น้องผิง ผิง  :"สวัสดีค่ะคุณลุงด็อกเตอร์แซม   หนูชื่อ..ผิงผิง…หนูมีเรื่องที่อยากขอให้คุณลุงช่วยตอบค่ะ  คือเมื่อวานหนูเป็นไข้ตัวร้อน  คุณแม่ให้หนูกินยาน้ำลดไข้รสเชอร์รี่ที่หวานอร่อยจังค่ะ  หนูขอกินเพิ่มอีกช้อน   แต่คุณแม่บอกว่า….." ไม่ได้หรอกลูก…ยาไม่ใช่ขนมค่ะ   " ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับยาอีกหลายอย่าง   ถ้าลูกอยากรู้   ด็อกเตอร์แซม ที่ รพ.สำโรงการแพทย์ให้คำตอบลูกได้ "  หนูจึงมาขอให้คุณลุงด็อกเตอร์แซมช่วยค่ะ

 

 

 

Dr.SAM :  สวัสดีครับ…ผิงผิง  หนูเป็นเด็กน่ารักและใฝ่ใจเรียนรู้  ลุงเชื่อว่าหนูจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีอนาคตสดใสแน่ๆ  คำถามของหนูและคุณแม่….มีประโยชน์กับทุกๆคนมาก.. ลุงยินดีเล่าให้ฟัง    เพราะบางเรื่องเกี่ยวกับการรักษา  หรือการใช้ยาที่เล่าต่อกันมาและเป็นที่เชื่อถือกันอยู่จำนวนไม่น้อย  บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง   บางเรื่องก็ไม่จริง  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจริงบางส่วน  หรือเป็นจริงภายใต้เงื่อนไขหรือภาวะหนึ่งๆ

เราลองมาดูกันว่า  เรื่องใดเป็นเรื่องจริงหรือเท็จอย่างไร

ความเชื่อ  ฉีดยาดีกว่ากินยา

โดยหลักการแล้ว  แพทย์จะเลือกใช้ยารับประทานเป็นลำดับแรก  เพราะใช้ง่าย สามารถรักษาครอบคลุมอาการได้เกือบทั้งหมด  ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานต่อได้และพกพาติดตัวได้ง่าย 

ยาฉีด  เหมาะกับผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่ได้  หรือผู้ป่วยที่มีอาการหนัก  หรือต้องการผลให้ระดับยาสูงขึ้นทันที  หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาให้ยากินต่อ  ข้อควรรู้คือ  อันตรายที่อาจเกิดจากยาฉีดนั้น  จะแก้ไขได้ยาก หรือรุนแรงมากกว่ายารับประทานและมีบ้างที่อาจแก้ไขไม่ทัน 

ความเชื่อ  ควรรับประทานยาหลังอาหารเสมอ

ความเชื่อนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป    เพราะ…ยาบางชนิดควรรับประทานหลังอาหารทันที  เพื่อลดผลข้างเคียงของยาที่อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร  โดยเฉพาะผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร   เช่น ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)  ได้แก่  ยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค  ยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน ยาฆ่าเชื้อเตตร้าไซคลีน   เป็นต้น 

ยาบางชนิดควรรับประทานก่อนอาหารครึ่ง ถึงหนึ่งชั่วโมง

เพื่อเพิ่มการดูดซึมของยาขณะท้องว่าง   เช่น  ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบคล็อกซ่าซิลลิน   ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบไดคล็อกซ่าซิลลิน

ความเชื่อ  ยาแผงดีกว่ายาเม็ด

สรรพคุณของยา  ไม่ได้ขึ้นกับว่า  ยานั้นบรรจุอยู่ในแผงหรือไม่  แต่ยาที่บรรจุแผงจะช่วยกันความชื้น  กันแตกกร่อน กันแสง  ( ชนิดแผงทึบ ,แผงสีที่มีคุณสมบัติกรองแสง )  ได้ดีกว่า มีการพิมพ์ข้อความช่วย  เช่น  ชื่อยา  วิธีใช้  เลขที่ผลิต  วันผลิต  วันหมดอายุ ฯลฯ  บนแผง

