เป็นโรคอย่างนี้...ต้องพกบัตรด้วยหรือนี่

ว่ากันว่า...ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน...แต่ชาวบ้านที่ไร้บัตรประชาชน..ก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติ...ขาดสิทธิ์  มีบัตรหนัง บัตรเพลง...แต่ไม่มีบัตรเบ่ง...ก็เจ๋งไม่ได้     มีบัตรคนไข้...แต่ไม่ใช่บัตรทอง...ก็ต้องสำรองจ่ายเอง มีบัตรโน่น บัตรนี่...แต่ไม่มีบัตรเครดิตก็ผิดยุค ตกสมัย ใครๆไม่เชื่อถือ    จะมีบัตรใดๆ..ก็ใช้ได้คล่องมือ แต่อย่าลืมถือบัตรชีวิตลิขิตโรคตัวเอง บัตรที่ว่าก็คือ

1.บัตรแพ้ยา  บอกประวัติว่า  “ยาที่แพ้ชื่ออะไร” ไม่ให้ได้กินซ้ำ   จะช้ำชอกตามบัตรบอก "อาการแพ้" ที่เคยเป็น   ไม่เช่นนั้น อาจทรุดหนักกว่าเดิม  ยิ่งถ้าเสริมยาที่แพ้ข้ามกัน  ทั้ง วันเดือนปี ที่แพ้ ก็มีระบุอยู่ ดูในบัตร  มองได้ชัดๆ ไม่จัดไม่จ่ายให้ยาซ้ำ  จำจงดีถือบัตรนี้ ไปให้มั่น เมื่อท่านไปโรงพยาบาลหรือร้านขายยา  หากไปพบหมอหรือขอทำฟัน  มิเช่นนั้นก็รับการผ่าตัด   ยิ่งเคร่งครัดเมื่อนัดฉีดยา   อย่าลืมว่าถ้าแพ้ครั้งต่อไป ใช่ว่าจะแก้ไขได้ทัน  ท่านอาจสิ้นชีวีมีให้เห็นเป็นอุทาหรณ์สอนใจตน

                    

2.บัตรโรค จีซิกพีดี (G6PD)

บัตรนี้บอกว่า "ยาที่ห้ามใช้"   มีตัวใดบ้าง   อีกอย่างคือ "อาหาร"  ที่ต้องเลี่ยง  เพราะเป็นความเสี่ยงของโรคนี้ที่พร่องเอ็นไซม์  Glucose – 6-Phosphate Dehydrogenase(G6PD) ถ้าได้ยาหรืออาหารนี้จะมีกระบวนการเกิดสารอนุมูลอิสระที่ระรานทำลายสลายเม็ดเลือดแดง แฝงออกมากับปัสสาวะ  เห็นจะจะว่าสีคล้ำร่ำๆสีโค้ก  G6PD จึงดั่งปราการด่านป้องกันเม็ดเลือดแดง   มิต้องคลางแคลงหน่ายแหนงใจ  หากใครพร่องเอ็นไซม์นี้  พึงหลีกหนีปัจจัยเสี่ยงไม่เพลี่ยงพล้ำหนอ แม้โอกาสพบได้ไม่บ่อย   เกิดน้อยกว่าการแพ้ยา   แต่ทว่าถ้าเกิดแล้วอาจไม่แคล้วเสียชีวิต   คิดให้จงดี นำบัตรนี้ไปด้วยช่วยแสดงทุกแห่งหนเมื่อตนรับยา

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ

1. อาหาร โดยเฉพาะถั่วปากอ้า  ( มีสารอนุมูลอิสระ )

2. การติดเชื้อโรคต่างๆ  ( ทำให้เซลเม็ดเลือดขาว  หลั่งสารอนุมูลอิสระมากขึ้น )

3. โรคเบาหวาน   (ทำให้เกิดกรด ; Diabetic ketoacidosis )

