"ค่าน้ำนม..การใช้ยาในมารดาที่ให้นมลูก"
วันพฤหัสบดีที่ 5 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2560
น้ำนมแม่เพื่อลูกจึงทรง “คุณค่า” ยิ่งนัก นี่แหละหนา…ค่าน้ำนม
ถ้าเช่นนั้นผู้ที่เป็นแม่...ควรทำเช่นไร หากจำเป็นต้องใช้ยาเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยาจะส่งผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมแม่หรือไม่
โดยข้อเท็จจริง ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษของยาในน้ำนมแม่ที่ส่งผลต่อลูกที่ได้รับน้ำนมนั้นยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ตรวจสอบจากการหาปริมาณยา ที่ออกมากับน้ำนมและคำนวณอันตรายที่จะเกิดกับลูก เนื่องจากการศึกษาโดยตรงกับคุณแม่ลูกอ่อนนั้นทำได้ยากและอาจผิดจริยธรรมทางการแพทย์ โดยทั่วไป ยาส่วนใหญ่ขับออกมาจากทางน้ำนมได้ในปริมาณไม่มากนัก
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับผ่านทางน้ำนมของยา
ได้แก่
- คุณสมบัติของยา ทั้งทางเคมี ขนาดโมเลกุล และความสามารถในการละลายของยา
- วิธีการรักษาด้วยยา เช่น โดยการรับประทาน, การฉีด, การสูดดม, การสอด เป็นต้น
- ระยะเวลาที่ใช้ยา และขนาดของยา ที่ใช้แต่ละครั้ง (ปริมาณยาที่ได้รับ)
ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทารก ได้แก่
- อายุของทารก ระยะที่ควรระวังมากๆ คือ 1 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากลำไส้ของทารกจะดูดซึมยาได้มาก แต่ขับถ่ายได้น้อย จึงเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้มากกว่าช่วงที่โตขึ้นไป
- ความสามารถในการดูดซึมและกำจัดยาของทารก
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ายาทุกชนิดที่คุณแม่รับประทานจะเป็นพิษต่อลูกน้อยเสมอไป เพราะอาการพิษจะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างข้างต้น
แนวทางในการใช้ยาระหว่างให้นมลูก
แบ่งกลุ่มยาเป็น 3 ประเภทดังนี้
1. ยาที่ห้ามใช้ในระหว่างให้นมลูก
2. ยาที่ควรงดนมแม่ชั่วคราวขณะที่คุณแม่ใช้ยานี้
3. ยาที่ใช้ได้ระหว่างให้นมลูก
1.ยาที่ห้ามใช้ในระหว่างให้นมลูก
เนื่องจากเหล่านี้สามารถดูดซึมผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก และส่งผลเสียต่อลูกได้มาก ได้แก่ ยารักษาโรคธัยรอยด์ และเมธิมาโซน (Methimazole), ยารักษาไมเกรน เออร์โกตามีน (Ergotamine), ยารักษาโรคกระเพาะไซเมทติดีน (Cimetidine), ยาลดการหลั่งน้ำนม โบโมคริฟทีน (Bromocriftine), ยากดภูมิต้านทานที่ใช้รักษามะเร็งไซโคพาสฟาไมด์ (Cyclophosphemide), และอะมีธอบธีรีน (Amethopterin) เป็นต้น
(ข้อมูลจากองค์การ UNICEF ระบุว่ามารดาที่ใช้ยารักษาโรคธัยรอยด์ ไธโอยูเรซิล (Propylthiouracil)ได้ สามารถให้นมลูกได้ )
2.ยาที่ควรงดนมแม่ชั่วคราว ขณะที่คุณแม่ใช้ยา
ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) และสารกัมมันตรังสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉายแสงหรือฉีดก็ตาม
3. ยาที่ใช้ได้ระหว่างให้นมลูก
ได้แก่ ยาทั่วไปที่ใช้รักษาอาการต่างๆ และวิตามิน ซึ่งเป็นการยากที่จะบรรยายได้ทั้งหมด จึงขอเสนอข้อแนะนำในการใช้ยารักษาอาการต่างๆ และโรคทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นขณะที่คุณแม่ยังต้องให้นมลูกอยู่ ที่น่าสนใจมี ดังนี้
1. ยาแก้หวัด แนะนำให้หลีกเลี่ยงไม่ใช้ยาลดน้ำมูกถ้าทำได้ โดยเฉพาะยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เพราะจะทำให้ลูกร้องกวนนอนไม่หลับ เป็นต้น ถ้าคุณแม่มีอาการคัดจมูกควรใช้ยาทาหรือเช็ดจมูกให้โล่งมากกว่ายารับประทานและควรหลีกเลี่ยงยาผสมที่มีตัวยาหลายๆ อย่างในเม็ดเดียวกันหรือยาที่ออกฤทธิ์ได้นานๆ เพราะจะส่งผลต่อลูกเป็นระยะเวลานานด้วย
2. ยาแก้ปวด แนะนำให้หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดพวกอินโดเมธาซีน (Indomethacin) เฟนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) ส่วนยาแอสไพริน (Aspirin) สามารถใช้ได้ในปริมาณน้อยๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ยาที่ใช้แก้ปวดได้ดีในคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofon) กรดมีเฟนามิก (Mefenamic Acid) ไดโคลฟิแนก (Diclofenec)
3. ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) กลุ่มที่ใช้ได้คือ กลุ่มเพนนิลซิลลิน (Penicillin), ยารักษาวัณโรค กลุ่มยารักษามาเลเรีย ที่ไม่ควรใช้คือ ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
4. ยาระบาย ที่ใช้ได้โดยไม่มีอันตรายต่อลูกคือยาที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ เพิ่มกากอาหารและยาระบายมิลค์ออฟแมกนีเซีย (M.O.M) ส่วนที่ไม่ควรใช้คือยาระบายมะขามแขก ( Senna )
