นัยน์ตากับยาที่ใช้
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
ยา และความผิดปกติทางตาที่พบบ่อย
ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตของคนเราสะดวกและง่ายขึ้น เราจึงควรถนอมให้สามารถใช้งานได้ยาวนานตลอดชีวิต โดยเฉพาะเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา ก็ควรดูแลรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี ไม่ควรใช้ยาตามผู้อื่น โดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพราะความผิดปกติทางตามีสาเหตุหลากหลาย เช่น อาจเป็นเพียงสายตาผิดปกติ ( สั้น ยาว เอียง ) การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ หรืออักเสบจากการบาดเจ็บ ( ถูกของแข็ง ) การใช้สายตาโดยไม่พัก ตาแห้ง โรคเกี่ยวกับนัยน์ตา เช่น ต้อต่างๆ หรือเกิดจากการใช้ยาตาที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยาตาที่มีส่วนผสมของสารกันบูดในรายที่ตาแห้งมาก เป็นต้น
ยาที่ใช้รักษา
การจะใช้ยาประเภทไหน ขึ้นกับสาเหตุของโรคและอาการที่เป็น เนื่องจากยาตามีหลายประเภท เช่น
1.ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ ที่เรียกยาปฏิชีวนะ มีหลายชนิด เช่น Chloramphenical , Ciprofloxacin , Gentamicin Tobramycin ,Oxytetracycline เป็นต้น ใช้กับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก็มีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็ไวต่อยาต่างชนิดกัน หรือยาใช้กับเชื้อไวรัส เช่น Acyclovir เป็นต้น จึงต้องใช้ยาให้ตรงกับชนิดของเชื้อ มิเช่นนั้นนอกจากไม่หายแล้วยังอาจแพ้ยาได้ด้วย
2.ยาลดการอักเสบ เช่น สเตีรอยด์ บางชนิดที่ทำเป็นยาตา เช่น Prednisolone , Dexamethasone เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีเป็นยาที่มีผลข้างเคียง จึงไม่ควรใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้
3.ยาที่ลดอาการภูมิแพ้ ในผู้ที่แพ้สาร ฝุ่น ลม เช่น Antrazoline , Tetryzolin
4.ยาบรรเทาอาการตาแห้ง ประกอบด้วยสารหล่อลื่น ให้ความชุ่มชื้นแก่นัยน์ตา เช่น Carbomer , Carboxymethylcellulose Destran 70 เป็นต้น
5.ยารักษาโรคต้อหิน เช่น Bimatoprost ,Latanoprost ,Timolol maleate เป็นต้น
6.ยารักษาโรคต้อกระจก เช่น Dihydroazapentacene เป็นต้น
รูปแบบยาตา มีความสำคัญต่อการใช้ เช่น
1.ยาตาชนิดน้ำ (Ophthalmic solution) ได้แก่ ยาล้างตา (Eye lotion) ใช้ชะล้างตาให้สะอาดหรือหายจากการระคายเคือง เนื่องจากฝุ่นละอองปลิวเข้าตา แต่ไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้
2.ยาหยอดตาชนิดใส (Eye drop) ประกอบด้วยตัวยาซึ่งละลายได้ดีในน้ำ มีจำนวนใช้ยาเพียงไม่กี่หยด
3.ยาหยอดตาชนิดแขวนตะกอน (Ophthalmicsuspension) ยาชนิดนี้มีลักษณะขุ่นขาว เวลาใช้ต้องเขย่าขวดก่อนเพื่อให้ผงยากระจายตัวเต็มที่
4.ยาขี้ผึ้งป้ายตา (Ophthalmic ointments) ยาตาประเภทนี้จะมีความเหนียวหนืด จึงเหมาะสมที่ใช้ในเวลากลางคืนก่อนนอน
ข้อควรระวัง : ยาขี้ผึ้งชนิดป้ายแผลภายนอกมีลักษณะ คล้ายหลอดป้ายตา แต่ต่างกันที่หลอดยาป้ายจะมีปลายเรียวแหลมกว่า และชนิดป้ายตาเป็นยาที่ปราศจากเชื้อมีความเป็นกรด-ด่าง เหมาะสมกับนัยน์ตา ส่วนชนิดป้ายแผลไม่มีคุณสมบัตินี้ จึงห้ามนำมาป้ายตา
5.ยาฉีดเข้าใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival injection) ยาประเภทนี้จะใช้ต่อเมื่อหยอดยาหรือป้ายตาแล้วไม่ได้ผล วิธีใช้ยารูปแบบนี้มีจักษุแพทย์เป็นผู้ใช้เท่านั้น
โรคต่างๆเกี่ยวกับตา
1. โรคเยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis)
1.1 เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อ S. aureus, S. pneumoniae, Moraxella spp., H. influenza, P. aeruginosa
อาการ : ตาแดง ขี้ตามาก ขี้ตามีสีเหลืองเขียว เคืองตา การมองเห็นผิดปกติ
การรักษา : รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ภายนอก เช่น ยาหยอดตา ยาป้ายตา โดยความถี่ของการใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและเชื้อ เช่น Chloramphenicol , Neomycin, Tobramycin , Polymyxin B เป็นต้น
