"อาหารจานด่วนและอาหารขยะ"
วันอังคารที่ 14 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2556
"อาหารจานด่วนและอาหารขยะ" อาหารจานด่วน (Fast Food) คือ อาหารที่ปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว หรือทันเวลาพอดี (Just-in-time) และพร้อมกินได้ทันที ซึ่งโดยทั่วไปคนมักจะนึกถึงแต่อาหารจานด่วนของฝรั่งจำพวก พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก ฯลฯ หากความจริงแล้วอาหารไทยบางประเภท ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารจานด่วนด้วยเหมือนกัน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่งทุกชนิด ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนน้ำยา สุกี้ เป็นต้น ซึ่งอาหารดังกล่าว ล้วนมีกรรมวิธีในการปรุงที่รวดเร็วและพร้อมกินได้เลย
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีประโยชน์ครบถ้วนมากนัก หากรู้จักเลือกกินให้เหมาะสมก็พอจะให้คุณค่าทางโภชนาการอยู่บ้าง โดยเฉพาะอาหารจานด่วนของไทย
ส่วนอาหารขยะ (Junk Food) คือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย หรือแทบไม่มีเลย เรียกว่าอาหารพลังงานสูญเปล่า นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดท็อกซินสะสมในร่างกายอีกด้วย เพราะอาหารประเภทนี้มักจะมีโซเดียมหรือเกลือ น้ำตาล พลังงาน หรือไขมันอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณที่สูง แต่มีสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน เกลือแร่น้อยมาก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ ลูกอม หมากฝรั่ง โดนัท ไอศกรีม ขนมหวานต่าง ๆ รวมทั้งอาหารที่ทอดด้วยความร้อนสูงอย่างมันฝรั่งทอดกรอบ ฉะนั้นการกินเป็นประจำ หรือกินปริมาณมาก จะก่อโทษกับร่างกายได้
หลากหลายโรคที่แฝงมากับความเร็ว ได้แก่
โรคอ้วน ผลเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการกินอาหารจานด่วน คือน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเมื่อกินบ่อย ๆ ก็จะก่อให้เกิดโรคอ้วน และอีกสารพัดโรคตามมา
โรคกระดูกข้ออักเสบ น้ำหนักส่วนเกินจากการสะสมไขมัน และน้ำตาล จะทำให้กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก และข้อเข่าล้า และมีผลทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพ ช่องข้อต่อจะหดแคบลง และกระดูกข้อต่อจะบดทับกัน
โรคหัวใจ เมื่อกินอาหารที่มีไขมันบ่อย ๆ จะทำให้มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งอาจทำให้มีการสะสมลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง
ความดันโลหิตสูง ความเค็มปริมาณสูงจากอาหารดังกล่าว หากสะสมในร่างกายเยอะ ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิต และโรคไตค่อนข้างสูง
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนที่กินอาหารดังกล่าวเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากการสะสมไขมัน โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
โรคตับ การสะสมไขมันในตับ อาจทำให้เกิดโรคตับแข็งได้
โรคเบาหวาน ผู้ที่มีไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องมากเกินไป มักเกิดภาวะต้านอินซูลิน ทำให้มีการสะสมกลูโคสในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้ และภาวะแทรกซ้อนประการหนึ่งคือการทำลายหลอดเลือดในจอตา อันจะทำให้ตาบอดได้
ภาวะไขมันในเลือดสูง คนที่กินอาหารดังกล่าวเป็นประจำ จะมีระดับไขมันในเลือดมากกว่าคนที่ไม่ได้กิน และมีโอกาสเป็นเส้นเลือดในสมองอุดตัน
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ท่านควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ดีกว่าค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์