เป็นโรคผิวหนังเรื่อรัง ซึ่งเกิดจากการหนาตัวของชั้นผิวหนังกำพร้า พบได้ประมาณ ร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป ชายและหญิงพบได้ในอัตราพอๆกัน  พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในช่วงอายุ  10-30 ปี ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย  มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

Psoriasis.jpgสาเหตุ
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์  จากการศึกษาพบว่าเซลส์ผิวหนังตรงบริเวณที่เป็นโรค จะมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังมาที่ผิวนอกในเวลาประมาณ 4 วัน ( ในคนปกติจะใช้เวลาประมาณ 26 วัน) ทำให้ผิวหนังเกิดการหนาตัวขึ้นเป็นปื้น ในขณะเดียวกันเซลส์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยวตามปกติ ทำให้สารเคราติน (Keratin) บนชั้นนอกสุดของผิวหนังหลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย
นอกจากนี้ยังพบว่าความผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับเซลส์ผิวหนังของผู้ป่วย เช่น ความผิดปกติในเมตาโบลิซึมของกรดอาราชิโดนิก (arachidonic acid) และความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน (immune) ของผิวหนัง เป็นต้น มักพบมีอาการกำเริบในเวลามีภาวะเครียดทางร่างกายและจิตใจที่มากเกินไป การติดเชื้อ ( เช่นเชื้อสเตรปโตค็อกคัส) การได้รับบาดเจ็บ การขูดข่วนผิวหนัง การแพ้แดด การแพ้ยา ( เช่นยาคลอโรควิน ยาปิดกั้นเบต้า  ลิเทียม  ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์)

อาการ
ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วน ศีรษะ เล็บ และข้อ อาการแบบเป็นๆหายๆที่ผิวหนัง ตอนเริ่มกำเริบ ใหม่ๆ จะเป็นตุ่มแดง ขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาว (สีเงิน) อยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็น ปื้นใหญ่ๆ หนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้น เห็นเป็นเกล็ดสีเงิน (ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่าโรคเกล็ดเงิน หรือสะเก็ดเงิน) เกล็ดนี้จะร่วงเวลาถอดเสื้อผ้าหรือเวลาเดินไปไหนมาไหน หรือร่วงอยู่ตามเก้าอี้หรือที่นอน ถ้าขูด เอาเกล็ดออกจะมีรอยเลือดออกซิบๆ รอยโรคลักษณะนี้เรียกว่าโซริอาซิสชนิดปื้นหนา (psoriasis vulgaris  หรือ plaque)  ดูคล้ายอาการของโรคกลาก ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ที่ ผิวหนังทุกส่วน แต่มักจะพบที่บริเวณหนังศีรษะ และผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก เช่น ข้อศอก ข้อเข่า  ก้นกบ หน้าแข้ง รอยโรคจะมีขนาดต่างๆกัน Psoriasis_001.jpg
นอกจากนี้รอยโรคลักษณะดังกล่าวยังชอบขึ้นตามบริเวณผิวหนัง ที่เคยได้รับการบาดเจ็บหรือช้ำ เช่น รอยบาดแผล  รอยขีดข่วน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีรอยโรคลักษณะดังกล่าว เป็นปื้นหนาๆ ขึ้นๆ ยุบๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด แต่  ผู้ป่วยบางรายอาจมีรอยโรคเป็นลักษณะอื่น เช่นเป็นตุ่มหรือผื่นเล็กๆ มักขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า และมักเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น  ผื่นจะลามไปทั่วทั้งตัวอย่างรวดเร็วและก็หายเร็วกว่า ไม่เป็นแบบ เรื้อรังแบบปื้นหนา รอยโรคแบบนี้เรียกว่า โซริอาซิส ชนิดตุ่มเล็ก (guttate psoriasis) ดูคล้ายอาการของ โรค,ผื่นพีอาร์ ผื่นแพ้ยา และผื่นซิฟิลิส  
บางรายอาจขึ้นเป็นรอยแดง มีขอบเขตชัดเจน ไม่ค่อยมีขุย ซึ่งขึ้นตามข้อพับ รักแร้ หรือบริเวณขาหนีบ เรียกว่า  โซริอาซิสชนิดรอยพับ (flexural psoriasis) ดูคล้ายอาการของโรคสังคัง โรคเชื้อราแคนดิดา
