น้ำมันทอดซ้ำ

การซื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากร้านค้าตามข้างทาง ร้านของทอดในตลาด หรือตามศูนย์อาหารการค้าต่างๆ พบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดอาหารของผู้ประกอบการทุกระดับ เป็นน้ำมันที่นำกลับมาทอดซ้ำไปเรื่อยๆจะเปลี่ยนหรือเติมน้ำมันใหม่ก็ต่อเมื่อเห็นว่าน้ำมันเก่าชักทำให้อาหารดูไม่น่าทาน เช่น น้ำมันมีสีดำคล้ำ ควันดำ หนืด เหม็นไหม้ และเป็นฟองเมื่อไร จึงได้เวลาเปลี่ยนเมื่อนั้น

จากการรายงานของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศึกษาพบว่า ในช่วงนี้น้ำมันทอดอาหารแพงและหาซื้อได้ยาก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่ามีการใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมากกว่า 60% เลยทีเดียว!

อะไร อยู่ในน้ำมันทอดซ้ำ 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดขึ้นกับสี และกลิ่นของน้ำมัน เมื่อใช้ทอดซ้ำเป็นเวลานานๆ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี โดยน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมสภาพจะมีสารพิษอันตรายเกิดขึ้น 2 ตัวคือ

  • โพลาร์ (Polar compounds) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
  • น้ำมันทอดซ้ำ อันตรายยังไง

    สารพิษทั้ง 2 ตัวที่พบในน้ำมันเสื่อมสภาพมีผลการทำให้อัตราการตายของเซลล์เพิ่มขึ้นและแสดงผลต่อความผิดปกติของเซลล์อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น อาหารที่ทอดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจะทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายสูงขึ้นด้วย


    สาร โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง  ยังพบได้ในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร เป็นอันตรายต่อตัวผู้ประกอบการอาหารเองที่สูดดมเข้าไปด้วย สอดคล้องกับรายงานทางระบาดวิทยาที่ศึกษาพบว่า แม่บ้านหญิงชาวจีนไต้หวันที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันและเกิดควันคลุ้งกระจายเป็นประจำและต้องสูดดมเป็นเวลานานมีอุบัติการณ์เป็นโรคมะเร็งปอดสูงอย่างมีนัยสำคัญ

    การสังเกตน้ำมันเสื่อมคุณภาพ

    1. ความหนืดมากผิดปกติ

    2. มีสีดำคล้ำ

    3.เกิดฟองมาก

    4.มีกลิ่นเหม็นไหม้

    5.เกิดควันมากขณะทอด

    การสังเกตอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันคุณภาพดี

    1.มีสีน้ำตาลทอง

    2.ไม่เปียก ชื้น เห็นมันเยิ้ม

    3.ไม่มีเม็ดลักษณะผงถ่านเกาะ

    4.สุกทั่วถึง (ไม่ใช่ข้างนอกสุกเกรียม แต่ข้างในไม่สุก)

    รู้ได้อย่างไร เมื่อใดควรเปลี่ยนน้ำมัน

    สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯ กำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอด หรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายให้มีได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดทดสอบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำอย่างง่าย เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ตรวจสอบว่า ควรจะต้องเปลี่ยนน้ำมันใหม่เมื่อไร

    ชุดทดสอบที่มีชื่อเรียกกันว่า ?ซุปเปอร์จิ๋ว? นี้มีความแม่นยำถึง 99.2%รู้ผลได้ภายใน 3 นาที นักเรียนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ก็สามารถทำได้ ที่สำคัญคือราคาประหยัด เพียง 20 บาท ต่อการทดสอบแต่ละครั้งเท่านั้น

    น้ำมันทอดซ้ำเอาไปทำอะไร

    ที่ผ่านมา การสำรวจพฤติกรรมของประชาชนที่ประกอบอาหารทอด พบว่ามีการทิ้งน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วลงในท่อระบายน้ำทำให้ท่ออุดตัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ประกอบการ มีการนำน้ำมันเสื่อมสภาพไปขายให้กับผู้ซื้อน้ำมันเก่า ซึ่งหลายครั้งน้ำมันเสื่อมสภาพเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปฟอกสีให้ใสใส่ถุงพลาสติกไม่มีฉลาก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ?น้ำมันลูกหมู? แล้วนำกลับมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคตามตลาดนัด และตลาดสด หรือน้ำมันเสื่อมสภาพที่มีสีดำและความหนืดมาก จะถูกนำไปทาเส้นก๋วยเตี๋ยว ย้อนกับมาเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเอง

    การจัดการให้น้ำมันเสื่อมสภาพไปผลิตเป็นไบโอดีเซล จะช่วยตัดวงจรน้ำมันเสื่อมสภาพไม่ให้เข้ามาในวงจรอาหาร ยังเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งมีการประมาณว่า หากน้ำมันเสื่อมสภาพทั้งหมดของประเทศถูกจัดการด้วยแนวทางนี้ จะมีแหล่งพลังงานทดแทนใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์การเกษตรที่มีรอบต่ำได้ดี ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี!

    การดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากพิษภัยของน้ำมันทอดซ้ำที่ดีที่สุดคือ ผู้ประกอบการเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารก่อนเสื่อมสภาพ  ซึ่งจะทราบได้โดยรู้รอบระยะเวลาเปลี่ยนน้ำมันใหม่ที่ใช้ทอดและการจัดการกับน้ำมันทอดเสื่อมสภาพแล้วอย่างเหมาะสมมิให้กลับสู่วงจรอาหารอีก นับเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนของประเทศอย่างยิ่ง

    ใช้น้ำมันทอดซ้ำ มีความผิด

    กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283 ) พ.ศ. 2547 กำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีได้ไม่เกิน 25 % ของน้ำหนัก  ผู้ประกอบอาหารที่ฝ่าฝืน ถือเป็นการจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

    ความเข้าใจผิดๆ

    ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า การเติมน้ำมันใหม่ลงในน้ำมันทอดอาหารที่ใกล้เสื่อมสภาพ จะยิ่งเร่งให้น้ำมันเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงต้องเปลี่ยนน้ำมันใหม่ทุกครั้ง ที่พบว่า น้ำมันทอดซ้ำใกล้เสื่อมสภาพ โดยห้ามเติมน้ำมันใหม่ลงไปอีก



    ด้วยปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์