ไส้ติ่ง เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มีลักษณะเป็น ถุงคล้ายนิ้วมือ อยู่ส่วนล่างด้านขวาของช่องท้อง  ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคปวดท้องแบบเฉียบพลันที่พบมากที่สุด ซึ่งมักจะพบมากในช่วงอายุ 15-45 ปี ทั้งชายและหญิง

สาเหตุ
เกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง ซึ่งอาจเกิดได้จาก อาหารอะไรก็ได้ที่ตกลงไป ไม่จำเป็นต้องเป็น เม็ดฝรั่งแบบที่คนโบราณบอก ( แต่เม็ดฝรั่งก็มีส่วนถูกนะ) หรือจะเกิดจากมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น หรืออาจเกิดจากพยาธิหล่นลงไปอุด มีเนื้องอกแถวนั้นโตไปอุด จะอะไรไปอุดก็ตาม เมื่อเกิดการอุดรูของไส้ติ่ง ของเหลว สารคัดหลั่งจะไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ทำให้เกิดอักเสบ มีการติดเชื้อเกิดขึ้น

 
อาการ
1. ไส้ติ่งอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute Appendicitis) อาการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรอบๆ สะดือและกระจายไปทั่วท้อง อาจปวดชั่วครู่หรือเป็นชั่วโมงก็ได้ อาจมีไข้หรือไม่มี ถ้าไข้สูง จะบอกถึงความรุนแรงของโรค อาการปวดท้องจะย้ายไปปวดท้องด้านขวาและกดเจ็บ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรับประทานอาหารไม่ได้
2. มีอาการปวดท้องมาก เริ่มแรกอาจปวดเป็นพักๆรอบสะดือ คล้ายโรคกระเพาะ หรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ อาการปวดท้องถึงแม้รับประทานยาแก้ปวดก็ไม่หายเพียงแต่ทุเลาชั่วคราว อีก 3-4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา ต้องนอนนิ่งๆ การเคลื่อนไหวตัวจะทำให้ปวดมาก บางรายต้องนอนตะแคง งอขา หรือเดินตัวงอจึงรู้สึกสบาย
3. ระยะเวลาปวดอาจเป็นชั่วโมงถึงหลายวัน บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยด้านขวา โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนก็ได้

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น
 
 

การรักษา
ไส้ติ่งอักเสบอย่างเฉียบพลัน จะต้องทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน โดยตัดไส้ติ่งออก แต่ถ้าไส้ติ่งแตกและมีก้อนฝีหนองขังจะต้องใส่สายยาง เพื่อระบายหนองออก
ปัจจุบันแนวโน้มของการผ่าตัดพยายามลดความเจ็บปวด หรือ ความรุนแรงของการผ่าตัดลง  ดังคำว่า Minimal Invasive Surgery ซึ่งก็คือ การผ่าตัดด้วยกล้อง สำหรับในช่องท้องการผ่าตัดด้วยกล้อง ที่เรียกว่า Laparoscopic Surgery  คือการผ่าตัดอย่างหนึ่ง ที่สอดกล้องเข้าไปในท้อง เพื่อสำรวจช่องท้อง และ ใช้เครื่องมือพิเศษ ไส้ติ่งอักเสบ   สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องได้    หลังจากดมยาสลบ ศัลยแพทย์จะใช้กล้องเข้าทางแผลเล็กๆ ใต้สะดือ และ แผลเล็กๆ ประมาณ 5mm อีก 2 แผล ในบริเวณใต้ร่มผ้า เพื่อปกปิดรอยแผลผ่าตัด การผ่าตัดภายใน จริงๆแล้วก็ไม่ได้ต่างจากการผ่าตัดแบบปกติ คือมีการตัดเส้นเลือดที่เลี้ยงไส้ติ่ง รวมทั้งตัดไส้ติ่งออก ใส่ถุงปราศจากเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่ผิวหนัง ก่อนนำไส้ติ่งออกมานอกร่างกาย ข้อดีของการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยกล้อง คือ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ถึงแม้ระยะเวลาในการนอน รพ. อาจไม่ต่างกับการผ่าปกติมากนัก แต่การฟื้นตัวจะเร็วกว่า ปวดแผลน้อยกว่า สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า