บางรายอาจขึ้นเป็นตุ่มหนองบนผื่นสีแดง เรียกว่า โซริอาซิสชนิดตุ่มหนอง (pustular psoriasis) เป็นตุ่ม หนองชนิดไม่มีติดเชื้อ (sterile psoriasis) ถ้ามีตุ่มหนองขึ้นทั่วตัว ผู้ป่วยจะมีไข้อ่อนเพลียร่วมด้วย
ในรายที่โรคกำเริบมาก จะขึ้นเป็นผื่นแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว (psoriatic erythroderma) ผู้ป่วยอาจเป็น โซริอาซิสชนิดแบบปื้นหนามาก่อนก็ได้ และมักจะมีอาการกำเริบเมื่อเกิดภาวะเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ  แพ้ยา  หรือติดเชื้อ หรือหลังจากหยุดยาสเตียรอยด์หลังจากที่กินมาเป็นประจำ ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลียร่วมด้วย
บางรายอาจมีผื่นที่ศีรษะนำมาก่อน ก่อนที่จะมีผื่นขึ้นตามลำตัวลักษณะเป็นผื่นแดง ขอบเขตชัดเจนและมีเกล็ดหนา บางครั้งอาจลามมาที่หน้าผาก ผมมักไม่ร่วง ลักษณะคล้ายโรคกลากที่ศีรษะ หรือ รังแค
โรคนี้ยังชอบขึ้นที่เล็บ ทำให้เกิดอาการได้หลายลักษณะเช่น เล็บเป็นหลุม ตัวเล็บขรุขระ เล็บแยกตัวออกจากผิวหนัง (onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา (subungual keratosis) มักมีอาการร่วมกับข้ออักเสบและเนื้อเยื่อขอบเล็บ อักเวบ บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย และอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคเชื้อกลากที่เล็บ หรือโรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบของข้อ (psoriatic arthropathy) ร่วมด้วยมักพบที่ข้อนิ้ว มือนิ้วเท้า  ผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบร่วมด้วยมักมีอาการทางผิวหนังรุนแรงมากกว่าปกติ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปแล้วมักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงออกของโรค แต่บางรายที่อาการไม่แน่ชัด อาจจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังออกไปทำการตรวจพิสูจน์ (biopsy)
1. สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นน้อย มีรอยโรคไม่กี่แห่งจะให้ทาครีมสเตียรอยด์ เช่นครีมไตร แอมซิโนโลน อะเซโนไทด์ หรือขี้ผึ่งน้ำมันดิน หรือโคลทาร์ ขนาด 1-5 % หรืออาจใช้ทั้งสองอย่างสลับกัน  เพื่อป้องกันการดื้อยา ในรายที่เป็นมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ หรือใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นปื้นหนา  บางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนอาบแดด (ช่วงระหว่าง 10.00-14.00 น.) โดยเริ่มอาบด้านละ 5-10 นาทีก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลานานขึ้น จนถึงขั้นทำให้เกิดรอยแดงเรื่อๆที่ผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมงหลังอาบแดด  (ส่วนใหญ่จะอาบแดดนานประมาณ 15-20 นาที) ทำประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผื่นยุบได้ภายในไม่กี่ สัปดาห์ ข้อควรระวังก็คืออย่าอาบแดดนานเกินไป  และควรใช้ผ้าคลุมหน้า เพื่อป้องกันมิให้หน้าถูกแสงแดดมากเกินไป บางรายอาจแพ้แดดทำให้เกิดอาการกำเริบได้  บางรายแพทย์อาจให้ทาขึ้ผึ่งแอนทราลินพร้อมกับการอาบแดด ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจใช้วิธีรักษาโดยการ ให้อาบแสงอุลตราไวโอเล็ต บี (UVB) แทนการอาบแดดก็ได้
ในรายที่มีรอยโรคชนิดปื้นหนา (plaque) เป็นส่วนใหญ่ อาจใช้ขี้ผึ้งแอนทราลิน (มีชื่อทางการค้าเช่น แอนทรานอล ชนิด 1 % (Anthranol) ทาเฉพาะส่วนที่เป็นปื้นหนา ทิ้งไว้นาน 30 นาที แล้วล้างออกด้วยสบู่ ทำวันละครั้ง ถ้าไม่ มีอาการระคายผิวหนังให้เพิ่มขนาดความเข้มข้นขึ้นไปทุก 3-5 วัน เป็นชนิด 2 % และ 4% ตามลำดับแล้วคงความ แรงของยาขนาดนั้นไปเรื่อยๆ ถ้าได้ผลผื่นจะยุบหายภายใน 3-4 สัปดาห์
