ปากไม่ดี…มียาช่วย
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
ชีวิตคนเราเจริญได้เพราะอาศัย “ ปาก “ มาโดยตลอด เพราะปากเป็นทางผ่านของอาหารและน้ำที่หล่อเลี้ยงจนเติบใหญ่ หรืออ้วนเกินสมบูรณ์ เป็นที่สร้างวจีกรรมนำให้รุ่งเรืองก้าวหน้าหรือตกต่ำ ปาก ( และฟัน ) จึงรับบทหนักในการเคี้ยวย่อยอาหาร สารพัดชนิดที่คนเราสรรหานำเข้าปาก ทั้ง เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เหนียว แข็ง สุก ดิบ หมากพลู บุหรี่ เหล้า ฯลฯ เวลาป่วยก็ยัง ต้องอาศัยปากเป็นทางผ่านของยา แม้แต่โรคบางโรค เวลานอนก็อาจไม่ได้พักเพราะต้องใช้ปากหายใจแทนจมูก เมื่อปากถูกใช้งานอย่างหนักหรือได้รับการดูแลรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ อาจเกิดปากไม่ดี (ป่วย) ด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องได้หลากหลาย หากเป็นโรคร้ายแรงก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม เช่น มะเร็งในช่องปาก ทำให้ไม่สามารถส่งต่ออาหารหล่อเลี้ยงร่างกายได้ โรคและความผิดปกติที่พบได้บ่อย เช่น
-
ฟันผุ
หมายถึง การสูญเสียเนื้อฟัน และเคลือบฟัน ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งของฟันไป โดยกระบวนการย่อยสลาย ที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องปาก ทำการย่อยเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในปาก ทำให้เกิดกรดขึ้นทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุ ที่เป็นองค์ประกอบของเคลือบฟัน และเนื้อฟัน เกิดการเสียสมดุลของแร่ธาตุบนตัวฟัน เนื้อฟันจึงอ่อนตัว และหลุดไป เกิดเป็นหลุม หรือโพรงขึ้น เรียกว่า รูผุของฟัน (Cavitation) ในภาวะที่มีสารประกอบฟลูออไรด์ในน้ำลาย จะช่วยเร่งให้ปฏิกิริยาการคืนกลับของแร่ธาตุได้ดีขึ้น จึงสามารถยับยั้งการผุของฟัน ระยะแรกไม่ให้ลุกลามต่อไปอีก
-
โรคปริทันต์
เกิดขึ้นกับอวัยวะปริทันต์ ที่อยู่รอบฟัน ได้แก่ เหงือก เคลือบรากฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน เกิดขึ้นได้ทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นชนิดเรื้อรัง มีการดำเนินโรคตั้งแต่วัยเด็ก หรือวัยรุ่น ซึ่งอาการไม่รุนแรงนัก คือ มีการอักเสบบวมแดงที่ขอบเหงือก มีเลือดออกเมื่อแปรงฟัน ซึ่งมักจะละเลยทำให้โรคดำเนินต่อไปจนถึงระยะรุนแรง (Advanced Periodontitis) อาการแสดงได้แก่ มีอาการปวด ฟันโยก มีฝีปลายรากฟัน มีหนองเกิดขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่อวัยวะปริทันต์ถูกทำลายไปมาก จนไม่สามารถรักษาฟันให้คงอยู่ได้ โรคปริทันต์จึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
-
โรคเหงือกอักเสบ
เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคที่สะสมรอบๆตัวฟัน โดยเหงือกจะมีลักษณะบวม แดง เป็นมัน ดูฉุๆ หากถูก
ขนแปรงตอนแปรงฟัน หรือลองใช้ไม้จิ้มฟันสอดเข้าไปในร่องเหงือกจะมีเลือดซึมออกมาได้ บริเวณที่เห็นได้ง่ายคือซอกฟันซึ่งเป็นบริเวณที่มักพบโรคก่อน
-
แผลในช่องปาก
ที่พบบ่อย ได้แก่ แผลร้อนใน บางทีเรียก แผลปากเปื่อย เริ่มจากเป็นรอยบวมแดงๆ 2-3 วัน จากนั้นจะแตกออกเป็นแผล มีลักษณะเป็นรอยหวำตื้นๆ ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่ มีเยื่อเมือกบางๆ สีขาว หรือสีเหลืองปกคลุมอยู่ ขอบแผลเล็กๆสีแดงล้อมรอบ ขนาดของแผลไม่โตมากนัก ตั้งแต่หัวเท่าเข็มหมุดจนถึงขนาดใหญ่มาก แผลจะเกิดได้ทั่วไปในช่องปาก ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เนื่องจากมีอาการปวดแสบปวดร้อน ในระยะ 3-4 วัน รอยแผลจะหายได้เอง ใน 7-10 วัน
สาเหตุการเกิดแผลในปาก
1. แผลร้อนใน : เกิดขึ้นเอง มักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 10-30 ปี มีคนในครอบครัวเคยเป็น อาจจะมีอาการไข้ต่ำๆ เจ็บคอได้บ้าง แต่ไม่ควรมีอาการอื่นๆนอกเหนือจากนั้นมากนัก
