจะมีการปฏิบัติตัว ดังนี้

1. อาหาร นอกจากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว สตรีวัยทอง ควรจะเน้นการรับประทานอาหาร ที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย ที่รับประทานพร้อมก้าง ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับประทาน จะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก สตรีวัยทอง ควรจะได้รับแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน

นอกจากนี้ ควรจะควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือด โดยงดรับประทานอาหาร ที่มีโคลเลสเตอรอลสูง เช่น หอยนางรม ไข่แดง เป็นต้น

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ เป็นต้น

3. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density)

4. ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์อย่างไร

การให้ฮอร์โมนทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ชนิดสกัดจากธรรมชาติ เพื่อชดเชยเอสโตรเจนที่ลดระดับลงไป จึงช่วยบรรเทาอาการ ที่เกิดจากการหมดประจำเดือน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว นั่นคือ บรรเทาอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ ลดอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้การถ่ายปัสสาวะปกติ บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเมื่อย ช่วยปรับสภาพผิวหนัง และเส้นผม ป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม กระดูกพรุน และโรคหัวใจขาดเลือดได้

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีผลเสียหรือไม่

นอกจากข้อดีของฮอร์โมนทดแทนแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีข้อเสียอยู่บ้าง กล่าวคือ ถ้าใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว และอาจกลายเป็นมะเร็งได้ ถึงแม้ว่าจะพบน้อยก็ตาม ดังนั้น ในสตรีที่ยังมีมดลูกอยู่ แพทย์จะให้ฮอร์โมนทดแทน ในรูปแบบของเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสโตเจน ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนโปรเจสโตเจน จะต้านฤทธิ์ของเอสโตรเจน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาตัว

ส่วนเรื่องของมะเร็งเต้านมนั้น มีข้อขัดแย้งกันมากว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ แต่ปัจจุบันผลการศึกษาวิจัยมีแนวโน้มว่า การให้ฮอร์โมนทดแทน ไม่ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สตรีที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน ควรจะได้รับการดูแล อย่างสม่ำเสมอจากแพทย์ ไม่ควรไปซื้อยาเอง เพื่อแพทย์จะได้ให้การวินิจฉัย และรักษาแต่เนิ่นๆ เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

ปัจจุบัน อายุขัยของสตรีเพิ่มขึ้นจากอดีตมาก จากที่เคยดำรงชีวิตอยู่แค่ 50 ปี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 70 กว่าปี ช่วงชีวิตในวัยหมดประจำเดือนจึงเพิ่มขึ้น การใช้ชีวิตในวัยดังกล่าวยาวนานขึ้น ถ้ามีการดำรงชีวิตที่ดี รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งการใช้ฮอร์โมนทดแทน จะทำให้คุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย และจิตใจดี สมกับคำว่า วัยทอง... วัยงามแห่งชีวิต




ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์