ยาเบาหวาน
วันพุธที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 542
เบาหวานเป็นกลุ่มอาการของโรคที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (ค่าปกติหลังอดอาหาร คือ 70-99 mg/dL)
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมี 2 ชนิด คือ
เบาหวานชนิดที่ 1หรือเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน (DM type I /Insulin dependence DM )
เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเบต้าเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (DM type II /Non-insulin dependence DM)
เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ตับ เซลล์ไขมัน ระดับอินซูลินในเลือดผู้ป่วยอาจต่ำหรือปกติ แต่มีความผิดปกติของการหลั่งอินซูลิน มีการสร้างกลูโคสเพิ่มขึ้น
ยารับประทานเพื่อลดระดับน้ำตาล: แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน : กลุ่ม Sulfonylureas เช่น Glipizide (Minidiab) , Glibenclamide (Daonil) , Gliclazide(Diamicron) ยานี้ควรทานก่อนอาหาร 30 นาที เพื่อให้มีระดับอินซูลินขึ้นสูงทันกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจากมื้ออาหาร ผลข้างเคียง ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ , คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ร่วม, ผื่นแพ้ยา, ในระยะแรกอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
กลุ่มที่ 2 ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน , ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เช่น Metformin (Glucophage) ผลข้างเคียง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ให้ทานยาหลังอาหารเพื่อบรรเทาอาการ กลุ่ม Thiazolidinedione เช่น Pioglitazone (Actos) ผลข้างเคียง อาจเกิดอาการบวมน้ำ ยากลุ่มนี้ไม่กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจึงไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
กลุ่มที่ 3 ออกฤทธิ์โดยการช่วยลดการดูดน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น เช่น Acarbose (Glucobay) ควรทานยานี้พร้อมอาหารคำแรก เพื่อลดการดูดซึมน้ำตาลจากอาหารในมื้อนั้น ผลข้างเคียง พบบ่อยด้านทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมมาก และท้องเสีย
ข้อแนะนำในการใช้ยารับประทานเพื่อลดน้ำตาลในเลือด
1. ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่นหรือตามคำแนะนำของผู้อื่น
2. ถ้ากินสมุนไพร ต้องแจ้งแพทย์ทราบ เพราะสมุนไพรบางชนิดมีผลเพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือด
3. ควรกินยาให้สม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ไม่ควรรับประทานยาถ้างดอาหารมื้อนั้น
4. เมื่อลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ในกรณีที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดวันละ 1 ครั้ง แต่ในกรณีที่ทานยามากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ถ้าใกล้ถึงเวลายามื้อต่อไปแล้ว ให้รับประทานยามื้อต่อไปในขนาดเดิม ห้ามนำมื้อที่ลืมทบมาเป็น 2 เท่า เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้
5. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ต้องแช่เย็น หากสีเม็ดยาเปลี่ยนไปไม่ควรใช้
6. หากเจ็บป่วยไม่สบาย ควรเช็คระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ และไม่ควรขาดยา
7. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำปฏิกิริยาลดน้ำตาลในเลือด ทำให้เกิดการแพ้ได้ เช่น มีอาการร้อนวูบวาบที่หน้า หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้
8. ควรงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะทำให้ประสิทธิภาพยาลดระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
9. เมื่อรับยาทุกครั้ง ให้ทวนสอบชนิด ลักษณะ จำนวนยาและวิธีใช้ยา หากสงสัยให้สอบถามเภสัชกรทันที
ยาฉีดอินซูลิน
ฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงไม่มียาชนิดนี้ในรูปยากิน อินซูลินแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วและสั้น เช่น Humulin-R , Gensulin-R , Actrapid
- ยามีลักษณะเป็นน้ำใส
- มีผลลดน้ำตาลได้เร็ว ออกฤทธิ์ภายใน 10 นาที ดังนั้น เมื่อฉีดเสร็จควรรับประทานทานอาหารทันที เพื่อป้องกันการลืม และป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
- มีฤทธิ์อยู่นาน 5-7 ชั่วโมง
- ปลอดภัยในสตรีมีครรภ์
อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง เช่น Humulin-N , Gensulin-N , Insulatard
- ยามีลักษณะเป็นน้ำขุ่น
- ออกฤทธิ์ภายในเวลา 2-4 ชั่วโมง
- มีฤทธิ์อยู่นาน 18-24 ชั่วโมง
อินซูลินผสมชนิดที่ออกฤทธิ์เร็วและปานกลาง เช่น Mixtard , Gensulin-mix , Novomix
- ยามีลักษณะเป็นน้ำขุ่น
- ออกฤทธิ์ภายในเวลา 15-30 นาที ดังนั้น ควรฉีดยาก่อนอาหาร ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- มีฤทธิ์อยู่นาน 24 ชั่วโมง
อินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน เช่น Insulin glargine
- ระดับอินซูลินจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภายใน 8-14 ชั่วโมง หลังฉีด
- แล้วคงที่ มีฤทธิ์อยู่นาน 36 ชั่วโมง
การเก็บรักษาอินซูลิน
- ยาที่ใส่อยู่ในปากกาฉีดไม่ต้องเก็บในตู้เย็น
- ยาที่ยังไม่เปิดใช้ ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่ในช่องแช่แข็ง เพราะทำให้อินซูลินเสื่อมสภาพ
- กรณีพกพาระหว่างเดินทาง ถ้าแช่เย็นไม่ได้ ให้เก็บในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 300C อยู่ได้นาน 4-6 สัปดาห์
คำแนะนำการใช้ยาฉีดอินซูลิน
- สามารถฉีดยาได้หลายบริเวณเช่น หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก ฉีดบริเวณหน้าท้องจะสม่ำเสมอที่สุด ดีที่สุด
- อย่าฉีดยาซ้ำที่จุดเดียวกัน เพราะอาจเกิดเป็นไตแข็ง ทำให้ยาดูดซึมได้ไม่ดีตำแหน่งที่ฉีดใหม่ควรมีระยะห่างจากครั้งหลังสุดประมาณ 1 นิ้ว
- ถ้าใช้อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางหรือนาน (น้ำขุ่น) ควรเขย่าปากกาขึ้น-ลงช้าๆประมาณ 10 ครั้ง ก่อนฉีด
- ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคจากผู้อื่นได้
ข้อมูลจาก เภสัชกรหญิง พัทธ์ธีรา ทิพย์อัครพิชา ผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์