5.ยาลดกรดรักษาแผลในกระเพาะ พบว่ายาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมซึมผ่านน้ำนมได้น้อย คุณแม่จึงใช้ได้อย่างสบายใจ ส่วนยารักษาแผลในกระเพาะขอแนะนำให้ใช้ซูคราลเฟต (Sucrafate) ซึ่งซึมผ่านไปยังน้ำนมได้น้อย ยาที่สามารถสะสมในน้ำนมได้และไม่ควรใช้คือ ไซเมทีดีน (Cimetidine) และรานิทิดีน (Ranitidine) เพราะอาจส่งผลให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางได้
6. ยาคุมกำเนิด หากจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเลือกสูตรที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำโดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เนื่องจากฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำนม ดังนั้นหากจะคุมกำเนิดในช่วงที่ให้นมลูก ขอแนะนำให้ใช้วิธีธรรมชาติหรือสวมถุงยางอนามัยก่อน
7. ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้ขณะให้นมลูกเพราะจะทำให้ลูกมีอาการง่วงซึม เบื่ออาหารน้ำหนักลด เชื่องช้าและสติปัญญาด้อยลงในที่สุด
กรณีที่คุณแม่ไม่แน่ใจว่ายาที่ใช้จะมีผลต่อการให้นมลูกหรือไม่ มีหลักง่ายๆ ที่ควรนำมาพิจารณาคือ ให้หลีกเลี่ยงยาที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ควรรับประทานยาทันทีหลังให้นมลูกเสร็จ เพื่อให้ระยะเวลาการรับยาห่างจากการให้นมครั้งถัดไปนานที่สุด และสุดท้ายคือต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูก เช่น นอนหลับปกติหรือไม่ มีผดผื่นขึ้นหรือไม่ มีอาการผิดปกติอย่างไรเพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
สำหรับวิตามินต่างๆ ที่คุณแม่รับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย ยังไม่พบผลกระทบต่อลูกน้อย นอกจากผลกระทบต่อคุณแม่โดยตรงหากรับประทานไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยปกติในน้ำนมแม่จะมีแร่ธาตุหลักๆ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม,โซเดียม,โปแตสเซียม,ฟอสเฟต และคลอไรด์ อยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกอยู่แล้ว ยกเว้น ลูกที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากขึ้น คุณแม่อาจต้องรับประทานแร่ธาตุทั้งสองเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุนี้ในน้ำนมหรือเลือกให้แร่ธาตุทั้งสองแก่ลูกน้อยโดยตรงอีกวิตามินที่คุณแม่ผู้ให้นมลูกควรเสริมก็คือ วิตามินดี โดยควรเป็นวิตามินดีที่ได้จากอาหารและการได้รับแสงแดดเท่านั้น
แม่เป็นเบาหวาน กินยาได้หรือไม่
แม่ที่เป็นโรคเบาหวาน การให้นมลูกด้วยน้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ควรแนะนำให้ปฏิบัติ เนื่องจากจะมีผลดีในแง่ประโยชน์ของน้ำนมแม่เองแล้ว ในนมแม่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่1 ( Type I Diabetic Millitus ) (ต้องฉีดอินซูลินทุกวัน) การให้น้ำนมแม่อาจจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่1 ในลูกได้
- ยาฉีดอินซูลินชนิดที่เป็น human insulin ไม่สามารถผ่านไปยังน้ำนมได้จึงปลอดภัยต่อลูก
- ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือด ยากลุ่ม sulfonyluria ส่วนใหญ่สามารถผ่านทางน้ำนมได้ดี ยกเว้นGlibenclamide ที่ผ่านได้ปริมาณน้อย เช่นเดียวกับ Metformin แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในทารกที่แม่กินยาเหล่านี้ได้
โดยสรุป แม่เป็นเบาหวานให้ลูกกินน้ำนมแม่ได้ ยาฉีดอินซูลินชนิด human insulin ใช้ได้ปลอดภัย และไม่แนะนำให้ใช้ยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน
แม่เป็นโรคธัยรอยด์เป็นพิษให้ลูกกินนมแม่
แม่ที่เป็นโรคนี้ ต่อมธัยรอยด์จะทำงานมากผิดปกติ ยาที่แม่จะได้รับมีสองชนิด คือ
Propylthiouracil (PTU) และ Methimazole (MMI) ยาทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับการรับรองจาก American Academy of Pediatrics ว่าไม่มีผลต่อลูก อายุรแพทย์และสูติแพทย์มักจะให้ยาในขนาดต่ำสุดเท่าที่จะควบคุมอาการของแม่ได้ ปัจจุบันมีการวิจัยสนับสนุนแม่ที่กินยาต้านธัยรอยดสามารถให้นมแม่ได้ เช่น MMI ไม่เกิน 20 มก.ต่อวัน และ PTU ไม่เกิน 450 มก.ต่อวัน ซึ่งเป็นการวิจัยในแม่ที่เป็ชาวตะวันตก ส่วนในคนไทยยังไม่มีข้อมูล แต่ควรขนาดต่ำกว่านี้
แม่ควรกินยาหลังการให้นมแม่ และเว้นช่วง 3-4 ชั่วโมงก่อนให้นมลูกครั้งต่อไป แม่ต้องได้กับการประเมินเป็นระยะ เช่นเดียวกับลูก กุมารแพทย์จะติดตามดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์