เกาต์ (gouty Arthritis)  เป็นโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคข้ออักเสบ  แต่เกิดจากการเผาผลาญ สารพิวรีน ( purine ) ผิดปกติในร่างกาย  เกิดสารพวกกรดยูริก ( uric acid )  หรือเกลือโมโนโซเดียมยูเรตสูงในเลือด  ไปเกาะตามข้อทำให้เกิดการบวมและปวด  คนปกติในเลือด 100 ซี.ซี. มีกรดยูริกประมาณ 3-7  mg.  ถ้ามีสูงกว่า 7.5 mg.  จะสะสมที่ข้อต่อของกระดูก ทำให้ข้อมือ หัวแม่มือ หัวเข่า  และข้ออื่นๆ บวม อักเสบ แดง มีอาการปวดรุนแรงเป็นครั้งคราว  ถ้าเป็นเรื้อรังอาจถึงกับพิการได้  นอกจากนี้อาจตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในกรวยไต หรือ ท่อไต ทำให้ปวดท้องรุนแรง และขัดปัสสาวะได่้


กรดยูริกมาจากไหน

gout_3

 

สาเหตุที่ทำให้มีกรดยูริคในร่างกายสูง  ได้แก่

1. กรรมพันธุ์

2. ภาวะอ้วนเกินไป

3. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. อาหารที่มีพิวรีนสูง  เช่น เครื่องในสัตว์ปีก  เป็นต้น

5. ยาบางชนิด  เช่น

-  ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดกลุ่มขับปัสสาวะ ฮัยโดรคลอโรไธอะไซด์  มีผลลดการกำจัดกรดยูริกออกทางปัสสาวะ

- Salicylates :  ( < 2 g/day)  ยาขนาดต่ำ ( น้อยกว่า 2 กรัม/วัน )  จะยับยั้งการขับสารออกทางท่อไตทำให้มีปริมาณกรดยูริกใน เลือดสูง

- ยารักษาวันโรค  เช่น  Pyrazinamide , Ethambutol

6. โรคไต ทำให้ลดการขับออกของของเสียออกจากร่างกาย สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณ กรด

ยาที่ใช้รักษาเก๊าต์

1. ยาบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบ.ของข้อระยะเฉียบพลัน (Acute gout attack )  ใช้ในช่วงที่มีอาการกำเริบ   ได้แก่

1.1 ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( NSAID s)

  • เลือกยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น Indomethacin,  Naproxen,  Diclofenac,  Ibuprofen , Piroxicam   แต่ละตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน
  • ห้ามใช้ aspirin ขนาดต่ำ (<2 g/day) จะทำให้ระดับ uric acid ในเลือดสูง

1.2 ยาลดการอักเสบชนิด Cox-2 inhibitors  มีเพียงตัวเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ใน gout คือ Etoricoxib (Arcoxia® ) 120  mg  วันละครั้ง   เนื่องจากยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ระคายเคืองทางเดินอาหาร  อาจเกิดแผล หรือทำให้คลื่นไส้ อาเจียน  จึงต้องรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ

  • ผู้ที่เป็นโรคไต : ต้องลดขนาดยาลง
  • ผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟา  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Cox-2 inhibitor

1.3 Colchicine

  • เป็นยาที่จำเพาะเจาะจงอย่างยิ่งในการรักษาข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์  ลดการปวดแต่ไม่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ
  • ประสิทธิภาพพอๆกับ NSAIDs ยิ่งให้เร็วตอนที่มีอาการยิ่งได้ผลดี
  • ขนาดยาปกติให้ 1 เม็ด (0.6mg)  ทุก 1-2 ชั่วโมงจนกระทั่งอาการปวดลดลง  หรือจนผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย  หรือได้รับยาจนถึงขนาดสูงสุด(6 mg)  แล้วจึงหยุดยา
  • ผู้ป่วยตับและไตผิดปกติต้องลดขนาดยา
  • หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการกดไขกระดูกได้  จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์

กรณีเกิดท้องเสียจากยา :  ให้หยุดยา colchicines ก่อน แล้วให้ ยาหยุดถ่าย loperamide (2 mg)  2 เม็ดทันที  หากไม่หยุดถ่าย  ให้ 1 เม็ด ทุก 6 ชม. จนหยุดถ่าย  ( ไม่เกิน 16 มก./วัน )

