วันพฤหัสบดีที่ 19 เดือน มกราคม พ.ศ. 2555
กระดูกหักและข้อเคลื่อนบริเวณข้อศอกในเด็ก
เด็กๆ เป็นวัยที่ซุกซน โดยเฉพาะเด็กที่เก่งๆ มักจะไม่อยู่นิ่ง มักชอบปีนป่าย หกล้ม ได้รับบาดเจ็บที่แขน ขา ได้บ่อยๆ วันนี้จะขอเล่าให้ฟัง และเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอันตรายบริเวณข้อศอกในเด็กถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เด็กอาจจะแขนคอก พิการไม่สวยงาม เสียอนาคตได้
1.Supracondylar Fracture ของกระดูกต้นแขน
เป็นกระดูกหักและข้อเคลื่อน บริเวณข้อศอกที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก
สาเหตุ มักเกิดจากการหกล้ม มือเท้ายันพื้นในท่าข้อศอกเหยียดตรง
ลักษณะของรอยกระดูกหัก ส่วนมากชิ้นล่าง จะเคลื่อนไปด้านหลัง อาจจะมีการหมุนรอบแกนกระดูกต้นแขนในแนวดิ่งด้วย
ตรวจร่างกายเด็ก จะพบอาการปวด บวมบริเวณข้อศอก ถ้าชิ้นกระดูกหักเคลื่อนแยกมากๆ จะเห็นความพิการผิดรูป บริเวณข้อศอกอย่างชัดเจน
หลักการรักษา ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนไม่มากหมอจะดึงดัดกระดูกให้เข้าที่ ภายใต้การระงับความรู้สึกที่เหมาะสม ใส่เฝือกไว้ในท่างอข้อศอก 3-5 อาทิตย์ก็เพียงพอ
แต่ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนมาก จำเป็นต้องผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่โลหะดามกระดูกไว้ มิฉะนั้นข้อศอกเด็กอาจจะติดผิดรูป แขนคอกได้ (Cubitus Varus) และถ้าเนื้อเยื่ออ่อนบวมมาก กระดูกกดทับเส้นเลือดแดงใหญ่ที่มาเลี้ยงแขนท่อนล่างและมือ เกิดการขาดเลือด (Volkmann?s ischemic contracture) โดยไม่ได้รับการแก้ไข มือเด็กก็จะหงิก พิการใช้งานไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาโดยรีบด่วน
2.การหักของ Lateral condyle ของกระดูกต้นแขน
เป็นกระดูกหักและข้อเคลื่อนที่ บริเวณข้อศอกที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองในเด็ก
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ศูนย์การเจริญของกระดูก (Growth Plate) เสียก่อน
กระดูกจะโตยืดยาวไปได้ จะโตจากศูนย์การเจริญของกระดูก (Growth Plate) นี้
Lateral condyle เป็นศูนย์การเจริญของกระดูกจะหยุดโตเมื่อเกิดแตกหักข้อศอกด้านนอกจะหยุดขยายยืดยาวออกข้อศอกเด็กจะโตเฉพาะด้านใน แขนเด็กจะคอกในท่าโก่งออกนอก (Cubitus Varus) เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แขนจะโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ กดทับเส้นประสาทอัลน่า (Tardy ulnar nerve pulsy) มือเด็กจะค่อยๆหงิกจนพิการในที่สุด
กระดูก Lateral condyle หัก มักเกิดจากการหกล้มมือเท้าพื้นข้อศอกเหยียดตรง ข้อศอกบวมบริเวณด้านนอกมาก ขยับเคลื่อนไหวจะเจ็บ
ปัญหา คือ การวินิจฉัย มักจะคิดว่าเด็กแค่ข้อศอกเคล็ดขัดยอก ทำให้พลาดไปได้
หลักการรักษา ถ้าชิ้นกระดูกที่หักไม่เคลื่อนมาก (Stage l) การรักษาแคดัดดึงกระดูกให้เข้าที่ ภายใต้การระงับความรู้สึกที่เหมาะสมใส่เฝือก ประคองไว้ก็เพียงพอ ข้อควรระวัง คือ บริเวณที่มีเส้นเอ้นในการเหยียดแขน (Extensor) มาเกาะคอยดึงไว้ให้ขึ้น กระดูกที่หักเคลื่อนที่หลุดออกมาอยู่เรื่อยๆ จำเป็นต้องตรวจภาพทางรังสีเป็นระยะๆ ถ้าชิ้นกระดูกเคลื่อนออกมาเป็น Stage ll หรือ lll มีความจำเป็นต้องผ่าตัด จัดกระดูกให้เข้าที่ ยึดตรึงด้วยเหล็ก มิฉะนั้น ข้อศอกเด็กอาจจะพิการได้ ตามที่ดังกล่าวแล้วข้างบน
เห็นมั้ยครับ บุตรหลานของท่าน เพียงแค่ล้ม ข้อศอกบวมซ้ำ มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัย ให้แน่นอนว่า กระดูกหักและข้อเคลื่อนหรือไม่เคลื่อนไปมากน้อยแค่ไหน ถ้ารักษาไม่ถูกต้องหรือไปหาหมอน้ำมัน อาจพิการแขนคอก มือหงิก เสียอนาคตได้
ข้อมูลจาก นายแพทย์ประเสริฐ ประกายรุ้งทอง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์