ยาสำหรับหู
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
โรคหรือความผิดปกติทางหูเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้ยาเข้ามามีบทบาทในการรักษา เช่น
1.เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง ปวด บวมแดง บางรายอาจแก้วหูทะลุ พิการ การใช้ยาปฏิชีวนะก็เพื่อหวังผลในการทำลายเชื้อเหล่านี้ อาจต้องใช้ยารักษาอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ยาลดบวม ยาแก้ปวด
2.เกิดการติดเชื้อตามหลังต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ เพราะระหว่างอวัยวะเหล่านี้มีช่องทางต่อถึงกัน จึงควรรักษาโรคเหล่านั้นให้หายขาดด้วยวิธีการและยาที่เหมาะสม
3.เกิดจากอวัยวะเสื่อมลงตามวัย หรือเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อกลุ่ม Aminoglycoside ,เสียงที่ดัง มาก
หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ ทำให้เกิดหูตึง หูพิการ
4.ความผิดปกติของหูเอง เช่น มีกระดูกงอกผิดปกติ ทำให้การรับเสียงลดลง
ยาหยอดหู และยาหยอดตา ใช้แทนกันได้หรือไม่
ปัจจุบันยาหยอดหูและยาหยอดตามีมากมายในท้องตลาด โดยยาทั้ง 2 อาจทำมาจากตัวยาเดียวกันเพื่อต้องการผลการรักษาทำนองเดียวกัน เช่น มีตัวยาปฏิชีวนะที่ฆ่าแบคทีเรียชนิดเดียวกัน หรือมียาลดบวม ลดอักเสบพวกยาสเตียรอยด์ อีกทั้งรูปลักษณ์ขวดยาที่คล้ายกัน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้ แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ทุกกรณี เนื่องจากคุณลักษณะของยาแตกต่างกัน เช่น
1.ยาหยอดหู มีความเข้มข้นของตัวยา และความหนืด มากกว่ายาหยอดตา
2.มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH ) แตกต่างกัน โดย pH ของยาตาต้องเหมาะสมกับสารน้ำในลูกตา
3.ยาหยอดตาผลิตภายใต้สภาวะสะอาดปราศจากเชื้อ
หากเลือกใช้อย่างเหมาะสม ก็จะลดปัญหาผลแทรกซ้อนจากการใช้ยา จึงควรศึกษาข้อบ่งชี้ในการใช้ ยาอย่างถูกวิธี ดังนี้
1.ยาหยอดหู ที่ระบุเฉพาะการหยอดหู : ห้ามนำมาใช้หยอดตา เนื่องจากมีความเข้มข้นสูงกว่า และเยื่อบุตาก็บางมาก เชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกัน
2.แม้ปัจจุบันจะมีการผลิตยาที่สามารถหยอดได้ทั้งตาและหู แต่ก็พบอยู่เสมอว่าผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองตามาก เมื่อนำยาหยอดหูไปหยอดตา
3.ยาหยอดตาที่ระบุเฉพาะใช้หยอดตา อาจใช้หยอดหูได้ในกรณีจำเป็นจริงๆที่หายาอื่นไม่ได้ เพราะความเข้มข้นของของยาหยอดตาต่ำกว่า แต่ผลการรักษาทางหูอาจได้ผลน้อยหรือใช้เวลารักษานาน เช่น ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ
4. ข้อบ่งใช้ของยาหยอดหูบางชนิดใช้ได้เฉพาะหูชั้นนอก หรือในรายแก้วหูปกติเท่านั้น เช่น 3 % Hydrogen peroxideใน Merthiolate ซึ่งพวกนี้สามารถทำลายหูชั้นในได้หากนำไปใช้ในรายแก้วหูทะลุ
5.การเลือกใช้ หากไม่สามารถพบแพทย์ได้ควรปรึกษาเภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลก่อน อย่าพยายามเลือกเองโดย ไม่ทราบการออกฤทธิ์ หรือผลข้างเคียง
ตัวยาสำหรับหยอดหู
ยาหยอดหูแต่ละชนิดมีตัวยาสำคัญผสมกันหลายชนิด ตัวยาที่อยู่ในยาหยอดหูแต่ละชนิดอาจจำแนกเป็น
1. ยาต้านจุลชีพ ( antimicrobial) และยาปฏิชีวนะ ( antibiotic)
การเลือกใช้ยาชนิดนี้ควรพิจารณาเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย และความไวของเชื้อต่อยา เช่น Polymyxin B และ E (Colistin) , Neomycin , Chloramphenicaol , Gentamicin ยาหยอดหูที่ต้องระวังมากคือยาหยอดที่มีส่วนประกอบของ Nitrofurantion เนื่องจากทำให้เกิดการแพ้เฉพาะที่สูง และเป็นพิษต่อหูชั้นในมาก
