"หากพี่ไปดู…ให้หนูไปด้วย" ๆ 

….ทำนองเพลงนี้ต่างคุ้นหูกันดี….เพราะเสียงออดอ้อนวอนให้หลายๆท่านใจอ่อน…ไม่อาจเมินเฉยที่จะไม่พาน้องนางไปด้วยทุกครั้ง แต่!เอ!! ยามเมื่อท่านเจ็บป่วยต้องรักษาตัว  ถ้า " ท่านไปโรงพยาบาล….ไม่เอายาที่บ้านไปด้วย "

ท่านจะทราบได้อย่างไรว่ายาที่ได้รับใหม่เหมือน  หรือแตกต่างกับยาที่บ้าน  ยาซ้ำซ้อนกับยาที่มีอยู่แล้ว ยาจะตีกันกับยาที่ใช้อยู่ประจำหรือไม่ หรือจะต้องปรับเปลี่ยนขนาดยาเดิมหรือยาตัวใหม่อย่างไร    จึงจำเป็นอย่างยิ่งทุกครั้งที่ท่านไปสถานพยาบาล   จึงควรนำยาเดิมที่บ้านไปด้วยเพื่อให้แพทย์ หรือเภสัชกร ช่วยทบทวนยาให้ โดยเฉพาะท่านที่รับยามาจากหลายแหล่ง  ทั้งโรงพยาบาล  คลินิก  ห้องพยาบาลของบริษัท  หรือห้าซื้อยาเองจากร้านขายยา โอกาสความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาจะเพิ่มเป็นหลายเท่า  ถ้ายาที่บ้านท่านถูกเก็บไว้ในลักษณะ ดังนี้

  • มียาชนิดเดียวกันหลายยี่ห้อ  สีสัน  ขนาดและ ลักษณะเม็ดยาแตกต่างกันโดยเฉพาะยาโรคเรื้อรัง
  • มียาชนิดเดียวกันหลายซอง  แต่ละซองมีขนาดวิธีรับประทานต่างกัน
  • เก็บยาหลายชนิดปนในซองเดียวกัน
  • มียาหมดอายุเก็บปนกับยาดี
  • มียา หรือสมุนไพร  ที่อาจมีผลต่อฤทธิ์ทางการรักษาของยาที่ใช้อยู่   ( ยาตีกัน )
  • ผู้สูงอายุ  / ผู้ที่มีปัญหาสายตา   มีโอกาสหยิบยาผิดได้

ดังนั้น  ทุกครั้งที่ท่านไปสถานพยาบาล( โดยเฉพาะแหล่งที่ท่านไม่ได้ใช้บริการประจำ )ท่านควรนำยาที่รับประทานประจำ เช่น ยาโรคเรื้อรัง (รวมถึงสมุนไพร,อาหารเสริม)และยาที่รักษาโรคอื่นที่กำลังเป็น  เช่น  ยาแก้ปวดลดอักเสบกล้ามเนื้อ เป็นต้น มาให้แพทย์ทบทวนรายการยาทุกครั้ง ไม่ว่าจะมาในสถานะผู้ป่วยนอก หรือต้องนอนโรงพยาบาล

ทำไมต้องทบทวนรายการยา  ( Medication Reconciliation )

Medication Reconiliation  คือการทบทวนเปรียบเทียบประสานรายการยาที่ใช้อยู่เดิม /ใช้ประจำกับยารายการที่ได้รับใหม่   เพื่อ :-

1.ให้ท่านได้รับยาต่อเนื่องขณะนอนโรงพยาบาล  โดยเฉพาะเป็นยาที่ใช้ประจำที่ท่านได้มาจากแหล่งอื่น

2.ป้องกันไม่ให้ท่านได้รับยาซ้ำซ้อนเกินจำเป็น   กับยาที่ท่านมีอยู่เดิม

3.ป้องกันผลข้างเคียงของยาที่เสริมกันจากการได้ยาหลายชนิด

4.ป้องกันยาส่งผลต่อการผ่าตัด  ทำฟัน  หรือต่อผลแล็บ   ผลเอ็กซ์เรย์

5.ป้องกันการได้รับยาที่ตีกัน ( Drug Interaction )  กับยาเดิม

6.ให้มีการทวนสอบขนาดยาที่เหมาะสม

7.เป็นโอกาสในการช่วยเหลือท่านตรวจสอบสภาพและอายุยา   การจัดเก็บ  และปรับเปลี่ยนฉลากยา / ภาชนะบรรจุที่เก่าชำรุด

 ท่านคงได้รับคำตอบแล้วถึงประโยชน์และความปลอดภัยที่มีต่อตัวท่าน     และคงตัดสินใจได้แล้วว่าต่อไปนี้…. ทุกครั้งที่ "ไปหาหมอ….ขอเอายาไปด้วย "

"ไปโรงพยาบาล…เอายาที่บ้านไปด้วย "

 

  ข้อมูลจาก เภสัชกรหญิง พัทธ์ธีรา ทิพย์อัครพิชา ผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์