4. ยาที่ได้รับ (ตัวอย่างเพียงบางส่วน , รายการใดห้ามใช้ / รายการไหนให้หลีกเลี่ยง โปรดตรวจสอบกับสถานพยาบาลที่ท่านใช้บริการ )

4.1 กลุ่มยาแก้ปวด   แอสไพริน (Aspirin) ฟีนาซีติน(Phenacetin) โปรบีนีซิด(Probenecid)

4.2 กลุ่มยาซัลฟา (Sulfonamides / Sulfones)แดพโซน (Dapsone) ซัลฟาซาลาซีน(Sulfasalazine) ซัลฟิซ้อกซาโซล(Sulfisoxazole)

4.3 กลุ่มยารักษาโรคมาลาเรีย  คลอโรควิน(Chloroquin) ไพรมาควิน(Primaquin) ควินิน  (Quinine)

4.4 กลุ่มยาปฏิชีวนะ คลอแรมฟีนิคอล  (Chloramphenicol) โคไตรม้อกซาโซล (Co-trimoxazole) ฟูราโซลิโดน( Furazolidone )

4.5 กลุ่มยารักษาโรคหัวใจ โปรเคนาไมด์ (Procainamide) ควินิดีน  (Quinidine)

4.6 ยาอื่นๆ  ไฮดราลาซีน (Hydralazine ) วิตะมินเค (Vitamin K)

3.บัตรประจำตัวโรคเบาหวาน

เพื่อวานคนช่วยเหลือ  เมื่อเดินทางโดยโดดเดี่ยวเที่ยวตามลำพัง   แล้วพลั้งหมดสติ  เป็นลมล้มหน้ามืด  อาจเกิดจากโรคนี้  ที่ขาดน้ำตาลของหวานๆในกระแสโลหิต  หรือผิดปกติจากเบาหวานอาการของโรค  หากโชค    ช่วยอำนวยให้ผู้พบผ่าน  โปรดหยิบน้ำตาล  ( ลูกอม )  จากกระเป๋าข้าพเจ้า หรือเอาน้ำหวานที่ท่านพอหาได้  ให้ช่วยป้อนผ่อนอาการ   อย่ารอนานเนิ่น  หากยังกลืนไม่ลง   โปรดนำส่งให้พบหมอ.......ขอไปเร็วรี่   หรือไปที่โรงพยาบาลวานช่วยที

drug_card_2_drug_caed_3_ ตัวอย่างบัตรประจำตัวโรคเบาหวาน

4.บัตร / สมุดพกยาต้านการแข็งตัวของ.เลือด “วาร์ฟาริน” ( Warfarin )  บัตรนี้   มีไว้ให้หมอขอบันทึกค่าผลแล็ป  ไอ-เอ็น-อาร์  ( INR ) ความหมายว่า  ค่าระดับการต้านการแข็งตัวของเลือด  ที่ต้องเอาใจใส่เมื่อท่านใช้ยา วาร์ฟาริน   กินป้องกันลิ่มเลือดอุดตันอวัยวะสำคัญของร่างกาย  ไม่ให้ กล้ามเนื้อหัวใจตาย   หายใจผิดปกติเพราะปอดอุดตัน  หรือปิดกั้นในสมอง  ต้องกลายเป็นอัมพาต  อัมพฤกษ์  เหตุเพราะยานี้มีความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงที่ต้องเลี่ยง “เลือดอาจไหลไม่หยุด" สมุดพกจึงต้องนำมา อย่าเพิกเฉย ละเลยความสำคัญ… 

เห็นด้วยแล้วใช่หรือไม่…ว่าบัตรใดๆ ก็ไม่สำคัญ หากบัตรนั้นไม่ใช่บัตรรักษ์ชีวิต…คุณค่าของคนอยู่ที่ตนทำอย่างไร ไม่เดือดร้อนใครๆ ใส่ใจตรอง...

 


 

 

 

 

 ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์