2. ยาต้านเชื้อรา (antifungal)
ยาหยอดหูสำหรับเชื้อรามีที่ใช้น้อยมาก เนื่องจากเชื้อราในรูหูเป็นราที่เกิดขึ้นเหนือผิวหนัง ไม่เหมือนกลากเกลื้อนที่เกิดขึ้นในผิวหนัง การทำความสะอาดหูให้ดี เอาเชื้อราออกให้หมดก็เพียงพอแล้ว วิธีสังเกตคือเมื่อใช้ไม้พันสำลีแคะหูจะมีสีดำเหมือนถ่านติดปลายสำลีออกมา ควรไปพบแพทย์ดีกว่าเพราะทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาออกเองได้หมด
ยาต้านเชื้อราที่มีจำหน่ายในรูปยาหยอดหู คือ 1% clotrimazole โดยมีฤทธิ์ต่อเชื้อ Aspergillus และ Candida sp. ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุที่พบบ่อยของหูติดเชื้อรา (otomycosis) นอกจากนั้น tincture merthiolate, povidone-iodine, gention violet ก็ได้ผลดีเช่นกัน
3. ยาระงับปวด ( anesthesia) เป็นยาชาเฉพาะที่ เช่น lidocaine หรือ benzocaine โดยมักผสมร่วมกับยาต้านจุลชีพ ยาชาพอดูดซึมได้บ้าง ช่วยลดอาการปวดหู ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อ และลดการระคายเคืองที่เกิดจากยาเอง
4. ยาต้านการอักเสบ ( corticosteroid)
เป็นยาในกลุ่ม corticosteroid เช่น prednisolone, dexamethasone, hydrocortisone ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดี มักใช้ในรายที่มีการอักเสบของหูชั้นนอก การอักเสบของผิวหนังของช่องหูชั้นนอกจากโรค psoriasis, seborrheic dermatitis หรือการอักเสบในหูชั้นกลาง ไม่ควรใช้ยาหยอดหูที่มี corticosteroid เป็นส่วนผสมในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อรา เชื้อวัณโรค หรืองูสวัดในช่องหู
5. ยาบรรเทาอาการคันในรูหู เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเท่านั้น ควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น หูชั้นนอกอักเสบเรื้อรัง เชื้อรา และการใช้ยาหยอดที่ระคายเคืองติดต่อกันนานจนเกินไป หลังจากให้การรักษาเฉพาะโรคแล้วยังมีอาการคันอยู่ อาจช่วยบรรเทาอาการได้โดยใช้ baby oil (light mineral), น้ำมันมะกอก, glycerin borax หรือ steroid ชนิดทา
6. ยาละลายขี้หู หรือ ยาหยอดที่ทำให้ขี้หูอ่อนตัว
ขี้หูอุดตันเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น
- การใช้ไม้พันสำลี (cotton bud) การปั่นหูกลับทำให้ขี้หูถูกดันลึกเข้าไป
- รูหูที่คดเคี้ยว
- ต่อมไขมันน้อยเกินไปทำให้ขี้หูขาดความชื้น
- ขนในรูหูมีมากเกินไป
ในกรณีที่ขี้หูอุดตันและแข็ง ติดแน่นจนไม่สามารถเอาออกได้โดยวิธีคีบเกี่ยวออก หรือวิธี ล้างหู ควรหยอดสารที่ทำให้ขี้หูอ่อนตัวก่อน 3-5 วัน ค่อยมาเอาออกภายหลัง สารดังกล่าวที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันทาผิวเด็ก (baby oil) หรืออาจใช้ยาที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด หรือใช้ 2.5% NaHCO3 ก็ได้ ซึ่งมักนิยมใช้ยาตัวหลังเนื่องจากเตรียมได้ง่าย ราคาถูก และได้ผลดี
พึงระลึกไว้เสมอว่า หลังจากให้หยอดยาเหล่านี้แล้ว ต้องไปเอาขี้หูที่เหลือออกภายใน 3-5 วัน การใช้ยาหยอดติดต่อกันนานเกินไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองมาก ถ้าไม่แน่ใจว่าแก้วหูทะลุ ไม่ควรใช้ยาหยอดเหล่านี้ เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นในทำให้หูหนวกได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหยอดหู
1. Ototoxicity : การใช้ยาหยอดหูในโรคหูชั้นกลางที่มีเยื่อแก้วหูทะลุต้องระวัง เพราะอาจมีพิษต่อเซลล์ประสาทหูชั้นในได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากยาในกลุ่ม aminoglycoside เช่น Streptomycin, Kanamycin, Neomycin, Gentamicin เป็นต้น