ขนาดที่ใช้ : หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
หมายเหตุ : 1.ไม่ควรใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือด(Vasoconstictors) เช่น Oxymetazoline เนื่องจากอาการตาแดงอาจหายไปทั้งๆ ที่โรคยังไม่หาย
2.ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ Chloramphenicol ต้องเก็บในตู้เย็นช่องแช่เย็นปกติ เพื่อรักษาคุณภาพยา
1.2 เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis)
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus
อาการ : ตาสีชมพูแดง มีน้ำตาไหล คันตา เคืองตา ขี้ตาน้อย อาจมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต มักเป็นทั้งสองข้าง การมองเห็นปกติ มักเกิดหลังจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
การรักษา : รักษาโดยการใช้ยาหยอดตา ยาป้ายตา ประเภทยาแก้แพ้ เช่น Antazoline, Tetryzoline เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา steroid
ขนาดที่ใช้ : หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
1.3 เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
สาเหตุ : เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น ควันบุหรี่
อาการ : ตาแดง คันเคืองตา มีน้ำตาไหล มักเป็นทั้งสองข้าง เยื่อบุตาบวม มักเป็นๆ หายๆ และอาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย
การรักษา : รักษาโดยการใช้ยาหยอดตา-ป้ายตา ประเภทยาแก้แพ้ เช่น Antazoline, Tetryzoline เป็นต้น รักษาโดยการใช้ยาหยอดตา-ป้ายตา ที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือด(Vasoconstictors) เช่น Oxymetazoline
ขนาดที่ใช้ : หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
หมายเหตุ : ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาประเภท steroid ยกเว้นรายที่มีอาการรุนแรงจริงๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดต้อหินได้
2. ตากุ้งยิง (Hordeolum)
2.1 ตากุ้งยิงภายนอก (External stye, External Hordeolum)
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อ S. aureus ของเปลือกตา
อาการ : เปลือกตาอักเสบ แดง รู้สึกมีสิ่งแปลกปลอมในตา ปวด บวม กลัวแสง มีน้ำตาไหล
การรักษา :รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะป้ายตา เช่น Oxytetracycline,Polymyxin-B เป็นต้น โดยป้ายทุก 2-4 ชม.
2.2 ตากุ้งยิงภายใน (Internal Hordeolum)
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococci ที่ต่อม meibomian
อาการ : เป็นก้อนกดเจ็บ เกิดเป็นหนอง ถ้าไม่รักษาจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง
การรักษา :โดยการใช้ยารับประทานชนิดปฏิชีวนะ หรือใช้ยาหยอดตาหรือป้ายตาประเภทยาปฏิชีวนะ
3. ตาแห้ง
เป็นภาวะที่น้ำตาหรือน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาน้อยกว่าปกติ รักษาโดยการใช้น้ำตาเทียมในรูปแบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตา ซึ่งมีส่วนประกอบของสารประเภทหล่อลื่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น Carboxymethylcellulose , Carbomer , Hydroxypropylmethylcellulose, Glycerine, Dextran 70 , Sodium hyalutonate เป็นต้น
การเลือกใช้ยาชนิดใด ขึ้นกับอาการตาแห้งเป็นมากหรือน้อย รายที่เป็นมากอาจต้องใช้ทั้งชนิดหยอดตาในเวลากลางวัน และชนิดขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน
4.โรคริดสีดวงตา (Trachoma)
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis พบมากในที่แห้งๆ ที่มีแมลงหวี่ แมลงวัน
อาการ : คันเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย เยื่อบุตาหนาขึ้นและเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ออกสีเหลืองๆ ด้านในตา
