ออฟฟิศ ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบมากในวัยทำงาน ยังพบว่า กลุ่มคนทำงานอายุ  16 - 26 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 55 เนื่องจากท่าทางและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งทำงานใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันหลายชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถหรือไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งมีพฤติกรรมเหล่านี้ต่อเนื่องมาหลายปี

สาเหตุ

เมื่อเราทำการวิเคราะห์สาเหตุของกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถจำแนก 3 ประเภท คือ

  • ท่าทางหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหลังค่อม หรือหลังงอ นั่งเอนกึ่งนอน นั่งไขว้ห้าง ยืนหลังแอ่นหรือหลังค่อม ใส่รองเท้าส้นสูง สะพายหรือหิ้วกระเป๋าหนัก อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันหลายชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถหรือไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ระดับความสูงของโต๊ะทำงานและเก้าอี้ ระยะวางคีย์บอร์ดที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
  • สาเหตุจากปัญหาโครงสร้างร่างกาย อาจมีปัญหา กล้ามเนื้อ ข้อต่อ กระดูก หมอนรองกระดูก หรือเส้นประสาทอักเสบ บริเวณตั้งแต่ส่วนคอถึงเท้า เช่น ปวดคอ จากปัญหากล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

อาการ

เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวนั้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดคอ ศีรษะ บ่า สะบักและไหล่ ซึ่งเป็นส่วนที่พบบ่อย  รองลงมา ปวดหลัง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดตา ตาพร่ามัว ปวดแขน ปวดข้อศอก ปวดมือ ปวดข้อมือ ปวดเอว ปวดขาหรือปวดเข่า  บางรายเป็นมากจนมีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า เราใช้ร่างกายมากเกินไปหรือที่ว่า overload จนทำให้ร่างกายไม่สามารถรับกับสภาวะดังกล่าวได้ จึงแสดงอาการออกมา หากละเลยหรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแล้ว อาจจะกลายเป็นอาการเรื้อรัง หรือทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นอีก อาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

การรักษา

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษา จะเริ่มจากการหาสาเหตุ เนื่องจากอาการของออฟฟิศซินโดรมมีความหลากหลาย ปวดเมื่อยบริเวณต่างๆตั้งแต่ ส่วนหัวจนถึงเท้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา เพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด ซึ่งได้กล่าวไว้ในส่วนของสาเหตุว่ามีการจำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. สาเหตุจากโครงสร้างที่ผิดปกติ

2. พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

3. สภาวะแวดล้อมที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม 

ดังนั้นการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. แก้ไขโครงสร้างที่มีปัญหา เช่น กล้ามเนื้อหรือข้อต่ออักเสบ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด เป็นการรักษาที่อาศัยการตอบสนองของร่างกายต่อตัวกระทำทางฟิสิกส์ เช่นความร้อน ความเย็น การใช้เครื่องมือทันสมัย เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์  ยืดกล้ามเนื้อ จัดกระดูก ดัด ดึงข้อต่อ ยืดเส้นประสาท เป็นต้น

2. แนะนำวิธีปฏิบัติตัวและพฤติกรรมอย่างเหมาะสม และจัดโปรแกรมออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละคน นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ และส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วย

3. ให้คำแนะนำในการปรับสภาวะแวดล้อมที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น การปรับระดับความสูงของเก้าอี้หรือโต๊ะทำงาน หากไม่สามารถปรับได้อาจใช้หมอนรองเก้าอี้เพื่อให้ความสูงพอดี หากเท้าลอยจากพื้น อาจใช้กล่องหรือเก้าอี้เล็กมารองเท้า เป็นต้น ซึ่งทางเราจะให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาให้เหมาะกับแต่ละคน

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงต่อ  ออฟฟิศซินโดรมได้โดย

1. ปรับ Life Style ในการทำงาน เช่น เปลี่ยนท่าทางขณะทำงาน ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนท่า อาจลุกขึ้นเดิน บิดลำตัว ยืดเส้นยืดสายสัก 1-2 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

2. ปรับเก้าอี้และโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ เก้าอี้ที่ดีนั่งแล้วเท้าวางแนบกับพื้นโดยที่เท้าไม่ลอย ก้นต้องเข้าไปพนักพิงของเก้าอี้และปรับเอนได้ 10-15 องศา หากหลังไม่สามารถพิงพนักเก้าอี้ก็ควรหาหมอนรองเอว  ความสูงของโต๊ะทำงานควรนั่งแล้วอยู่ระดับข้อศอกและสามารถวางมือได้โดยไม่ต้องเกร็งหรือยกบ่า จอคอมพิวเตอร์ต้องพอดีกับระดับสายตา

3.พยายามนั่งตัวตรง หลังไม่งอ

4.ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง จะทำให้น้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง อาจทำให้กระดูกคดได้โดยไม่รู้ตัว

5.ไม่ใช้สายตาจดจ่ออยู่จุดใดจุดหนึ่งเกินกว่า 20 นาที เพราะปัญหาที่พบบ่อยในคนทำงานออฟฟิศ คือ ปัญหาด้านสายตา อาทิ ตาแห้ง น้ำตาไหลระคายเคืองตา ตามัว ปรับภาพได้ช้าลงซึ่งเกิดจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้การกระพริบตาน้อยละหนังตาเปิดกว้างขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้ง ส่งผลให้น้ำตาระเหยมากจนกระทั่งเกิดความระคายเคืองตาและตาแห้ง นอกจากนี้การเพ่งสายตาที่หน้าจอยังทำให้ต้องกลอกตาไปมาตลอดเวลาส่งผลให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานมากขึ้น ทำให้ปวดตาในที่สุด ดังนั้นควรพักสายตาเป็นระยะ ทุก 20 นาที หลับตา ทุก 1 ชั่วโมง ลุกเดินเพื่อพักสายตาและควรจัดจอภาพคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศาเพื่อช่วยลดอาการปวดตาและปวดคอ

6.หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและการสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวเป็นระยะเวลานาน

7.การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อย ๆ จะมีผลทำให้มีพังผืดยึดตามข้อนิ้วมือ

8.ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังควรรีบไปพบนักกายภาพบำบัด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

9. ควรปรับความส่ว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมโดยปรับความสว่างให้มากประมาณสามเท่าจากความสว่างของสภาพแวดล้อมและควรปรับสีของจอให้สบายตาเนื่องจากงานวิจัยพบว่าตัวอักษรสีเข้มบนพื้นจอสีอ่อนจะทำให้สบายตา


ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์