2. แผลจากการบดขยี้เสียดสี : คือการเกิดแผลตามหลังการกัดไปถูกปาก หรือการถูกกระทบกระแทกจากภายนอก สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเคี้ยวกลืนอาหารแข็งแห้ง เช่น ขนมกรุบกรอบ ที่ทำให้เกิดแผลเล็กๆที่ไม่รู้สึกในตอนแรกได้ง่าย
3. แผลจากโรคติดเชื้อ : จากเชื้อไวรัสโดยเฉพาะพวกเริม แต่ก็มีโรคอีกหลายตัวที่ทำให้เกิดแผลในปากได้ เช่น ซิฟิลิส โรคมือเท้าปาก เชื้อรา ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องอาศัยประวัติอาการ และอาการที่เกิดร่วมกันในการประเมิน
4. แผลจากโรคกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ : เช่น SLE(โรคแพ้ภูมิตนเอง,โรคพุ่มพวง) Reiter’s , Behcet’s
5. แผลมะเร็ง
6. แผลจากการแพ้หรือระคายเคือง : โดยทำให้เนื้อเยื่อเกิดความอ่อนแอลงและเกิดแผลได้ง่าย
7. แผลจากยา : ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และยาลดความดันกลุ่ม Bata Blocker ทำให้เกิดแผลได้โดยที่ไม่เกี่ยวกับการแพ้
-
เริม
เกิดจากเชื้อไวรัส พบบ่อยที่ริมฝีปาก มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองเป็นกลุ่ม ยาที่ใช้ เช่น Acyclovir Cream บรรเทาอาการ สามารถกลับเป็นซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด พักผ่อนน้อย เพราะเชื้อไวรัส
สามารถหลบไปซ่อนตัวตามปมประสาทได้
-
ลิ้นเป็นฝ้าขาว
สาเหตุ :
- คราบสกปรกที่ลิ้น จากการทำความสะอาดไม่ดี - เยื่อบุของลิ้นมีแผล
- ช่องปากอักเสบ ต่อมน้ำลายอักเสบ - เชื้อราที่ลิ้นและเยื่อบุปาก
- ผลจากอมเม็ดอมในปากเป็นประจำ - ฟันผุ และหินปูนในปาก
- เศษอาหารหรือ คราบอาหารหลังรับประทานอาหาร เช่น คราบขนม, นม (ในเด็ก) เป็นต้น
ยาที่ใช้ในช่องปาก
-
ยาป้ายปากเพื่อรักษาอาการอักเสบของช่องปาก
- ยาป้ายจำพวกสเตียรอยด์ : Triamcinolone acetonide oral paste สำหรับใช้ภายในปากใช้ทาเฉพาะที่ในการรักษาแผลในช่องปาก
ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ โดยทายาตรงบริเวณที่ต้องการใช้เป็นแผ่นบาง ๆ แต่อย่าถูเข้าไป ควรใช้ยาเวลาก่อนนอน เพื่อให้ตัวยาสัมผัสกับแผลได้ตลอดคืน ในบางรายที่จำเป็น ต้องทายาวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร ถ้าบริเวณที่ทายา ไม่มีอาการดีขึ้นภายใน 7 วัน ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์
-
ยาป้ายรักษาอาการฝ้าขาวที่ลิ้น
0.5% - 1% gentian violet : ได้ผลดีในการรักษาโรคติดเชื้อราชนิด Candida
- วิธีใช้ : ทาวันละ 1-2 ครั้ง นาน 5-7 วัน
- ข้อดี : ได้ผลดี ราคาถูก
- ข้อเสีย : สีม่วงติดที่บริเวณผิวหนังที่ทายา
2% Miconazole oral gel : สำหรับป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อราในช่องปาก ลำคอ และทางเดินอาหาร
- วิธีใช้ : ขนาดการใช้ขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ปกติทาวันละ 2 - 4 ครั้ง โดยควรใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วันหลังจากอาการหาย หรือดีขึ้นแล้ว
-
น้ำยาบ้วนปาก
เป็นที่รู้กันดีว่า การแปรงฟันเป็นวิธีป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบที่ได้ผลที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดแผ่นคราบฟันและคราบจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากเศษอาหารตกค้างอีกด้วย ทันตแพทย์จึงแนะนำให้แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ซึ่งในความจริงเป็นไปได้ยากเต็มที สิ่งที่ช่วยได้อย่างหนึ่งคือ การบ้วนปาก โดยวิธีบ้วนปากที่ได้ผลคือ การดันกระพุ้งแก้มให้น้ำเคลื่อนไปด้านซ้ายและด้านขวา หน้าและหลัง บ้วนปากเช่นนี้ซ้ำ 2-3 ครั้ง จะรู้สึกว่าช่องปากสะอาดขึ้นมาก ในท้องตลาดมีน้ำยาบ้วนปากหลายชนิด จำเป็นต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและไม่เกิดอันตรายต่อช่องปากและฟันเป็นหลัก จำแนกได้ดังนี้