2. อาการปวด : เกิดจากการที่ใช้ยาหยอดหูในรายที่มีแก้วหูทะลุ โดยเฉพาะยาหยอดหูที่มีคุณสมบัติเป็นกรด หรือมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
3. การแพ้ยา : โดยอาจมีผื่นแพ้ที่ผิวหนัง (contact dermatitis) ของช่องหูชั้นนอกและใบหู ช่องหูชั้นนอก อาจบวม แดง หรือมีตุ่มใสขึ้นที่รูหู หรือใบหูอาจมีอาการคันร่วมด้วย ควรต้องหยุดหยอดยาทันที เมื่อมีอาการดังกล่าว
4. การติดเชื้อราแทรกซ้อน : เกิดจากการใช้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลานานๆ ควรต้องหยุดยาต้านจุลชีพนั้นเสีย และรักษาโรคเชื้อราในหู
การหยอดยาหยอดหูที่ถูกต้อง
1. ควรทำความสะอาดช่องหูชั้นนอกก่อน เพื่อให้สิ่งสกปรกออกก่อน โดยใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก หรือโดยการดูด (suction)
2. ผู้ป่วยควรจะตะแคงเอาหูด้านที่จะหยอดขึ้นบน
3. การหยอดหูจะได้ผลดีสุด ถ้ามีคนหยอดให้ โดยเฉพาะในเด็ก หรืออาจหยอดเอง โดยดึงใบหูไปด้านบนและไปทางด้านหลัง เพื่อให้
ช่องหูชั้นนอกตรง
4. ถ้ารูหูบวมมาก ไม่แน่ใจว่าจะหยอดยาผ่านเข้าไปได้หรือไม่ ควรใช้สำลีปั่นเป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆ แล้วสอดเข้าไปในรูหู เพื่อหยอดยาผ่านสำลีนี้ และควรเปลี่ยนสำลีนี้ทุกวันจนกระทั่งรูหูกว้างพอที่จะหยอดยาได้ตามปกติ
5.หยอดยาหยอดหูลงไปในช่องหูชั้นนอกให้ท่วม (ประมาณ 3-5 หยด) ในรายที่มีเยื่อแก้วหูทะลุ อาจต้องหยอดมากกว่านี้
6. นอนตะแคงอยู่ในท่าเดิมประมาณ 5-10 นาที ควรแนะนำผู้ป่วยที่มีเยื่อแก้วหูทะลุว่า อาจมียาไหลลงคอได้
7. ก่อนลุกขึ้น หรือหยอดหูอีกข้าง ควรนำสำลี อุดที่ช่องหูชั้นนอก เพื่อให้ยาค้างและสัมผัสอยู่ในช่องหูนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และสามารถนำสำลีนี้ออกได้หลังจากนั้น 20-30 นาที
8. ยาที่แช่เย็นไว้ เช่น Chloramphenical ก่อนหยอดควรนำมาปรับอุณหภูมิให้เท่ากับร่างกายเราก่อน ทำได้โดยกำขวดยาไว้ในฝ่ามือ ใช้ไออุ่นจากมือของเราอังไว้ซัก 2-3นาที
9. คนไข้ต้องบอกหมอทุกครั้งว่าแพ้ยาอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง แต่หากหยอดยาไปแล้วมีผื่น บวมแดง ปวดหูมากขึ้น เวียนศีรษะ หูอื้อมากขึ้นให้หยุดยาแล้วนำยาที่ใช้ไปปรึกษาแพทย์ทันที
10. ยาหยอดหูทุกชนิด หลังเปิดใช้แล้ว 30 วัน ไม่ควรใช้อีก เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ หากนำมาใช้อีกจะเป็นการนำเชื้อมาทำร้ายตัวผู้ป่วยได้อีก
11. ควรเก็บยาหยอดหูไว้ในที่แห้งสะอาด ไม่โดนความร้อนหรือแสงสว่าง ยาบางตัวจะระบุให้เก็บในที่เย็น อย่างเช่น ตู้เย็น ก็หมายถึงเก็บไว้ในช่องเย็นธรรมดาไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
ข้อพึงปฏิบัติเมื่อได้รับยาหยอดหูกลับบ้าน
1. ในการพบแพทย์แต่ละครั้ง แพทย์อาจสั่งยาหยอดหูชนิดใหม่ให้ ท่านควรปรึกษาแพทย์ถึงการงด หรือหยุดให้ยาตัวเดิม
2. เมื่อได้รับยาหยอดหูท่านควรตรวจสอบดูว่า ยาหยอดขวดนั้นเป็นชื่อของท่านและเป็นยาสำหรับหยอดหูหรือไม่ แพทย์มีคำสั่งให้หยอดข้างไหน วันละกี่ครั้ง เวลาใดบ้าง และให้หยอดเป็นระยะเวลาเท่าไหร่
3. ทุกครั้งที่มาพบแพทย์ ท่านควรนำยาหยอดเดิมมาด้วย เพื่อทราบจำนวนยาหยอดที่ยังคงเหลืออยู่
4. หากหยอดยาแล้วมีอาการแสบร้อน เวียนศีรษะ คันหูมากขึ้น สูญเสียการได้ยินหรือการทรงตัว หรือมีเสียงดังในหู ให้งดการหยอดยา และควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
5. หากรู้สึกมีความผิดปกติเกิดขึ้นในหู ท่านไม่ควรซื้อยาหยอดหูเอง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์