1.4 ยาลดการอักเสบชนิด Corticosteroids ใช้เมื่อใช้ NSAIDs หรือ Colchicine ไม่ได้ผล  แบ่งเป็น

ยาชนิดรับประทาน  :  เช่น  Prednisolone  20-30  มก./วัน   รับประทานติดต่อกัน 3-5 วัน   ก่อนหยุดยา 1  วันควรเริ่ม

colchicine  วันละ 1-2 เม็ด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

ยาฉีด :  ใช้ฉีดเข้าข้อ (Intra-articular) :  เช่น  Dexamethasone,   Triamcinolone  acetonide

  • ผลข้างเคียงมาก  เพิ่มการคั่งของน้ำและเกลือแร่ ทำให้บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ต้อหิน เป็นต้น  ชนิดรับประทานอาจเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร  จึงต้องรับประทานหลังอาหารทันที  และไม่ควรซื้อหาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์  เภสัชกร

 

2. การให้ยาควบคุมอาการในระยะยาว :  เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การลุกลามของโรค การทำลายของอวัยวะ  ใช้เมื่อ มีระดับ uric acid ในเลือดสูงมาก  หรือมีโรคแทรกซ้อนจากภาวะยูริกในเลือดสูง  เช่น นิ่ว โรคไต มีภาวะเฉียบพลัน  ( acut attack of gout ) กำเริบซ้ำบ่อยๆ

2.1  ยาลดการสร้างกรดยูริก ได้แก่

Allopurinol  :  อาจเริ่มให้ขนาด 100 มก./วัน   แล้วค่อยๆเพิ่มขนาดช้าๆ ปกติใช้ 300 มก./ วัน

  • ใช้ป้องกัน gout attack ในผู้ป่วยที่มี uric acid สูงมาก, Tophaceous gout, ผู้ป่วยที่มีการทำหน้าที่ของไตบกพร่องผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • ไม่ให้ยาในผู้ที่ได้รับยารักษาอาการทันทีในช่วง 3  สัปดาห์ แรก
  • ยานี้มีโอกาสทำให้เกิดผื่นแพ้ยาที่รุนแรงในผู้ป่วยบางราย  ที่เรียก Steven Johnson syndrome (SJS)  พบไม่บ่อย  สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนและอาจเสียชีวิตได้ ส่วนมากจะเป็นในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายและพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์

ดังนั้นผู้ที่ใช้ยานี้  ต้องรู้จักสังเกตอาการแพ้  ซึ่งมักเกิดเมื่อใช้ยาแล้ว ราว 7-14 วัน  โดยมีอาการนำ  เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย  ปวดเมื่อยตามตัว  เจ็บคอ  เป็นต้น  ( อาจเข้าใจผิดว่า เป็นไข้หวัด )   ต้องรีบหยุดยาทันที  แล้วไปพบแพทย์

2.2 ยลดการดูดกลับ และเพิ่มการขับกรดยูริก ออกทางไต  (Uricosuric agent)  ได้แก่

  • ใช้กับผู้ป่วยที่มี   urine  uric acid <1000 mg/d
  • ตัวอย่างยาและขนาดที่ใช้ ดังนี้

Probenecid              1-2  กรัม / วัน    แบ่งให้เช้า เย็น  **ห้ามใช้ร่วมกับ Aspirin**

Sulfinpyrazone    200-400  มก./วัน  แบ่งให้  2 หรือ 3 ครั้ง  อาการข้างเคียง คือ ขัดขวางการทำงานของเกล็ดเลือด

Benzbromarone   ใช้ในรายที่การทำงานของไตบกพร่อง  ( CrCl <20  )

การรักษาโดยไม่ใช้ยา ( Non – pharmacological treatment )

โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง  ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาขับปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มี alcohol โดยเฉพาะ เบียร์ , เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณ พิวรีน สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ม้าม หัวใจ  เนื้อสัตว์ปีก  ผัก บางชนิด  เช่น  กระถิน ชะอม หน่อไม้ฝรั่ง แตงกวา ใบขี้เหล็ก  สะตอ  เป็นต้น

gout_4

การใช้หลัก 3 อ. ( อาหาร  ออกกำลังกาย และอารมณ์ที่แจ่มใส )  โดยทางสายกลาง ทำให้เกิดสมดุลของชีวิต   ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ    และลดโอกาสการพึ่งพายา  นับเป็นสิ่งดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ยาก

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์