• น้ำยาบ้วนปากที่ช่วยให้ลมปากสดชื่น : ส่วนผสมที่สำคัญคือ ยาฆ่าเชื้อโรคและสารที่ทำให้มีกลิ่นหอม ช่วยให้ลมปาก สดชื่น แต่มีผลแค่ชั่วคราว เพราะเชื้อในช่องปากมีหลายชนิด และยาฆ่าเชื้อที่ใส่ลงไป ก็มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้ออย่างอ่อนๆ เท่านั้น ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้มข้นเกินไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแบบเข้มข้นสูงเกินไป ล้วนอาจทำให้สมดุลในช่องปากเสียไป อาจเกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องปากได้
• น้ำยาอมบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุได้ : ปกติเราได้รับฟลูออไรด์จากอาหารที่กินและน้ำที่ดื่มอยู่แล้ว การใช้ฟลูออไรด์ที่ได้ผลดี ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพที่สุดคือ การใช้ในรูปของยาสีฟัน ซึ่งเราใช้เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ส่วนการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์หลังการแปรงฟัน แม้มีรายงานว่า สามารถลดการเกิดฟันผุได้ แต่หากได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปหรือเกิดการสะสมก็อาจส่งผลเสีย เช่น ทำให้ฟันตกกระ มีความผิดปกติในการสร้างกระดูกได้ เป็นต้น
• น้ำยาบ้วนปากที่ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก : ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยที่มีเหงือกอักเสบลุกลาม หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคเหงือกโดยวิธีผ่าตัด เพื่อให้แผลผ่าตัดหรือเหงือกอักเสบหายเร็วขึ้น การใช้น้ำยาบ้วนปากประเภทนี้จึงควรใช้เมื่อทันตแพทย์แนะนำเท่านั้น
• น้ำยาบ้วนปากที่ผสมคลอเฮกซีดีน : คลอเฮกซีดีนที่ผสมในน้ำยาบ้วนปากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการเกิดแผลในช่องปาก ลดการเกิดฟันผุ และบรรเทาอาการเจ็บคอได้ แต่ข้อเสียคือน้ำยาจะขมมากและหากใช้ติดต่อกันนานๆ มักทำให้เกิดคราบสีเหลืองปนน้ำตาลบนตัวฟัน และอาจทำให้การรับรสอาหารเสียไปด้วย
• น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากพืชหรือสมุนไพร : สารสกัดจากพืชหรือสมุนไพรช่วยให้มีกลิ่นหอมและรสชาติดีขึ้น ระงับกลิ่นปาก และลดการอักเสบในช่องปากได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ได้บ้างเช่นกัน
• น้ำยาบ้วนปากที่ระบุใช้ก่อนแปรงฟัน : วัตถุประสงค์เพื่อให้คราบจุลินทรีย์อ่อนตัวและหลุดออกง่าย โดยใช้อมก่อนการแปรงฟันเพื่อช่วยให้การแปรงฟันมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ก็ไม่มีผลแตกต่างนักจากผู้ที่ไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังบ้วนปากไม่ได้ดีนักยิ่งไม่เหมาะและไม่จำเป็น การใช้น้ำยาบ้วนปากที่ดีต้องใช้ปริมาณที่พอเหมาะ อมกลั้วปากให้นานพอ มีความถี่ในการใช้สม่ำเสมอเพียงพอจึงจะได้ผลเต็มที่ ที่สำคัญน้ำยาบ้วนปากที่ทำออกมาขาย ในลักษณะที่มีความเข้มข้นมาก ก่อนใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจาง มิฉะนั้นจะเกิดอาการแสบร้อน ชาและไม่รับรู้รสชาติสักพักหนึ่ง
-
ยาพ่นรักษาอาการเจ็บคอ
โดยทั่วไปอาการเจ็บคอมักเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อบริเวณอวัยวะในลำคอ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ (tonsillitis), กตลำคอส่วนบน (pharyngitis) แต่ทั้งนี้อาการเจ็บคอไม่จำเป็นต้องมาจากการติดเชื้อเสมอไป แต่มาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การอักเสบของเส้นเสียงจากการใช้เสียงมากเกินไป หรือจากอาการแพ้อากาศ ดังนั้นความเชื่อที่ว่าหากมีอาการเจ็บคอต้องรับประทานยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อทุกครั้งจึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะการใช้ยาฆ่าเชื้อต้องใช้กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น หากเป็นอาการเจ็บคอที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ดังที่กล่าวมาการใช้ยาชนิดนี้จะไม่มีผล ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อยาในอนาคต