ความเชื่อ  เมื่ออาการหาย ก็ไม่ต้องรับประทานยาต่อ

ความเชื่อนี้  มีทั้งจริงและไม่จริง  ขึ้นกับชนิดของยาและโรคที่เป็น กรณีที่เป็นยารักษาอาการ  เช่น  ยาแก้ท้องเสีย ( ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ )   ยาแก้ปวดท้อง   ยาลดไข้  ยาแก้ปวดศีรษะ  ฯลฯ   ถ้าอาการหายก็ไม่ต้องรับประทานต่อ กรณีที่เป็นยาสำหรับโรคเรื้อรัง  เช่น  ยาเบาหวาน  ยาลดความดันโลหิตสูง  ยาลดไขมันในเส้นเลือด  ยาโรคหัวใจ  ยาที่จิตแพทย์สั่ง ฯลฯ   จะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง  แต่อาจจะเพิ่มหรือลดปริมาณยาขึ้นกับอาการมากน้อย   เช่น  ยาลดไขมันในเลือด  ขึ้นกับระดับไขมันในเลือด  ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยาให้   ห้ามเราปรับขนาดยาเอง 

ยาที่มีข้อความระบุ  ให้รับประทานต่อเนื่องจนหมด  เช่น  ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ  ยาถ่ายพยาธิ ยาวิตะมิน  ฯลฯ

ความเชื่อ  ยาชุดดีกว่ายาเดี่ยว

ยาชุดและยาเดี่ยว  มีข้อดี-ข้อเสีย  ทั้ง 2 ประเภท

ยาเดี่ยว  มีข้อดีคือ  เราสามารถเลือกรับประทานยา ตามอาการที่เป็นอยู่ได้  อาการใดหาย เราก็หยุดยาชนิดนั้นๆ   ข้อเสีย  คือมักมีราคาแพงกว่ายารวม  รับประทานไม่สะดวกเพราะต้องรับประทานครั้งละหลายๆเม็ด ในกรณีมีอาการหลายอย่าง

ยาชุด  มีข้อดีคือ ไม่ต้องรับประทานหลายเม็ดถ้ามีอาการหลายอย่าง  รับประทานสะดวก ราคามักถูกกว่า  ข้อเสีย  ถ้าอาการบางอย่างหาย ไม่สามารถหยุดยาบางตัวได้  มักมียาที่ไม่ ต้องการ-ไม่จำเป็น  หรือมีการผสมยาอันตรายด้วย  เช่น สเตียรอยด์

ความเชื่อ ถ้าอยากอ้วนมีน้ำมีนวลต้องกินสเตียรอยด์ 

เป็นความเชื่อที่ผิด  และอันตรายอย่างมาก  เพราะสเตียรอยด์ไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างที่เข้าใจ แต่ทำให้เกิดการบวม  และยังมีผลเสียมากมาย   เช่น  กดการทำงานของไขกระดูก  ระคายเคือง กระเพาะอาหารอาจเกิดกระเพาะทะลุได้ถ้าใช้เป็นประจำ  เป็นต้น

ความเชื่อ  ยาตัวเดียวกัน จะต้องรักษาโรคเดียวกัน

ไม่จริงเสมอไป   เพราะยาส่วนใหญ่  มักมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคมากกว่าหนึ่งอย่าง  เช่น ยาแก้แพ้  ใช้เป็นยาลดน้ำมูก หรือยาแก้คันก็ได้  ยาลดความดันบางชนิด ใช้เป็นยาปลูกผมได้ แต่ ขนาดยาที่ใช้รับประทานจะน้อยกว่ามาก  หรืออาจใช้เป็นยาทา   ยาลดความดันบางชนิด  ใช้ในโรคต่อมลูกหมากโต   เป็นต้น

ความเชื่อ ยาที่มีลักษณะเหมือนกัน เป็นยาเดียวกัน

ไม่จริงเสมอไป  เช่น  ยาแคปซูลสีดำ-แดง  อาจเป็นยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบอะม็อกซี่ซิลลิน  หรือแอมพิซิลลิน  หรือเตตร้าไซคลิน หรือ ฯลฯ  ก็ได้

ยาเม็ดหรือยาแคปซูลสีเหมือนกัน   ขนาดเท่ากัน  อาจเป็นยาเดียวกันหรือไม่ก็ได้  เพราะยาบางชนิดมีรูปร่าง-สี-ขนาดเหมือนกันทุกอย่าง  แต่เป็นยาคนละชนิดกัน   ยาที่จะเป็นชนิดเดียวกันต้องมีขนาด-สี-สัญลักษณ์ ( โลโก้ ) ตัวอักษร หรือตัวเลขเหมือนกัน   โดยตัวอักษรมักเป็นชื่อ ยี่ห้อยาหรือชื่อบริษัทยา  ตัวเลข  มักเป็นขนาดความแรงยาหรือรหัสเฉพาะของยาชนิดนั้นๆ

