เยียวยา แผลกระเพาะอาหาร
วันอาทิตย์ที่ 25 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2555
โรคแผลในกระเพาะอาหาร คือ แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) หรือ แผลที่เกิดบนเยื่อบุลำไส้เล็ก(Duodenal ulcer)
สาเหตุ
1. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori เชื้อ H.pylori สร้าง Urease enzyme ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น urea เป็น Ammonia และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย Ammonia จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร
2. เกิดจากการรับประทานยาที่ระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( NSAIDs ) ผู้ป่วยที่รับประทานยา NSAIDs เช่น Diclofenac, Mefenamic เป็นต้น ยาเหล่านี้จะไปลด prostaglandin ซึ่งเป็นสารป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงของยา NSAIDs ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร:
- อายุมากกว่า 60 ปี
- มีประวัติการมี เลือดออกในทางเดินอาหาร
- การใช้ยาสเตียรอยด์
- การใช้ยา NSAIDs ขนาดสูงหรือหลายตัวพร้อมกัน
- มีโรคเรื้อรังอื่นๆ
3. ความเครียด
4. สูบบุหรี่, ดื่มเหล้า
อาการ
ปวดท้องเป็นๆ หายๆ แสบบริเวณกลางยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ (Heart burn) เวลาปวดสัมพันธ์กับมื้ออาหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) : อาการปวดไม่จำเพาะเจาะจง และอาจปวดทางด้านซ้ายของท้อง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ปวดหลังอาหารประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง มักปวดหลังจากรับประทานอาหารแล้ว
2. แผลที่เกิดบนเยื่อบุลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer) : ปวดบริเวณกึ่งกลางลิ้นปี่ ปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่ เป็นหลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือตอนกลางคืน อาการปวดมักจะดีขึ้นหลังรับประทานอาหาร ดื่มนม ยาลดกรด หรืออาเจียน
อาการแทรกซ้อน
มีเลือดออกในทางเดินอาหาร, อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ, กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน, ปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียนรุนแรง ผู้ที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหารเรื้อรังจากเชื้อ H.pylori อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การรักษา
ก. การรักษาโดยไม่ใช้ยา
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา งดการรับประทานชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ละ เลิก การสูบบุหรี่
ข. การรักษาโดยการใช้ยา
1. กลุ่มยาลดกรด , เคลือบแผล เช่น
1.1 Antacids : มีจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ เช่น Antacid gel, Alum milk , Bowa gel , Alugel เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้ ช่วยสะเทินกรดในกระเพาะอาหาร
1.2 H2 Blocker : เช่น Cimetidine, Ranitidine, Femotidine เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้จะไปยับยั้ง Histamine-2 receptor ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
1.3 Proton Pump Inhibitor (PPIs) เช่น Omeprazole, lansoprazole, Rabeprazole, Pantoprazole, Esomeprazole ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยจะต้องรับประทานก่อนอาหาร 30 นาที
อาการข้างเคียงที่สำคัญ : คือ ปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ปวดท้อง, ท้องเสีย
1.4 Cytoprotectives
1.4.1 Misoprostol ยับยั้งการหลั่งกรดและเพิ่มการสร้างเยื่อบุกระเพาะอาหาร ห้ามใช้หญิงตั้งครรภ์ อาการข้างเคียงที่สำคัญ คือ คลื่นไส้อาเจียน, ปวดท้อง, ท้องเสีย
1.4.2 Sucrafate ช่วยเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงป้องกันการทำลายจากกรดในกระเพาะอาหาร โดยยานี้จะดูดซึมดีในสภาวะเป็นกรด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับยากลุ่ม H2 Blocker หรือ Antacid
อาการข้างเคียงที่สำคัญ คือ ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน
2.ยาที่ใช้กำจัดเชื้อ H.pylori
สูตรยาหลักที่ใช้ในการกำจัดเชื้อ H.pylori :
PPIs + Claritromycin (500mg วันละ 2 ครั้ง) + Amoxycillin(1 g วันละ 2 ครั้ง)
สูตรที่ใช้กรณีที่ใช้สูตรหลักไม่ได้ :
PPIs + Bismuth (525mg วันละ 4 ครั้ง) + Metronidazole (250-500 g วันละ 4 ครั้ง) + Tetramycin(500 mg วันละ 4 ครั้ง)
หมายเหตุ:
1. ระยะเวลาการรักษาควรให้ยานาน 14 วัน
2. หากไม่ใช้ยา Tetracycline สามารถใช้ยา Amoxycillin 500 mg วันละ 2 ครั้ง หรือ Claritromycin 250-500mg วันละ 4 ครั้ง แทนได้
3. สมุนไพรที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะ ได้แก่ เปล้าน้อย, ขมิ้นชัน, กล้วยน้ำว้า
ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์