ตัวอย่างยาพ่นกลุ่มนี้ ได้แก่ :-
1.ยาทำจากน้ำมันหอมระเหย (เช่น ยี่ห้อ Kamilosan-M spray ) เป็นที่นิยมใช้มากๆ ในการลดอาการเจ็บคอ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆที่ผสมในตัวยานั้นมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ได้หลายประการ เช่น ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ฤทธิ์เพิ่มสารคัดหลั่งในบริเวณทางเดินหายใจ (คุณสมบัติข้อนี้มีผลลดอาการระคายเคืองของทางเดินหายใจได้ ใช้สำหรับอาการไอภูมิแพ้และอาการระคายเคืองเจ็บคอ), ฤทธิ์ลดอาการอักเสบ และตัวยาแผนปัจจุบันอีก 1 ชนิดคือ คือ เมทิลซาลิไซเลท ก็คือตัวยาที่ถูกพัฒนามาจากแอสไพริน (aspirin) ซึ่งใช้เป็นยาสำหรับลดอาการบวมและอักเสบ ยาพ่นชนิดนี้ค่อนข้างปลอดภัย เพราะตัวยาไม่ได้เข้าไปในร่างกายโดยตรง หรือสามารถผ่านเข้าไปได้น้อยมาก สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยโรคตับ ไต ไม่มีข้อมูลการใช้ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร จึงควรระมัดระวังในการใช้ และควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาจำพวกแอสไพริน
2. โพวิโดนไอโอดีน (เช่น ยี่ห้อ Isodine spray) เป็นยาฆ่าเชื้อ เหมาะกับผู้ที่มีอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อ สามารถใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัยในผู้ป่วยหลายๆ กลุ่มเพราะเป็นยาใช้ภายนอก แต่ให้ระมัดระวังในผู้หญิงตั้งครรภ์และมีประวัติเป็นโรคไทรอยด์
-
ยาชา
ที่ใช้ในช่องปากที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทยคือ Lidocaine อาจมีการผสมสารให้ความหวาน ทำให้ใช้ง่ายในเด็ก ยานี้ใช้สำหรับทำให้ชาในช่องปาก และทางเดินอาหารส่วนบน มีคุณสมบัติเหนียวมาก กระจายตัวได้ดี แทรกเข้าไปตามซอกต่างๆได้ดี เนื่องจากเหนียวจึงติดตามผิวเยื่อบุได้นานจนฤทธิ์ยาชามีมากพอเพียง
ยาที่ใช้ทางช่องปากแต่ไม่ได้รักษาอาการที่ช่องปากโดยตรง
-
ยาอมใต้ลิ้น
เป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ช่วยให้หลอดเลือดที่อุดตันหรือตีบนั้นถ่างออก เลือดจึงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำให้อาการเจ็บหน้าอกหายไป ใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จึงควรพกยาอมใต้ลิ้นติดตัวเสมอ โดยไม่แบ่งยาอมใต้ลิ้นจากขวดบรรจุใส่ซองพลาสติก เมื่อเกิดอาการเจ็บหน้าอก จะได้หยิบใช้ได้ทันที
วิธีใช้ยาอมใต้ลิ้นที่ถูกต้อง
* เริ่มตั้งแต่ หากมีอาการแน่นหน้าอกให้นั่งลงบน หลังพิงกำแพง เสา ตู้ หรือต้นไม้ หรือให้มีคนช่วยประคองหลังไว้ นำยา 1 เม็ด (ห้ามใช้เกิน ครั้งละ 1 เม็ด) ออกจากขวดบรรจุ แล้ววางไว้ใต้ลิ้น (ห้ามเคี้ยว ทำให้แตก หรือบดยา) จากนั้นปิดปาก และอมยาไว้ โดยไม่กลืนน้ำลาย ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มใดๆ ตามลงไป ปล่อยให้ยาค่อยๆ ถูกดูดซึม ผ่านหลอดเลือดบริเวณใต้ลิ้น อาการ เจ็บหน้าอกจะค่อยๆ บรรเทาลงภายใน 1-2 นาที
* ถ้าหลังจากอมยาไปแล้ว 5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้น ให้อมยาเม็ดที่ 2 รอดูอาการอีก 5 นาที
* ถ้ายังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ ให้อมยาเม็ดที่ 3 แล้วรีบไปโรงพยาบาล เพราะหากอมยาไป 3 เม็ดแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย อันจะส่งผลต่อไปให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ยาอมใต้ลิ้นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาล คือ ยาในกลุ่มไนเตรต ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) และไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) ซึ่งมีข้อแตกต่างกัน คือ ยา nitroglycerin มีระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์เร็วกว่าและระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของยานานกว่า Isosorbide dinitrate และยังมีข้อบ่งใช้ในโรคปวดเค้นหัวใจแบบเรื้อรัง (chronic angina pectoris) แต่เมื่อละลายจะรู้สึกเผ็ดร้อนที่ใต้ลิ้น มีอาการหน้าแดง (flush) หรือปวดหัวได้