ข้อควรระวัง ยานี้อาจระคายเคือง ถ้าพบ อาการระคายเคืองควรหยุดยา ยานี้ห้ามใช้ทาบนใบหน้า ข้อพับ และบริเวณอวัยวะเพศ

2 สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ ให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง   ในรายที่มีขุยที่ศีรษะมากอาจใช้โลชั่นที่เข้าสเตียรอยด์ (steroid scalp lotion) ทาวันละ 1-2 ครั้ง
3 สำหรับรอยโรคที่เล็บหรือรอยปื้นหนาที่ผิวหนังที่ดื้อต่อยาทา อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ เช่น   ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ เข้าไปในรอยโรค
4 สำหรับอาการข้ออักเสบ ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
5 ในรายที่เป็นรุนแรง หรือดื้อต่อยารักษา อาจต้องใช้ยาชนิดกิน เช่นยาซอลาเรน (psolaren) ร่วมกับการฉายแสง อัลตราไวโอเล็ต ชนิดเอ การให้กินยากลุ่มเรตินอยด์ เมทโทรเทรกเซต ( methotrexate) หรือ ไซโคลสปอร์รีน (cyclosporine) วิธีการรักษาเหล่านี้ควรให้แพทย์ทางโรคผิวหนังเป็นผู้ดูแลอย่าง ใกล้ชิด

ข้อแนะนำ
1 โรคนี้มักมีอาการเป็นๆหายๆ เรื้อรัง โดยมีบางช่วงที่อาจหายดีเหมือนปกติ แต่สักพักอาการก็กลับกำเริบมาใหม่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาวะความเครียดทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใด คนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรเปลี่ยนหมอหรือโรงพยาบาลบ่อย
2 โรคนี้แม้จะเป็นแบบเรื้อรัง แต่มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แม้จะมีรอยโรคแลดูน่าเกลียดแต่ก็ไม่ได้ เป็นโรค ติดต่อ บางคนเรียกโรคนี้ว่าโรคเรื้อนกวาง (ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อน) สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ  ไม่ได้เป็นโรคร้ายอะไร ควรอธิบายให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดทั่วไปเข้าใจ.ด้วย จะได้ช่วยกันให้การดูแล กำลังใจแก่ ผู้ป่วย
3 ผู้ป่วยในแต่ละรายอาจมีอาการรุนแรงที่แตกต่างกันไป บางรายอาจมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไป แต่ใน บางรายอาจทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปถ้าเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อย ก็จะมีโอกาสเกิด ความรุนแรงมากขึ้น
4 โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายแบบ และอาจคล้ายกับโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เช่น กลาก / โรคเชื้อราแคนดิดา / ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ / ผื่นพีอาร์ / รังแค เป็นต้น ดังนั้นถ้าให้การดูแลรักษาอาการข้างต้นไม่ได้ผลควรนึกถึง โรคโซริอาซิสด้วย
5  เพื่อป้องกันมิให้โรคกำเริบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
•    หลีกเลี่ยงการกินยาหม้อที่มีสารหนู (อาจช่วยให้อาการทุเลาบ้าง แต่ถ้ากินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เป็น  
มะเร็งได้)  เลี่ยงการซื้อบยาชุด ยาสมุนไพร ยาลูกกลอนมากินเอง เพราะอาจแพ้ยา ทำให้เกิดอาการกำเริบได้
หรือยาสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาลูกกลอน แม้ว่าในระยะแรกอาจช่วยให้โรคทุเลา แต่เมื่อหยุดยาก็อาจทำให้ โรคกำเริบรุนแรงได้
•    ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามอย่าอดนอน หรือทำงานตรากตรำงานหนัก
•    พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้เกิด ภาวะเครียด โดยออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ทำงานอดิเรก
•    หลีกเลี่ยงการเกิดรอยขีดข่วนถูกผิวหนัว
•    ควรให้ผิวหนังได้ถูกแดด แต่ไม่ควรให้ถูกแดดนานเกินไป ยกเว้นในรายที่แพ้แดด -