โรคปริทันต์เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่มีภาวะของเหงือกอักเสบเรื้อรังมานาน โดยเริ่มต้นจากคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นบนตัวฟัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก จึงทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก ซึ่งจะมีลักษณะบวมและมีสีแดง (โดยปกติเหงือกจะมีสีชมพูซีด และรัดแน่นรอบตัวฟัน) การอักเสบจะทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับตัวฟัน ทำให้จุลินทรีย์สามารถเข้าไปในร่องเหงือกได้ง่ายขึ้น และทำอันตรายมากขึ้น ร่างกายของเราจะทำการต่อสู้กับเชื้อโรคโดยการส่งเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึงมีลักษณะบวมและแดง ดังนั้น เมื่อโดนแปรงสีฟันหรือมีแรงกดเพียงเบาๆ ก็สามารถทำให้เลือดออกได้

สาเหตุ
เหงือกอักเสบระยะแรกมักเกิดจากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีทุกวัน จนเกิดการสะสมของจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือกและร่องเหงือก 

คราบจุลินทรีย์ คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ไม่สามารถกำจัดออกโดยการบ้วนน้ำ กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นจากกการแปรงฟันแล้ว 2 – 3 นาที โดยมีเมือกเหนียวๆ ของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน   จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่ประจำในช่องปากจะมาเกาะและเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ และเชื้อโรคจะเพิ่มความรุนแรงของโรคมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ นานเข้าจุลินทรีย์จะจับหนาและแข็งตัวจนเปลี่ยนเป็นหินปูน และอาการของโรคก็หนักมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการทำลายของเนื้อเยื่อรอบๆ ตัวฟัน

เมื่อเหงือกบริเวณรอบตัวฟันไม่รัดแน่น ร่องเหงือกก็จะลึกมากขึ้น เรียกว่า เกิดร่องลึกปริทันต์ และลักษณะของเหงือกจะบวมมากขึ้น และมีสีแดงคล้ำหรือสีแดงอมม่วง การรักษาในระยะนี้ควรรีบมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยการขูดหินปูนร่วมกับการเกลารากฟัน ถ้าปล่อยไว้จนอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟันไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของรากฟัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียฟันซี่นั้นไปได้

เมื่อมีการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟัน ร่องลึกปริทันต์ก็จะลึกมากขึ้นไปทางปลายรากฟัน การสะสมของตัวเชื้อโรคในร่องลึกปริทันต์ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื้อโรคพวกนี้อาจทำให้เกิดหนองในร่องลึกปริทันต์ ทำให้เกิดกลิ่นปาก โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนน้ำลายจะออกน้อย ทำให้ปากค่อนข้าแห้ง

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

หากมีอาการของโรคเกิดขึ้นแล้ว เช่น มีเลือดออกจากเหงือก เหงือกบวม มีหนองไหลซึมออกจากขอบเหงือก ฟันโยกและเจ็บ การขูดหินปูนอย่างเดียวร่วมกับการแปรงฟันให้สะอาด อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้โรคหายได้ การรักษาอาจยุ่งยากมากขึ้น เช่น ต้องเกลารากฟัน หรืออาจต้องผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี แล้วแต่ความแรงของโรค   อย่างไรก็ตาม การรักษาแม้เสร็จสิ้นเรียบร้อยจนหายเรียบร้อยแล้ว หากมีการดูแลความสะอาดในช่องปากไม่ดีเกิดขึ้นอีก  โรคก็อาจกลับและรุนแรงหนักขึ้น จนอาจต้องถอนฟันทิ้งก็ได้

วิธีการป้องกัน

1. ควรแปรงฟันอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ในแต่ละวัน เพื่อขจัดหรือลดคราบจุลินทรีย์
2. พบหมอตรวจช่องปากทุก 6 เดือน
3. หากมีอาการหนัก ควรพบหมอฟันที่ชำนาญเฉพาะทาง คือ ทันตแพทย์โรคปริทันต์ จะช่วยให้โรคไม่ลุกลามมาก