การผ่าตัดด้วยกล้องก็มีข้อจำกัดบ้าง คือ ในกรณีถ้าไส้ติ่งมีการอักเสบที่รุนแรง หรือ มีการติดกันของเนื้อเยื่อข้างเคียง การส่องกล้องผ่าตัด อาจไม่สามารถทำได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา

ในต่างประเทศ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยกล้อง ถือเป็นการผ่าตัดที่ทำกันเป็นมาตรฐาน แต่ในประเทศไทยนั้น จะสามารถทำการผ่าตัดแบบนี้ได้ เฉพาะในโรงพยาบาลชั้นนำบางแห่งเท่านั้น เพราะต้องมีเครื่องมือพิเศษ อีกทั้งศัลยแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัดให้ จะต้องมีความชำนาญ และได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำผ่าตัดแบบนี้ จึงสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องบ้าง แต่นั่นก็นำมาซึ่งผลที่น่าพอใจ ทั้งในเรื่องของความสวยงามของแผลผ่าตัด การลดความเจ็บปวดและลดระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัด

อาการแทรกซ้อน
ไส้ติ่งอักเสบหากไม่ได้รับการรักษาทันที จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นคือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไส้ติ่งแตกเป็นก้อนฝีหนอง
ข้อควรสังเกต

หากสงสัยว่ามีอาการไส้ติ่งอักเสบ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัด การปล่อยไว้หลายวันจนไส้ติ่งแตก ทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษา
ถ้าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ห้ามสวนอุจจาระหรือใช้ยาระบาย เพราะจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
อาการปวดท้องเหนือบริเวณสะดือ คล้ายโรคกระเพาะ ถ้ารับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจเป็นระยะแรกของไส้ติ่งอักเสบได้


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

เมื่อรู้สึกตัวหลังผ่าตัด ให้เริ่มขยับพลิกตะแคงตัวบนเตียงได้ วันต่อมาจึงค่อยๆลุกนั่งบนเตียง ถ้าไม่มีอาการเวียนศีรษะ ให้ลองยืนที่เตียง และเดินรอบๆเตียงตามลำดับเพื่อให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ทำงานได้ดี ป้องกันอาการท้องอืดแน่นท้อง ซึ่งจะมีผลต่อแผลผ่าตัด ทำให้แผลเจ็บตึงและแผลติดช้าได้
หายใจเข้าออกลึกๆยาวๆเป็นพักๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และป้องกันภาวะแทรกซ้อนของปอด
ไอให้ถูกวิธี เพื่อช่วยให้ปอดขยายตัวเต็มที่ โดยหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นไว้ 1-2 วินาที พร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างประคองแผลไว้แล้วจึงไอออกมา
เมื่อแพทย์ตรวจดูแล้วพบว่ากระเพาะอาหารและลำไส้เริ่มทำงาน แพทย์จะอนุญาตให้เริ่มจิบน้ำได้ หลังจากนั้นถ้าไม่มีอาการท้องอืด แน่นท้อง แพทย์จะให้เริ่มรับประทานอาหารอ่อนต่อไป
ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น จิบน้ำบ่อยๆเพื่อละลายเสมหะในคอที่เกิดจากการดมยาสลบในห้องผ่าตัด และช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติ
ประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาตัดไหม ในรายที่ยังไม่ได้เย็บแผลจำเป็นต้องทำแผลทุกวัน ระหว่างที่ยังไม่ได้ตัดไหมให้ระมัดระวังอย่าให้แผลเปียกน้ำ จะทำให้แผลอักเสบเกิดติดเชื้อได้ง่ายในระยะ 1-2 เดือนแรก หลังผ่าตัดอาจมีอาการเจ็บเสียวที่แผลเป็นครั้งคราวแล้วหายไปเองได้ ไม่ถือเป็นอาการผิดปกติ
การทำงานและการออกกำลังกาย งดการทำงานหนัก เช่นการยกของหนัก หิ้วน้ำ โดยเฉพาะในระยะ 1-1   เดือนครึ่ง หลังการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติที่ต้องมาโรงพยาบาลคือ มีไข้ ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องเป็นพักๆ แผลผ่าตัดอักเสบบวมแดง มีหนอง หรือแผลผ่าตัดเป็นรอยแยก