ความเชื่อ ยาตัวใหม่ดีกว่ายาตัวเก่า

มีส่วนจริงบ้าง  แต่ไม่เสมอไป  ยาที่ออกใหม่หลายตัวมีผลการรักษาไม่แตกต่างจากยาเดิมยาใหม่คิดค้นขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่ยาเก่าใช้ไม่ได้ผล  หรือลดผลข้างเคียงของยา  หรือวิธีใช้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม  ข้อเสียของยาใหม่คือ มีข้อมูลการใช้ไม่เพียงพอ มักจะไม่มีข้อมูลในผู้ตั้งครรภ์ ยาบางชนิดใช้ไประยะเวลาหนึ่ง จึงค้นพบผลข้างเคียงที่เป็นพิษรุนแรง จนอาจถูกระงับการผลิต  สิ่งที่ควรรู้คือ  การรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นการวินิจฉัยอาการได้ถูกต้อง  การให้ข้อมูลประวัติการ เจ็บป่วยที่ครบถ้วนจากผู้ป่วย  การเลือกใช้ยาที่เหมาะสม  ความร่วมมือในการรักษา   ความสามารถในการใช้ยาที่ถูวิธี  เช่น ยาพ่นสูดแก้หอบหืด  การปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ   การดูแลจัดเก็บยาที่มีในครัวเรือนอย่างถูกต้องเหมาะสมพร้อมใช้

ความเชื่อ  อาการเจ็บป่วยของตนนั้น  ต้องใช้ยาแรง  ยาอ่อนใช้ไม่ได้ผล

หากไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง  การเจ็บป่วยแต่ละครั้งไม่ขึ้นต่อกัน  การใช้ยาแต่ละครั้งจึงไม่เกี่ยวข้องกัน   ผู้ป่วยบางท่านอาจได้รับข้อมูลมาว่าสำหรับคุณจำเป็นต้องได้ยาแรง  หรือร้านนี้ไม่มียาอ่อน   คำพูดดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความเข้าใจที่ผิด เป็นเสมือนโฆษณาชวนเชื่อ  เพื่อสามารถเรียกเก็บเงินราคาสูง   ยาที่ดีที่สุดนั้น คือยาที่ตรงกับอาการ หรือสาเหตุจริงของการเจ็บป่วย  อาการจะหายหรือไม่ ขึ้นกับความสามารถในการวิเคราะห์วินิจฉัยโรค และการเลือกยาที่เหมาะสม  ข้อพึงปฏิบัติคือ  บอกเล่าอาการให้ละเอียด  มีประวัติการใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพร  การแพ้ยา  โรคประจำตัว  และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ  นอกจากนี้ต้องสอบถามวิธีปฏิบัติตัว  ข้อควรระวังขณะใช้ยานั้นๆ

ความเชื่อ  เมื่อเจ็บป่วย สามารถกินยาของคนอื่นที่เคยกินแล้วหายได้

เป็นจริงเพียงบางกรณี  เช่น  ยาแก้อาการพื้นๆ  เช่น  ยาแก้ปวดลดไข้  ยาแก้แพ้แก้คันแต่สำหรับโรคหรืออาการเฉพาะ  เช่น  เบาหวาน  ยาลดความดัน ฯลฯ  ไม่สามารถใช้ยาของญาติคนอื่นได้  โดย

ความเชื่อ ยาแพงต้องดีกว่ายาถูก ยานอกต้องดีกว่ายาที่ผลิตในประเทศไม่ได้รับการตรวจรักษา  เพราะยาเหล่านี้ขึ้นกับอาการและความเหมาะสม   และข้อจำกัด / ปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน

ไม่จริงเสมอไป  ยาที่แพงอาจเนื่องจากบวกค่าโฆษณา  ค่าการค้นคว้า  บวกกับกำไรหลายเท่า ข้อควรปฏิบัติคือ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรว่า  ยาดังกล่าวสามารถเชื่อถือคุณภาพได้ มากน้อยเพียงใด  ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาคุณภาพยา

เป็นอย่างไรบ้างครับ…น้องผิงผิง กับคุณแม่   จะเห็นว่าความเชื่อเกี่ยวกับยาที่ไม่ถูกต้องมีมากมาย  ที่เราควรทำความเข้าใจ  เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับทุกๆคนในครอบครัวนะครับ

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์