การรักษา :รักษาโดยการใช้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น Tetracyclin หรือ Erythromycin และใช้ยาป้ายตาประเภทยาปฏิชีวนะ ป้ายวัน
ละ ครั้ง ติดต่อกันจนครบ 6 สัปดาห์
5.การบาดเจ็บของดวงตา (Injuries)
5.1. เกิดจากการกระแทก โดนชก อุบัติเหตุ รักษาโดยการประคบเย็นภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวม แล้วประคบร้อน เพื่อลดการคั่งของเลือด
5.2 เกิดจากฝุ่นละออง ขนหรือผมเข้าตา รักษาโดยการล้างตาด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Nornal saline 0.9 % ) หรือน้ำสะอาด
6.โรคต้อกระจก (Cataract)
สาเหตุ : มักเกิดในเด็กที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์, อุบัติเหตุ, อายุมากขึ้น
อาการ : เลนส์แก้วตาขุ่นมัว ตามัวลงเหมือนมีหมอกฝ้า มองกลางคืนไม่ชัด
การรักษา : 1. การใช้ยาเพื่อป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเลนส์ตา เช่น Pirenoxine(Catalin), Quinax
2. การผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม (Intraocular lens)
7.โรคต้อหิน (Glucoma) แบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้
7.1 ต้อหินมุมเปิด(Open angle glaucoma)
สาเหตุ ที่พบมากที่สุดเกิดจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงตาอุดตัน ทำให้ความดันในลูกตาสูง
อาการ : โรคต้อหินมีการดำเนินของโรคอย่างช้าๆ ความดันในตาค่อยๆ เพิ่ม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ นอกจากที่เป็นเฉียบพลันจะมีอาการมองเห็นไม่ชัด เมื่อมองแสงไฟจะเห็นรุ้งกินน้ำเป็นวงๆ ปวดตา
7.2 ต้อหินมุมปิด(Close angle glaucoma)
เกิดจาการที่มุมระหว่าง iris และ cornea แคบ เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากมีการอุดตันของท่อระบายน้ำลูกตา ทำให้ความดันในลูกตา
เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาการสำคัญ : ปวดศีรษะ ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน เห็นแสงเป็นสายรุ้งรอบดวงไฟและตามัวลง
สาเหตุ: เกิดจาการเสื่อมของร่างกาย
วิธีใช้ยาหยอดตา
1. ล้างมือให้สะอาด เขย่าขวดยา
2. นอนหรือนั่งแหงนหน้ามองขึ้นข้างบน ใช้มือดึงหนังตาล่างให้เป็นกระพุ้ง
3. หยอดตาตามจำนวนหยดลงไป ระวังอย่าให้หลอดหยดโดนตา
4. หลับตาพร้อมทั้งใช้มือกดหัวตาไว้ประมาณ 1-2 นาที
5. หากต้องหยอดยาตาหลายชนิดในช่วงเดียวกัน ให้เว้นประมาณ 5 นาที เพื่อให้ยาแต่ละชนิดออกฤทธิ์ได้ดี
6. เมื่อเปิดยาใช้แล้ว ควรทิ้งหลังจาก 1 เดือน
สิ่งที่ควรระวัง คือ - อย่าให้ปลายหลอดหยดถูกตาเพราะอาจมีเชื้อหรือสิ่งสกปรกติดกลับเข้าไปในขวดและเมื่อใช้แล้วต้องรีบปิดขวดทันที
- ห้ามล้างหรือทำความสะอาดหลอดหยดระหว่างใช้
วิธีป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตา
1. ล้างมือให้สะอาด
2. เปิดฝาหลอดขี้ผึ้งที่บรรจุยา แล้วบีบส่วนแรกของยาขี้ผึ้งทิ้งเล็กน้อย
3. นอนหรือนั่งแหงนหน้ามองขึ้นข้างบน ใช้มือดึงหนังตาล่างให้เป็นกระพุ้ง
4. บีบยาลงในกระพุ้งตาขนาดประมาณ 1 ซ.ม. โดยเริ่มจากหัวตาไปหางตา ระวังอย่าให้ปลายหลอดสัมผัสดวงตาหรือเปลือกตา
5. หลับตากลอกลูกตาไปมาในขณะที่ยังหลับตาอยู่ ประมาณ 1-2 นาที หรือใช้นิ้วมือคลึงเบาๆ เช็ดยาส่วนเกินออก
6. ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาป้ายตาร่วมกับยาหยอดตา ให้ใช้ยาหยอดตาก่อนป้ายตาประมาณ 10 นาที
7. ปิดฝาจุกของหลอดขี้ผึ้งป้ายตาทันที
การเก็บรักษายาที่เปิดใช้แล้ว
การเปิดภาชนะที่บรรจุยาตาไม่ว่าจะเป็นชนิดขวดหรือชนิดหลอดในแต่ละครั้งนั้น อาจจะมีเชื้อจุลชีพจากอากาศเข้าไปทุกครั้ง ดังนั้นหลังจากใช้เสร็จแล้วจะต้องรีบปิดฝาภาชนะให้แน่น ซึ่งไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน ส่วนยาบางชนิดที่ไม่ใส่สารกันเสียไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 วัน เช่น น้ำตาเทียมที่เป็นหลอดแบบใช้วันเดียว นอกจากนี้ยาบางชนิดควรเก็บไว้ในตู้เย็นห้ามถูกแสง และควรเก็บให้ไกลมือเด็ก
ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์