-
ยาพ่นแก้หอบ
โรคหอบหืดเป็นโรคของหลอดลมที่มีการอักเสบเรื้อรัง [Chronic inflammatory] เป็นผลให้มี cell ต่างๆ เช่นmastcell,eosinophils,Tlymphocyte,macrophage,neutrophil มาสะสมที่เยื่อบุผนังหลอดลม ทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ[bronchial hyper-reactivity] ผลจากการอักเสบจึงทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมมีการหนาตัว กล้ามเนื้อหลอดลมมีการหดเกร็งตัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด และหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะเกิดขึ้นทันทีที่ได้รับสารภูมิแพ้
ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืด
1.ยาต้านการอักเสบ
1.1 ยาสเตียรอยด์ : เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา โรคหอบหืด สำหรับผู้ป่วยเด็ก และผู้ใหญ่ ยานี้มีทั้งรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน และรูปแบบพ่นเข้าสู่หลอดลมโดยตรง อย่างไรก็ตามยาในรูปแบบพ่นถือได้ว่าเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาของคนไข้หอบหืดเรื้อรัง และมีความปลอดภัยสูง เพราะปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆจากการใช้ยานี้
ส่วนยาในรูปแบบรับประทานจะใช้รับประทานเมื่อมีอาการกำเริบอย่างรุนแรงหรือไม่สามารถจะพ่นยาได้ และจะใช้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วย โรคหอบหืด รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจพบผลข้างเคียงขึ้นได้เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อ กระดูกผุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และบวมตามที่ต่างๆ
1.2 โครโมลิน และนิโดโครมิล : เป็นยาพ่นที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และลดการอักเสบที่จะเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายหรืออากาศเปลี่ยน
2.ยาขยายหลอดลม ยาประเภทนี้จะช่วยขยายหรือคลายกล้ามเนื้อรอบๆหลอดลมที่หดเกร็งตัว
2.1 ยากลุ่มเบต้าอะโกนิส : ที่ใช้แพร่หลายคือยาพ่นแบบน้ำ และแบบผง อีกทั้งยังมียาเม็ด และยาน้ำในรูปแบบรับ ประทาน รวมทั้งรูปแบบที่ใช้กับเครื่องปั๊ม ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการขยายหลอดลมสูง นิยมใช้ในคนไข้โรคหอบหืด ที่ มีอาการกำเริบเฉียบพลัน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงในภายหลัง เพราะไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคหอบหืด
2.2 ยากลุ่มแซนทีน : มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และขยายหลอดลม สำหรับใช้ในคนไข้ โรคหอบหืดเรื้อรัง ในปัจจุบันพบได้ทั้งยาฉีดยาน้ำ และยาเม็ด ทั้งรูปแบบธรรมดา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ผลข้างเคียงพบได้น้อย มีความปลอดภัยสูง รูปแบบของยาพ่นแก้หอบมีหลากหลาย ใช้ยากง่ายต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ผู้สูงอายุ มีแรงลมปากน้อยในการสูดยา จึงควรใช้ชนิด ACCUHALER เพราะใช้ง่ายกว่าชนิด INHALER แต่มีราคาค่อนข้างแพง
ยังมีโรคหรืออาการอื่นๆทางช่องปากอีกหลากหลาย ที่ต้องใช้การดูแลรักษาและใช้ยาที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งท่านสามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางได้
ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์